×

ตำรวจไทยมีไว้ทำไม? กับคำตอบจาก ‘อดีต ผบ.ตร.’ ถึงวิกฤตศรัทธาและความหวังจากประชาชน

04.10.2022
  • LOADING...
สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้งใคร ผู้รักษากฎหมายทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ เรื่องชุมนุมต้องใช้ทั้งหลักกฎหมาย หลักความจำเป็น แน่นอนว่าต้องถูกวิจารณ์ทั้งทางบวกและทางลบ
  • ตำรวจไม่ดีนำมาสู่วลี ‘นิ้วเสียที่ต้องตัดทิ้ง’ ทางแก้วันนี้ที่พอจะทำได้คือ ทำให้เกิดน้อยลง แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ไม่เกิดขึ้น

วันนี้ ‘ตำรวจไทย’ ในสายตาคุณเป็นอย่างไร พวกเขายังเป็นผู้รักษากฎหมายและผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อยู่หรือไม่ หรือเป็นเพียงสุนัขรับใช้ ขี้ข้าเผด็จการ ตามที่ถูกโจษจันมาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

คำถามมากมายที่สังคมตั้งขึ้นว่า สุดท้ายตำรวจยืนอยู่ข้างใคร ปกป้องใคร กระทั่งตำรวจที่ดีมีอยู่จริงใช่หรือไม่

 

THE STANDARD ชวนทุกคนมามองต่างมุม และหาคำตอบพร้อมกันในบทสัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเกษียณราชการของ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 12

 

ชมคลิปสัมภาษณ์ :

 

 

สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

 

ชีวิตของตำรวจคือการผจญภัย และการเรียนรู้กับคนทุกรูปแบบ

 

“ไม่เคยอยากเป็น ไม่คิดว่าต้องมาเป็น คุณพ่ออยากให้เป็น” พล.ต.อ. สุวัฒน์ เล่าว่าอาชีพตำรวจไม่เคยอยู่ในความคิด ที่โตมาแล้วจะต้องทำอาชีพนี้ แต่ที่ได้มาเป็นเพราะพ่อตั้งใจอยากให้รับราชการตำรวจ และเมื่อได้เป็นแล้วทำให้ได้รู้ว่าอาชีพนี้คือการผจญภัยที่แท้จริง

 

การทำงานเปรียบเหมือนการเดินทาง ตำรวจได้เจอกับคนบนสุดยันล่างสุด สถานะเศรษฐีหมื่นล้านไปจนถึงคนที่ต้องอุ้มลูกมาโรงพักแล้วแจ้งความว่าลูกตัวเองตาย ที่เขาอุ้มมาหาตำรวจก็เพราะไม่รู้จะไปไหน ถึงแม้จะเจอคนที่หลากหลายกันไป แต่พื้นฐานที่พวกเขาต้องการเหมือนกันคือ ความเป็นธรรม การปกป้องดูแล ไม่ว่าจะรวยขนาดไหนก็แล้วแต่ ทุกคนล้วนมีจุดที่อ่อนแอเสมอ

 

เพราะฉะนั้นความสำเร็จในชีวิตของการเป็นตำรวจคือการที่ได้ทำอะไรสำเร็จ เช่น ทำคดีแล้วจับผู้ร้ายได้ สืบสวนแล้วรู้สาเหตุ ทำงานแล้วได้งาน ความสำเร็จในชีวิตที่ พล.ต.อ. สุวัฒน์ บอกกับเรา ไม่ใช่เรื่องของการได้รับตำแหน่ง

 

แต่แม้วันนี้จะประดับยศพลตำรวจเอก และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. สุวัฒน์ บอกว่าไม่ได้สบายอย่างที่หลายคนคิด “เราคิดว่าเป็นสารวัตรจะสบาย เพราะมีคนเขาบอก พอเป็นสารวัตรก็ทำเหมือนเดิม เราคิดว่าเป็นรองผู้กำกับจะสบาย มันก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนคิดว่า เอาล่ะถ้าเราเป็นนายพลจะไม่ต้องทำอะไรแบบนั้น แต่ก็ยังต้องไปเดินตามแนวชายแดนเหมือนเดิม”

 

สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

 

2 ปีที่ผ่านมาไม่ยากเกินความคาดหมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโดนด่ามาตลอด

 

พล.ต.อ. สุวัฒน์ กล่าวว่า ช่วง 2 ปีมานี้อาจจะมีการชุมนุมมากขึ้น แต่ตำรวจมีวิธีการทำงานอยู่แล้ว เรายึดหลักกฎหมาย ยึดหลักการทำงานเป็นพื้นฐาน ตำรวจอยู่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการยุติธรรม แต่ว่าจะหลักอะไรก็แล้วแต่ วิธีเอามาใช้ก็ปรับไปตามสถานการณ์ 

 

การคาดหวังของพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะ 2 ปีนี้ หรือว่าก่อนหน้านี้ และในอนาคต ก็คาดหวังเหมือนเดิม เว้นแต่ในช่วงที่เกิดปัญหารุนแรง ความคาดหวังก็จะยิ่งสูงขึ้น

 

“เรื่องชุมนุม เราพยายามใช้หลักการในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม มีทั้งถูกวิจารณ์ในทางบวกและทางลบ ผมพยายามพูดเสมอว่าเราใช้ทั้งกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ใช้หลักความจำเป็นให้ได้สัดส่วนหลักของเหตุผลต่างๆ โดยที่คำนึงถึงสิทธิประชาชนด้วย”

 

พล.ต.อ. สุวัฒน์ บอกว่าในส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้จะหนักเท่าไร อาจจะเพราะว่ามีหลายเรื่อง เลยดูเยอะหน่อยเท่านั้น แต่ในความรู้สึกที่อยู่แบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ม็อบอยู่มาตั้งแต่ติดยศพันตำรวจเอก ก็เป็นแบบนี้ มีขึ้นๆ ลงๆ แต่ไม่ได้เหนือความคาดหมายอะไร

 

สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการเปลี่ยนมายด์เซ็ตของลูกน้อง เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างเหนื่อย เพราะต้องพยายามผลักดันวิธีการทำงานแบบเดิมๆ เปลี่ยนใหม่ ยกเขาออกจากคอมฟอร์ตโซนให้เขาไปใช้วิธีการใหม่ๆ ที่ทำมามีทั้งคนที่ไม่เห็นด้วย ต่อต้าน แต่เราก็ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถมากขึ้น

 

สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

 

ผมยังยืนยันว่าเราทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม เพียงแต่โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นในมุมอื่นๆ บ้าง ในความคิดส่วนตัวผมว่าคนต่างเจเนอเรชันต้องมีความแตกต่างเรื่องของทัศนคติ ความเชื่อกันไป

 

“ตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้งของประชาชน ตำรวจจับคน คนถูกจับก็ไม่ได้แฮปปี้ บางคนก็ไปชี้ให้ตำรวจจับคนนู้นคนนี้ ถ้าเราจับให้ไม่ได้ก็ไม่แฮปปี้ มันเป็นเรื่องปกติ 

 

“เราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ผู้รักษากฎหมายทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ สุดท้ายเวลาที่มีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในประเทศ ในบ้านเมือง คนที่อยู่คนสุดท้ายคือตำรวจ 

 

“เราคือคนสุดท้ายที่ต้องเปิดประตูเข้าไปแล้วไปจัดการเรื่องพวกนั้น ถึงแม้ว่ามันต้องตายก็ต้องทำ”

 

สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

 

‘ตำรวจ’ กับ ‘โซเชียล’ กระบวนการแตกต่างที่คาบเกี่ยวบนเรื่องเดียวกัน

 

โซเชียลตรวจสอบเราละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม เรียกว่าตรวจแบบเรียลไทม์ ตำรวจเป็นหน่วยที่ถูกประชาชนตรวจสอบทุกวัน ในมุมลบข้อมูลที่ท่วมท้นมันทำให้แยกไม่ออกว่าอันไหนจริง-ไม่จริง เพราะต้องยอมรับว่าข้อมูลโซเชียลเป็นข้อมูลตามกระแส

 

พล.ต.อ. สุวัฒน์ ยกตัวอย่างคดีความที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ กรณีการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ตกจากเรือ แล้วโดนใบพัดเรือว่า เรื่องนี้คนคิดแตกต่างกันไป

ตำรวจถูกด่ามาตลอด ส่วนตัวมองว่าเป็นการไต่สวนบนโลกโซเชียลที่ไม่มีกติกา ซึ่งจะแยกข้อมูลบนโลกโซเชียลว่าอันไหนที่ควรจะเชื่อ อันไหนที่ไม่ควรจะเชื่อ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

“เราตอบเท่าที่ตอบได้ การตอบมากไปบางครั้งมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา บางเรื่องตำรวจพูดไม่ได้ ถ้ามันเป็นเรื่องที่อยู่ในสำนวนการสอบสวน ตรงนี้ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ เขาอยากรู้ทุกเรื่อง ซึ่งเราไม่สามารถบอกเขาได้ทุกเรื่อง”

 

สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

 

เรื่องนี้เราต้องเรียนรู้กันไป กระบวนการยุติธรรมบ้านเราเป็นแบบนี้ ตำรวจเองคงตามใจใครไม่ได้ ตามใจแฟนคลับไม่ได้ ซึ่งตำรวจก็ไม่ได้มีแฟนคลับ ไม่เหมือนกลุ่มคนในโซเชียลเขามีแฟนคลับเป็นกลุ่มๆ ของเขา เราต้องอยู่ในหลักการของเรา ไม่อย่างนั้นก็พัง ความสงบเรียบร้อย การรักษาความยุติธรรมตามกฎหมายก็ไปไม่ได้

 

พล.ต.อ. สุวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า เรื่องพวกนี้ทำได้แค่รอเวลา เพราะกระแสต่างๆ เป็นปรากฏการณ์ระยะสั้นที่จะพีคมากอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ถ้าเรายืนหยัดในหลักของเราแล้วค่อยๆ เดินไปถึงจุดหนึ่ง มันจะค่อยคลี่คลายไปเอง แล้วเขาก็เล่นเรื่องใหม่

 

“ใครจะด่าจะว่าอะไรเราก็แล้วแต่มุมมอง แล้วแต่วิธีคิด แล้วแต่คติความเชื่อหรือข้อมูลที่เขาได้รับมา วันหนึ่งระยะเวลาผ่านไปเขาจะรู้เองว่าเราเป็นแบบไหน”

 

สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

 

ตำรวจไม่ดี คือนิ้วเสียที่ต้องตัดทิ้ง

 

“ถามว่าเราเอาลูกน้องออกเราก็ไม่ได้สบายใจนะ แต่เราพยายามให้ทุกคนเห็นว่าถ้าทำแบบนี้ไม่มีใครเอาไว้ และเราหวังว่ามันจะดีขึ้น”

 

จากคดีความที่มีตำรวจระดับผู้กำกับการเป็นหัวแรงใหญ่ในการทำผิด จนสร้างคลื่นระลอกใหญ่ซัดวงการสีกากี นำมาซึ่งวลี ‘นิ้วไม่ดีที่ต้องตัดทิ้ง’ แม้หลายคนจะตอกกลับแนวตลกว่า ถ้าต้องตัดจริงคงเป็นมือด้วนที่ไม่เหลือสักนิ้ว เรื่องนี้ พล.ต.อ. สุวัฒน์ ยอมรับว่าตำรวจไม่ดีห้ามให้เกิดไม่ได้

 

มันเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ แต่ว่าถ้ามันเกิดก็ต้องตัด ทีนี้ถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มันเกิด ผมว่าเราทำให้มันเกิดน้อยได้ แต่ทำให้มันไม่เกิดเลยเป็นไปไม่ได้ แต่ในรอบ 3 ปีมานี้ที่ได้ดูตัวเลข ตำรวจถูกไล่ออกน้อยลง และน้อยลงเป็นลำดับ ซึ่งเราก็หวังว่าเราจะไล่ลูกน้องเราออกน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ก็ขอยืนยันว่าถ้าทำผิดเราต้องรีบจัดการ เพื่อให้คนอื่นเห็นว่าไม่ควรทำแบบนี้ ทำให้เห็นว่าผู้บังคับบัญชาเอาจริง

 

พล.ต.อ. สุวัฒน์ ขยายความเพิ่มเติมว่า 2 ปีมานี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพยายามพัฒนาคน ลงทุนกับคน ให้มีการสอบมาตรฐาน ให้ความรู้ ฝึกมากขึ้น พยายามเทรนนิ่งยุทธวิธี เพระถ้ามีงบประมาณจำกัด ไม่สามารถหาอะไรมาให้ใช้เพียงพอได้ อันดับหนึ่งที่เราต้องทำคือการลงทุนกับคนก่อน ถ้าคนดีที่เหลือก็แก้ได้ ถ้าเขามีความสามารถในการทำงานได้ เขาก็จะภูมิใจกับมัน

 

สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

 

ในนามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราพยายามบอกลูกน้องทุกคนว่าโลกต่อไปเราต้องปรับตัว ต้องปรับตลอดเวลา ตำรวจจะต้องอ่อนตัว พร้อมที่จะปรับปรุงวิธีการทำงานใหม่ๆ ให้ได้ 

 

ตลอดการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2 ปี พล.ต.อ. สุวัฒน์ บอกว่าไม่ขอให้คะแนนตัวเอง แต่สำหรับลูกน้องใต้บังคับบัญชาที่ตั้งใจขอให้อยู่ที่ 8-9 เต็ม 10 คะแนน

 

เรามีคน 2 แสนกว่าคน บางส่วนพร้อมจะตอบสนองพุ่งปรี๊ด บางส่วนช้านิดหนึ่ง แล้วมีส่วนหนึ่งที่อาจจะต้องเอาอะไรมาผูกแล้วลากไป สุดท้ายมันไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์ แต่ก็ต้องใช้เวลากับมัน จากนี้คาดหวังว่าน้องๆ จะพยายามพัฒนาคนต่อจากที่เราทำไว้ให้ดี

 

“อุดมคติตำรวจยาวๆ ขอแค่ 3 ข้อ เอาวรรคแรกกับสองวรรคท้าย เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กระทำการด้วยปัญญา และรักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต”

 

สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising