×

มองโจทย์การเมืองไทยในวันที่ไร้สมการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

26.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ผศ. วันวิชิต บุญโปร่ง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า เมื่อยิ่งลักษณ์เลือกทาง ‘หนี’ นั่นเท่ากับว่า ‘มูลค่า’ ทางการเมืองที่เคยสั่งสมมากำลังจะถูกลดทอนลงตามพื้นที่ข่าวที่หายไป
  • ใบตองแห้ง วิเคราะห์ว่าการ ‘หลบหน้า’ ไปจากการเมืองไทยในเวลานี้ของยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ลดทอนความนิยมที่เคยมีต่อมวลชนแต่อย่างใด แต่เป็นการพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้กุมอำนาจในปัจจุบัน เพราะการชนแบบตรงๆ อาจ ‘ได้’ ไม่คุ้ม ‘เสีย’
  • เมื่อการเมืองไทยขาดตัวละครสำคัญนามสกุลชินวัตรไปอีกคน ทั้งใบตองแห้ง และ ผศ. วันวิชิต ต่างมองว่า หลังจากนี้รัฐบาล คสช. จะสามารถบริหารประเทศได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น แต่หากมองอีกมุม เท่ากับว่านับจากนี้รัฐบาลจะไม่สามารถกล่าวโทษกลุ่มอำนาจเก่าขั้วตรงข้ามได้อีกต่อไป

     ถึงนาทีนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เลือกที่จะไม่เผชิญหน้าต่อสู้ในคดีจำนำข้าว ผิดกับที่เคยลั่นวาจาไว้ว่า “จะไม่หนีไปไหน ถ้าหนีคงไปแต่แรกแล้ว”

     แม้จะยังไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่หลายคนฟันธงไปแล้วว่า ยิ่งลักษณ์กำลังเลือกเดินตามรอยพี่ชาย ทักษิณ ชินวัตร หลบหายไปจากหน้าฉากการเมืองไทย และลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเป็นการถาวร

     นอกจากคำถามหนาหูที่ว่า ‘ยิ่งลักษณ์หายไปไหน?’ ยังมีคำถามชวนคิดถึงอนาคตการเมืองไทยในวันที่ตระกูลชินวัตรถูกถอดออกจากสมการแห่งอำนาจ จะมีทิศทางต่อไปอย่างไร

     THE STANDARD ชวน อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์การเมือง และ ผศ. วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มาร่วมวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโฉมหน้าการเมืองไทยนับจากนี้

 

ยิ่งลักษณ์ ‘อยู่’ หรือ ‘ไป’ ความต่างของพลังทางการเมือง

     แม้ที่ผ่านมา คสช. จะคุมเข้มการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักการเมืองต่างๆ และยังไม่ ‘ปลดล็อก’ ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวเล็กๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยถูกจับตามองจากสังคมมาโดยตลอด สังเกตจากพื้นที่ข่าวที่ปรากฏภาพยิ่งลักษณ์เดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง แม้จะเป็นการเดินสายทำบุญและพบปะประชาชนแบบประปราย แต่ในทางการเมืองแล้ว ภาพเหล่านี้มี ‘มูลค่า’ ในแง่ของความนิยม

     ผศ. วันวิชิตมองว่า เมื่อยิ่งลักษณ์เลือกทาง ‘หนี’ นั่นเท่ากับว่า ‘มูลค่า’ ที่เคยสั่งสมมากำลังจะถูกลดทอนลงตามพื้นที่ข่าวที่หายไป

     “ภาพกิจกรรมของคุณยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมา ทุกสัปดาห์จะต้องเป็นข่าว เช่น ถ่ายภาพกับชาวบ้าน ซื้อของ หรือทำบุญ ซึ่งหลังจากนี้พื้นที่ข่าวจะหายไป และเชื่อว่าต่อจากนี้คุณยิ่งลักษณ์จะต้องเก็บตัวเงียบชั่วคราว เพราะถึงตอนนี้เริ่มมีการตั้งคำถามจากฝ่ายเดียวกัน โดยเฉพาะแฟนคลับที่มาให้กำลังใจถึงทางเลือกของคุณยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อความรู้สึกของกองเชียร์ค่อนข้างมาก

     “ยิ่งก่อนหน้านี้เธอเคยปวารณาตนว่าจะขอสู้จนวินาทีสุดท้าย และจะขึ้นศาล ซึ่งต่างจากคุณทักษิณที่ไม่เคยแสดงตัวในเรื่องนี้ นั่นเท่ากับว่าคำพูดของเธอกำลังมัดตัวเอง เป็นการพิพากษาตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเป็นอย่างนั้น เท่ากับว่าทุกอย่างที่ก่อร่างและสั่งสมมาโดยตลอดก่อนหน้านี้กำลังถูกลดคุณค่าในตัวมันเอง

     “เมื่อคุณยิ่งลักษณ์เลือกที่จะพิพากษาตัวเองในการเดินตามรอยพี่ชาย เท่ากับว่าตอนนี้มีชนัก 2 อันของการหนีคดีความ ซึ่งตรงนี้ฝ่ายตรงข้ามหรือคนที่อยู่ตรงกลางจะเริ่มไม่ยอมรับมากขึ้น”

     นอกจากนี้ ผศ. วันวิชิตยังมองว่า ก่อนหน้านี้ ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยเคยทำหน้าที่เป็นเหมือนธงนำ ซึ่งดึงเอาแนวร่วมของกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในแง่ของการต่อสู้กับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังจากนี้กลุ่มก้อนความคิดนี้จะไร้ธงนำอีกต่อไป

     “การไม่อยู่ของคุณยิ่งลักษณ์จะทำให้การต่อสู้ที่เคยอ้างอิงกับคุณยิ่งลักษณ์ลดทอนพลังลงไป พูดง่ายๆ ว่าข้ออ้างในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันลดลง เหมือนที่คุณทักษิณเคยโดนคดี ทำให้มีชนักติดตัว แต่หากคุณยิ่งลักษณ์อยู่เพื่อต่อสู้คดี แน่นอนว่าคุณค่าในตัวเธอจะมีมูลค่าในการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง เพราะคนภายนอกที่สนับสนุนเป็นเครือข่ายของเธอจะนำประเด็นนี้ไปต่อยอดว่า คุณยิ่งลักษณ์เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระบอบการเมืองที่ไม่ปกติ แม้เธอจะต่อสู้จนติดคุก และอาจจะไม่มีสิทธิ์ลงเลือกตั้ง แต่องคาพยพที่เหลืออยู่ข้างหลังสามารถใช้ประเด็นนี้ต่อสู้เรียกร้องในการเลือกตั้งได้สบายๆ”

 

ชินวัตรเพลี่ยงพล้ำ หรือแค่หลบเลี่ยงการเผชิญหน้า

     มองต่างมุมจากใบตองแห้ง ที่วิเคราะห์ว่าการ ‘หลบหน้า’ ไปจากการเมืองไทยในเวลานี้ของยิ่งลักษณ์ไม่ได้ลดทอนความนิยมที่เคยมีต่อมวลชนแต่อย่างใด

     “ในมุมหนึ่ง เหมือนตระกูลชินวัตร และพรรคเพื่อไทยกำลังเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง แต่ในแง่ของมวลชนเอง เขาก็ไม่ได้รู้สึกผิดหวังอะไรขนาดนั้น เพราะถ้าคำตัดสินออกมาว่าคุณยิ่งลักษณ์ผิด ติดคุก มวลชนอาจจะคิดว่าให้ไปเสียดีกว่า ดังนั้นในแง่ความผูกพันระหว่างเขากับมวลชนมันไม่ได้เสียหายอะไร อาจจะมีคนกลางๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่ในความเป็นจริงคงไม่มีใครคิดว่า ถ้าคุณยิ่งลักษณ์อยู่ยอมรับคำตัดสินแล้วจะเป็นชนวนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหมือนกรณีของ ออง ซาน ซูจี หรือ เนลสัน แมนเดลา มันคงเป็นไปไม่ได้ และคงไม่ถูกที่จะไปเรียกร้องกับคุณยิ่งลักษณ์แบบนั้น เพราะเขาก็แค่เป็นเขา

     “อีกมุมก็คือมันคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในสังคม คนที่เกลียดชังก็ยังคงเกลียดชัง คนที่สะใจก็คงสะใจ คนที่เสียใจก็เสียใจ มันก็คนกลุ่มเดิมๆ ไม่ว่าจะหนี ไม่ว่าจะติดคุก”

     อธึกกิตมองข้ามช็อตไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมองว่าทางเลือกของยิ่งลักษณ์ที่ตามรอยพี่ชายคือความพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้กุมอำนาจในปัจจุบัน เพราะการชนแบบตรงๆ อาจ ‘ได้’ ไม่คุ้ม ‘เสีย’

     “มองในระยะยาว ผมคิดว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นลักษณะที่ตระกูลชินวัตรพยายามจะถอยตัวเองออกจากการเมือง สมมติมีการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วคุณยิ่งลักษณ์อยู่ อุณหภูมิการเมืองตอนเลือกตั้งคงจะเดือด เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นจุดรวมศูนย์ของคนที่ต่อสู้กับ คสช. ดังนั้นนี่อาจเป็นความพยายามในการหลบเลี่ยงการเผชิญหน้า

     “ถ้าเราคิดภาพว่าคุณยิ่งลักษณ์ไป แล้วพรรคเพื่อไทยเอาคุณหญิงสุดารัตน์มาเป็นหัวหน้าพรรค มันจะเกิดการยอมถอยไปโดยธรรมชาติ ส่วนอำนาจที่ปกครองประเทศต่อจากนี้ก็จะอยู่ไปได้ยาวหน่อย ผมคิดว่ามันเป็นการประนีประนอมกันส่วนหนึ่ง ในเมื่อเขาคิดทางเลือกแบบนี้แล้ว มันก็น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับเขา ถ้าคุณยิ่งลักษณ์อยู่แล้วต้องไปชนกันในการเลือกตั้ง เขาอาจจะคิดว่าได้ไม่คุ้มเสีย เราต้องคิดในแง่ที่ว่าคุณทักษิณเป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักประชาธิปไตย ถ้ามองมุมนี้ก็จะเข้าใจทางเลือกนี้มากขึ้น”

 

อนาคตพรรคเพื่อไทยในวันไร้เงาชินวัตร

     คงต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา การมีอยู่ของพรรคเพื่อไทยเป็นการมีอยู่แบบยึดโยงกับตัวบุคคลค่อนข้างมาก สโลแกนหาเสียง ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ คือหนึ่งในหลักฐานที่สะท้อนเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อขาดผู้สืบทอดอำนาจที่มาจากตระกูลชินวัตร นับจากนี้โฉมหน้าของพรรคเพื่อไทยอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

     อธึกกิตมองว่า เรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดคือภาพลักษณ์ที่ยึดโยงกับทักษิณ

     “ในแง่อนาคตทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ผมมองว่าพลังทางการเมืองก็จะลดลงไปหน่อย เชื่อว่าเขาจะถอยตัวเองออกไปจากการเป็นธงนำในการต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันพรรคก็ต้องพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณมากนัก ซึ่งผมคิดว่าเขาคงไม่เปลี่ยนเป็นพรรคประชาธิปไตย แล้วเอาคุณจาตุรนต์มาเป็นหัวหน้าพรรค ก็คงจะเป็นคุณหญิงสุดารัตน์นั่นแหละ เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยก็จะอยู่ในสภาพที่ประนีประนอมค่อนข้างมาก ไม่ดวลให้ตัวเองเจ็บมากนัก และรอจังหวะยาวๆ ในอนาคต”

     ด้านผศ. วันวิชิตมองว่า การไม่อยู่ของยิ่งลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของตระกูลชินวัตร อาจส่งผลให้พรรคเพื่อไทยถึงขั้นแตกตัวกลายไปเป็นพรรคการเมืองใหม่จากกลุ่มก้อนที่ไม่อาจผสานเป็นเนื้อเดียวกันได้

     “อย่าลืมว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่รวมตัวกันได้เพราะเชื่อมั่นในบุคคลตระกูลชินวัตร และพลังทุนในการสนับสนุน นโยบายที่ใช้หาเสียงตั้งแต่พรรคไทยรักไทยในปี 2554 จนถึงพรรคเพื่อไทย ล้วนมาจากแนวคิดของคุณทักษิณ แต่เมื่อตัวบุคคลเปลี่ยนไป ยุทธศาสตร์ของพรรคก็ต้องเปลี่ยน เพราะแกนนำแต่ละก๊วน แต่ละกลุ่ม อย่างเช่น กลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์ กลุ่มคุณเฉลิม กลุ่มคุณภูมิธรรม แต่เดิมก็ไม่ได้กลมเกลียวกันอยู่แล้ว เมื่อคุณยิ่งลักษณ์ไม่อยู่ เท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ให้ก๊วนทางการเมืองไปแสวงหาพันธมิตรใหม่ หรืออาจจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาด้วยซ้ำ เพียงแต่ตอนนี้ยังเคลื่อนไหวไม่ได้จนกว่า คสช. จะอนุญาตเท่านั้นเอง”

 

เสี้ยนหนามทางการเมืองที่หมดไปกลับกลายเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของ คสช.

     เมื่อการเมืองไทยขาดตัวละครสำคัญนามสกุลชินวัตรไปอีกคน ทั้งอธึกกิต และผศ. วันวิชิต ต่างมองว่า หลังจากนี้รัฐบาล คสช. จะสามารถบริหารประเทศได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น แต่หากมองอีกมุม เท่ากับว่านับจากนี้รัฐบาลจะไม่สามารถกล่าวโทษกลุ่มอำนาจเก่าขั้วตรงข้ามได้อีกต่อไป

     ใบตองแห้งอธิบายว่า “ความเป็นจริงพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่เสี้ยนหนามตัวสำคัญเท่าไร แค่เป็นเป้าสำหรับคนที่เกลียดชังมากกว่า แต่กระแสที่ไม่ค่อยพอใจ คสช. ต่อให้ไม่มียิ่งลักษณ์แล้ว กระแสนั้นก็ยังอยู่ ดังนั้นต้องดูต่อไปว่าการเมืองในระยะยาว ผู้มีอำนาจจะจัดการกับสังคมที่เหลืออยู่อย่างไรโดยไม่มีสมการยิ่งลักษณ์-ทักษิณในโจทย์การเมืองอีกต่อไป ต้องวัดกันว่าจะอยู่อย่างไรกับยุทธศาสตร์ชาติ การมี ส.ว. แต่งตั้ง และนายกฯ คนนอก

     “โดยเฉพาะกับคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย คุณจะอยู่แบบนี้ มันจะเป็นไปได้หรือ แล้วไหนจะปัญหาเศรษฐกิจอีก ก็ต้องรับหน้ากันต่อไป เพราะตอนนี้พรรคการเมืองที่เป็นธงนำในการต่อสู้กับ คสช. ได้หายไปแล้ว หลังจากนี้จะเป็นของจริงแล้วว่ามันเป็นความรับผิดชอบในการบริหารประเทศของคุณเอง”

     ด้านผศ. วันวิชิตคิดว่า การหายไปของยิ่งลักษณ์จากเกมกระดานทางการเมือง ถือเป็นการเปิดทางให้รัฐบาล คสช. บริหารบ้านเมืองได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เพราะบทบาทของปฏิปักษ์อย่างพรรคเพื่อไทยจะลดน้อยลง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีโจทย์ข้อใหญ่รออยู่

     “ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากนี้คงจะนิ่งไปสักพัก ทำให้ คสช. บริหารบ้านเมืองได้อย่างสะดวกคล่องตัวมากขึ้น แต่การเคลื่อนไหวจะไปปรากฏในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ในการสัประยุทธ์ ซึ่งตรงนี้ คสช. จะต้องเข้าไปควบคุมดูแล ซึ่งอาจจะไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน

     “ที่สำคัญคือหลังจากนี้ คสช. จะไม่มีสิทธิ์มาอ้างว่าบรรยากาศการเมืองวุ่นวายเพราะฝ่ายขั้วการเมืองเก่ามาก่อกวนอีกต่อไปแล้ว ต่อจากนี้คุณต้องทดสอบความสามารถที่แท้จริงของตัวเอง ประเด็นต่อไปคือเมื่อการเมืองสงบ คนก็จะเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าเมื่อไรจะเกิดการเลือกตั้ง คงต้องดูว่า คสช. จะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างไร”

     หากการเมืองไทยเป็นเหมือนหนังสักเรื่อง เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่น่าจะอยากกดปุ่ม fast forward เพื่อจะได้รีบดูตอนจบไวๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปนับจากนี้ น่าเสียดายที่ในชีวิตจริงไม่มีปุ่มที่ว่า ดังนั้นไม่ว่ายิ่งลักษณ์จะอยู่หรือไป คนไทยก็ยังต้องเฝ้าดูหนังเรื่องนี้ต่อไปด้วยใจระทึก ถ้าไม่มีใครลุกหนีไปไหนเสียก่อน

 

Photo: Jewel SAMAD, LILIAN SUWANRUMPHA/AFP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising