×

พลิกท้ายเกม? คนไทยกับความหวังในการได้ดูฟุตบอลยูโร 2020

โดย THE STANDARD TEAM
10.06.2021
  • LOADING...
ฟุตบอลยูโร 2020

ฟุตบอลยูโร 2020 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้วในวันพรุ่งนี้ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากตลอดช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาคือ จะมีการถ่ายทอดสดศึกฟุตบอลรายการที่ได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่เป็นรองแค่เพียงฟุตบอลโลกรายการเดียวหรือไม่

 

ท่ามกลางกระแสข่าวจากหลายทิศทาง สิ่งที่ THE STANDARD สามารถยืนยันได้จากการสอบถาม ‘แหล่งข่าว’ คือมีความพยายามในช่วงวินาทีสุดท้ายของเกมจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่จะขอรับบทเจ้าภาพซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 มาให้คนไทยได้ติดตามกัน

 

แต่จะมีโอกาสสำเร็จหรือไม่ และเหตุใดจึงต้องรอจนถึงช่วงทดเวลาบาดเจ็บแบบนี้?

 

  • ปกติแล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่คลั่งไคล้ในเกมฟุตบอลมาก และเริ่มมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันรายการใหญ่อย่างฟุตบอลโลกมาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1970 (พ.ศ. 2513) ที่ประเทศเม็กซิโก โดยมีการถ่ายทอดสดนัดชิงชนะเลิศ

 

  • หลังจากนั้นไทยมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลรายการใหญ่แบบนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และเริ่มมีการถ่ายทอดสดครบทุกนัดตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1990 (พ.ศ. 2533) ที่ประเทศอิตาลี ซึ่งตลอดมาเป็นการซื้อลิขสิทธิ์โดย ‘ทีวีพูล’ หรือโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

 

  • จนกระทั่งเอกชนเริ่มให้ความสนใจและเข้ามาซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเอง โดยครั้งที่สร้างความฮือฮามากที่สุดคือการเข้ามาของบริษัท ‘ทศภาค’ ที่จับมือกับ ‘เบียร์ช้าง’ ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2002 (พ.ศ. 2545) ที่ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ

 

  • ในช่วงเวลานั้นถือเป็นยุคทองของการถ่ายทอดสดฟุตบอลระดับโลกในประเทศไทย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะเป็นการถ่ายทอดสดแบบไม่มีโฆษณาคั่น และผ่านช่องฟรีทีวี 3, 5, 7, 9, 11 และ itv (ในอดีต) ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ดูฟุตบอลโลกอย่างเต็มอิ่มจุใจเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุด

 

  • ความสำเร็จดังกล่าวทำให้เอกชนรายอื่นเริ่มให้ความสนใจ โดยเฉพาะอาร์เอส และแกรมมี่ สองบริษัทในวงการเพลงที่เข้าสู่วงการโทรทัศน์อย่างเต็มตัวในระบบดาวเทียม

 

  • จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การที่แกรมมี่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 และให้รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณของตัวเอง GMM Z เท่านั้น (ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของ UEFA ในการสกัดกั้นไม่ให้มีการรับชมในประเทศอื่น) จนเกิดปรากฏการณ์ ‘จอดำ’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก แม้ว่าในภายหลังแกรมมี่เปิดให้ชมการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นก็ตาม

 

  • ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระแสขึ้นมากมาย และนำไปสู่ประกาศของ กสทช. ที่เรียกว่า ‘Must Carry’ (เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถรับชมทีวีดิจิทัลได้หมดทุกช่องออกอากาศ (ทีวีดาวเทียม, เคเบิล, IPTV) และกฎข้อสำคัญคือ ‘Must Have’ หรือหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในฟรีทีวี ซึ่งรวมถึง 7 รายการกีฬา คือ ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์,เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

 

  • ทั้งนี้ ฟุตบอลยูโรไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวโดยตรง ดังนั้นสิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจึงเป็นเรื่องของความคุ้มค่าในการลงทุน โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจซบเซาขั้นรุนแรงในเวลานี้

 

  • ตามข้อมูลที่ THE STANDARD ได้รับทราบมา ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรในครั้งนี้มีราคาที่สูงมากในระดับ ‘พันล้าน’ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ผู้ประกอบการรายใดก็ไม่คิดว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนซื้อเข้ามา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฟุตบอลโคปา อเมริกา ฟุตบอลระดับทวีปเหมือนกันแต่มีราคาที่แตกต่างกันหลายเท่าตัว

 

  • ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์หรือผู้ให้บริการทั้งในระบบเคเบิลทีวีและระบบ OTT ได้ซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬาระดับโลกมากมาย​โดยเฉพาะรายการฟุตบอล แต่มูลค่าของลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การหาผู้สนับสนุนเข้ามายากขึ้น ซึ่งหากสังเกตจะไม่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลในระดับลีกชั้นนำของโลกผ่านทางฟรีทีวีมาหลายปีแล้ว

 

  • แม้กระทั่งเจ้าใหญ่อย่าง ‘ทรูวิชั่นส์’ ปัจจุบันลีกฟุตบอลใหญ่เหลือเพียงแค่พรีเมียร์ลีก ซึ่งจะหมดสัญญาในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลหน้า หรือกรณีฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ก็เกิดกรณีที่ DAZA เจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศไทยตัดสินใจคืนลิขสิทธิ์ให้แก่ยูฟ่าในฤดูกาลที่ผ่านมา ทำให้ยูฟ่าตัดสินใจถ่ายทอดสดผ่านระบบ OTT ผ่าน UEFA.tv บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันแทน

 

  • ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่ในหลายประเทศก็เผชิญเช่นเดียวกัน กรณีของลีกเอิง ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศฝรั่งเศสก็ประสบปัญหาเจ้าของลิขสิทธิ์อย่าง beIN SPORTS และ CANAL+ ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์เพราะทนการขาดทุนไม่ไหวในภาวะวิกฤตโควิด-19 รวมถึงในประเทศอังกฤษที่ BT สถานีโทรทัศน์ระดับแนวหน้าที่พยายามลงทุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลระดับชั้นนำประกาศที่จะถอนตัวจากตลาดนี้

 

  • ปัญหาการขาดแคลนผู้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาจึงเป็นสิ่งที่มีสัญญาณบ่งบอกมาสักระยะ โดยที่ในอนาคตมีโอกาสที่จะเกิดกรณีที่เจ้าของรายการ อาทิ พรีเมียร์ลีกถ่ายทอดสดผ่านระบบ OTT ด้วยตัวเอง ซึ่งมีแผนรองรับแล้วในชื่อ Premflix หรืออาจจะต้องพึ่งผู้ให้บริการระดับโลกที่มีขีดความสามารถอย่าง Amazon หรือ Netflix (เหมือนในไทยที่ WeTV ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกที่ทีมชาติไทยลงสนาม)

 

  • อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดกระแสเรียกร้องของแฟนฟุตบอลชาวไทย ทำให้มีความเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่อย่างการกีฬาแห่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเอง

 

  • โดย THE STANDARD ได้สอบถามและได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวว่า “มีการเจรจาอยู่จริง” แต่ยังไม่มีการให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขมูลค่าลิขสิทธิ์ จะให้ออกอากาศทางช่องทางใดบ้าง และคนไทยจะได้รับชมกี่นัด

 

  • เบื้องต้นคาดว่าหากการเจรจาประสบความสำเร็จ คนไทยจะได้ชมตั้งแต่เกมรอบ 16 ทีมสุดท้ายเป็นต้นไปรวมทั้งสิ้น 15 เกม ซึ่งถือว่าไม่น้อยและน่าจะประหยัดเงินกว่าการซื้อทั้งรายการมากพอสมควร (ทั้งรายการมีเกมทั้งหมด 51 นัด)

 

  • ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ของประเทศไทยจะเต็มไปด้วยปัญหามากมายที่รอการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งการใช้งบประมาณในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลในสถานการณ์นี้จึงอาจนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเหมาะสมบ้าง

 

  • แต่หากมองในอีกมุม การถ่ายทอดสดฟุตบอลในระดับนี้ก็มีความสำคัญต่อประเทศชาติในมิติอื่นๆ เช่นเดียวกัน เหมือนในกรณีที่อังกฤษตัดสินใจให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกทุกนัดเพื่อให้ประชาชนที่กำลังลำบากในช่วงของการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้วได้ผ่อนคลายและมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น รวมถึงยังเป็นการเพิ่มกิจกรรมให้อยู่ที่บ้านไม่ต้องเดินทางด้วย

 

  • สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือจะมีข่าวดีให้แฟนฟุตบอลชาวไทยได้เฮจริงๆ หรือไม่ หรือนี่จะเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่คนไทยจะไม่มีมหกรรมกีฬาระดับโลกให้ชมกัน

 

 พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X