×

ไปรษณีย์ไทย ย้ำมีมาตรการป้องกันการลักลอบขนส่งยาเสพติด เตือนผู้ใช้บริการระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

22.07.2019
  • LOADING...

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ย้ำมีมาตรการป้องกันการลักลอบขนส่งยาเสพติดตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในการป้องกันการลักลอบฝากส่งยาเสพติดผ่านเส้นทางไปรษณีย์อย่างเคร่งครัด พร้อมเตือนผู้ใช้บริการระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยอย่าให้ผู้อื่นยืมบัตรประชาชนไปฝากส่งสิ่งของเด็ดขาด 

 

วันนี้ (22 ก.ค.) กำพุธ อยู่คง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ด้านระบบบริการ) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผยว่า ไปรษณีย์ไทยได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการลักลอบฝากส่งยาเสพติดตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างเข้มงวด มั่นใจในกระบวนการป้องกันที่นำมาใช้ตั้งแต่การรับฝากไปจนถึงการนำจ่าย มีการตรวจสอบสิ่งของ ณ จุดหุ้มห่อ 

 

โดยเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธการรับฝากหากพบความผิดปกติ พร้อมกันนี้ยังเข้มงวดต่อมาตรการ ‘ต้องแสดงบัตรประชาชนเมื่อใช้บริการที่ไปรษณีย์ไทย’ ทุกครั้ง หากผู้ใช้บริการไม่นำบัตรประชาชนมาแสดงขณะใช้บริการ เจ้าหน้าที่รับฝากจะปฏิเสธการให้บริการรับฝากส่งได้

 

“เครื่องอ่านบัตรประชาชนอัตโนมัติที่ไปรษณีย์ไทยสามารถเก็บและบันทึกข้อมูลผู้ฝากส่งไว้ทั้งหมด ทำให้สามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลตั้งต้นสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยที่จะสืบหาเบาะแสของผู้กระทำผิดได้ นอกจากนี้มีกล้องวงจรปิด ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ สามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการตรวจสอบติดตามหาผู้กระทำผิดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว จึงขอเตือนอย่าใช้เส้นทางไปรษณีย์ในการส่งของผิดกฎหมาย เพราะไปรษณีย์ไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิดเพื่อสืบหาตัวผู้กระทำความผิดดำเนินคดีตามกฎหมาย”

 

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย ได้เน้นย้ำถึงมาตรการสิ่งของห้ามฝากส่ง ได้แก่ สิ่งของต้องห้ามฝากส่งทางไปรษณีย์ 7 ประเภท ได้แก่ 

 

  1. สัตว์มีชีวิต 
  2. สิ่งเสพติด 
  3. สิ่งลามกอนาจาร 
  4. วัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ 
  5. วัตถุมีคมที่ไม่มีเครื่องหุ้มห่อป้องกัน 
  6. ธนบัตร 
  7. สิ่งของปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบโดยละเมิดลิขสิทธิ์

 

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ THP Contact Center 1545 หรือเว็บไซต์ www.thailandpost.co.th

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising