×

สว. เทวฤทธิ์ เสนอวุฒิสภาชะลอแต่งตั้งตำแหน่งในองค์กรอิสระ เหตุอยู่ระหว่างตรวจสอบคดีฮั้ว

โดย THE STANDARD TEAM
22.05.2025
  • LOADING...
thai-politics-independent-org

วันนี้ (22 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) พร้อมด้วย มณีรัฐ เขมะวงศ์ สว. แถลงข่าวถึงการยื่นญัตติชะลอการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.),กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด และการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง 

 

ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาจะมีการพิจารณาในการประชุม สมัยวิสามัญในวันที่ 29-30 พฤษภาคมนี้ โดยได้ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อเสนอประธานวุฒิสภาตามขั้นตอนแล้ว จนกว่าจะมีคำตัดสินในคดีฮั้ว สว. ที่มี สว. ถูกร้องจำนวนมาก จึงหวังว่าประธานวุฒิสภาจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม

 

เทวฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับผู้ถูกร้องยังถือว่าสถานะบริสุทธิ์อยู่โดยเฉพาะ สว. ส่วนใหญ่ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ท่าน กระบวนการก็ต้องมีความเป็นธรรม ตนเองเป็นคนหนึ่งที่เคยมีส่วนร่วมอภิปรายในกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้ามาตรวจสอบ ขบวนการได้มาซึ่ง สว. และเห็นว่ามีข้อกังวลพอสมควร 

 

“เนื่องจากตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ได้ออกแบบกระบวนการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระ แปลว่าเรามีหลักมูลฐานว่า ต้องใช้องค์กรอิสระที่ไม่อยู่ฝั่งฝ่ายใด เป็นตัวกลางในการจัดการเลือกตั้ง แม้ที่ผ่านมาประชาชนจะมีข้อสงสัย แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุยกเว้นให้ใช้องค์กรอื่นมามีบทบาทนำในการตรวจสอบ แต่หากเป็นบทบาทเสริมก็สามารถทำได้”

 

เทวฤทธิ์ระบุว่า สว. ส่วนใหญ่ที่ตั้งคำถามถึงบทบาทนี้ จึงไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช. แต่ในขณะเดียวกัน แม้ สว. จะยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็ยังเป็นผู้ตัดสินบุคคลที่จะเข้ามาเป็นองค์กรอิสระ ทำให้ถือเป็นคู่กรณี ดังนั้น เมื่อเป็นคู่กรณีกันแล้ว จึงคิดว่าเบื้องต้น ควรต้องชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรเหล่านั้นเพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักความเป็นธรรมและอิสระ ดังที่ สว. กลุ่มนั้นได้เรียกร้องให้กับองค์กรต่างๆ รวมถึงหลักการไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์

 

“ด่านแรกคือประธานวุฒิสภาเอง หวังว่าท่านจะบรรจุญัตตินี้เข้าสู่ระเบียบวาระ และหวังว่า สว. ท่านอื่นที่มีประเด็นอยู่ ย่อมจะไม่ใช้อำนาจในช่วงเวลานี้ เพื่อทดสอบความเป็นธรรมในจิตใจของตนเอง” เทวฤทธิ์กล่าว

 

สำหรับกรณี นันทนา นันทวโรภาส สว. ที่เตรียมรวมรายชื่อ สว. 20 คน ส่งประธานวุฒิสภาเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ สว. ที่ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวนั้น เทวฤทธิ์กล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ เพราะต้องรวมให้ครบ ส่วนตัวเห็นว่า จริงอยู่ว่ามาตรา 82 อาจให้บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการยับยั้งหรือสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างมีการสอบสวน แต่บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สมดุลกับระบอบประชาธิปไตย เพราะควรจะเป็นเพียงแค่การวินิจฉัยข้อกฎหมายต่างๆ แต่ไม่ควรจะมีบทบาทในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

 

นอกจากนี้ เทวฤทธิ์ยังกล่าวว่า วันนี้ครบรอบ 11 ปีของการรัฐประหาร 2557 ซึ่งเริ่มมีกระแสดังแว่วขึ้นมา ด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งแดงและน้ำเงิน ทำให้ประชาชนอาจตั้งคำถามกับทางฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ สว. เอง ว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้ช่องทางอื่น หรือใช้บริการอื่น เช่น การเกิดกระแสคิดถึงลุงตู่ (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งต้องระมัดระวังว่า สิ่งที่ลุงตู่ทำมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คำสั่ง คสช. หรือการออกแบบรัฐธรรมนูญ ก็ยังผลมาสู่ปัญหาของรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติในปัจจุบัน

 

“อย่าไปถวิลหากับระบบอื่น ค่อยๆ ตรวจสอบ และแก้ไขกันไป ที่สำคัญปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ถ้าเราไม่แก้รัฐธรรมนูญ เราก็ไม่สามารถคลี่คลายประเด็นปัญหานี้ได้” เทวฤทธิ์กล่าว

 

ส่วนกรณีที่ สว. ซึ่งถูกข้อกล่าวหานั้น ได้ร้องให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนชุดที่ 26 ซึ่งปิดหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ใส่ซองทึบนั้น เทวฤทธิ์มองว่า โจทย์สำคัญคือผู้ร้ายคนแรกที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ คือ กกต. เพราะใช้เวลานานมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะให้ความชอบธรรมกับการใช้สังคมภายนอกเข้ามากดดันกระบวนการตรวจสอบ เมื่อครั้งตนเองโดนตรวจสอบโดยคณะกรรมการสอบสวนและไต่สวนฯ ก็ใช้วิธีส่งเป็นจดหมาย 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับ 55 สว. ที่ถูกหมายเรียกนั้น ตนเองเห็นว่า มีความไม่เป็นธรรมและไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เขาเองก็มีสิทธิ์จะร้องเรียน และมีสิทธิ์สงสัยในกระบวนการตรวจสอบที่อาจไม่โปร่งใสเป็นธรรมเช่นเดียวกัน เพราะมีการไปปิดป้ายและถ่ายรูปไว้ เสมือนเป็นจำเลยสังคมไปแล้ว ก็คิดว่าไม่เป็นธรรม และ สว. กลุ่มนั้นมีสิทธิ์ที่จะร้องให้ตรวจสอบกระบวนการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ ด้วย

 

เทวฤทธิ์ยังระบุว่า หากประธานวุฒิสภาไม่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ตนเองก็จะเสนอเป็นญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อขอให้วุฒิสภาชะลอการดำเนินการ โดยมั่นใจว่า จะไม่กระทบกับกรอบเวลาการให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม รวมถึงไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของกรรมการองค์กรอิสระ เพราะตามกฎหมายยังสามารถให้รักษาการได้ แต่การเร่งให้ความเห็นชอบจะเกิดผลกระทบร้ายแรงมากกว่า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising