×

โฆษกรัฐบาลเผย คนไทยในอิสราเอลประสงค์เดินทางกลับให้รีบมาที่จุดนัดพบวันนี้ 17.00 น. กต. แจง ต่อไปอาจไม่เช่าเหมาลำอพยพกลับไทย

โดย THE STANDARD TEAM
01.11.2023
  • LOADING...
ชัย วัชรงค์

วันนี้ (1 พฤศจิกายน) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้โพสต์ข้อความระบุถึงแรงงานไทยในอิสราเอลที่ประสงค์จะเดินทางกลับกับเที่ยวบินอพยพ ให้เดินทางมาที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เทลอาวีฟ ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน เวลา 17.00 น. 

 

โดยกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า เที่ยวบินอพยพคนไทยหลังจากนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่อาจไม่ใช่การเช่าเหมาลำ ซึ่งต้องพิจารณาจากจำนวนคนอพยพ หากมีน้อยก็ไม่สามารถอพยพแบบเหมาลำได้ ส่วนแรงงานไทยที่พร้อมจะเดินทางกลับเองยังสามารถเบิกจ่ายค่าเครื่องบินได้ตามนโยบายรัฐบาล

 

ชัยยังชี้แจงข้อมูลจากกระทรวงแรงงานถึงสิทธิประโยชน์ตามมาตรการเยียวยาสำหรับคนที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอล โดยจะมีรถโดยสารไปส่งยังสถานีขนส่งหมอชิต เพื่อให้กลุ่มคนไทยสะดวกต่อการเดินทางกลับภูมิลำเนา อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนที่ซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินเดินทางกลับมาเองจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการเยียวยาเช่นกัน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เปิดให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล 

 

โดยเอกสารและหลักฐานการในการยื่นขอรับค่าใช้จ่ายต้องเป็นเอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ส่วนกลางสามารถยื่นได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล บริเวณชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาคสามารถยื่นได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ เอกสารประกอบด้วย 1. บอร์ดดิ้งพาส หรือตั๋วเครื่องบิน/ใบเสร็จรับเงิน หรือเอกสารการจ่ายเงิน 2. สำเนาบัตรประชาชน 3. สำเนาหนังสือเดินทาง/เอกสารเดินทาง และ 4. สำเนาสมุดบัญชีธนาคารผู้รับบริการ

 

โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวถึงมติ ครม. ที่เห็นชอบโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) และอนุมัติวงเงินงบฯ รวม 1,200 ล้านบาท จากงบฯ รายจ่ายประจำปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับไทยมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการเริ่มต้นประกอบอาชีพหรือแบ่งเบาภาระหนี้สิน ว่า โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อชำระหนี้กู้ยืมสำหรับการไปทำงานที่อิสราเอลหรือเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ (ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ณ เดือนกันยายน 2566 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล 25,887 คน)

 

โดยเป็นผู้ที่ไปทำงานที่อิสราเอลอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน 60 ปี (ประมาณ 12,000 ราย) ซึ่งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท / สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 150,000 บาท ลูกค้ารับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี / ระยะเวลาชำระเงินคืนงวดสูงสุดไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 งวดแรก 

 

โดยมีระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติ คือวันที่ 31 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ โดยงบประมาณรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น 

 

  1. ชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 400 ล้านบาท (2,000 ล้านบาท x ร้อยละ 20 x ร้อยละ 100) โดยแบ่งเป็นธนาคารออมสิน 200 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 200 ล้านบาท
  2. ชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่ออนุมัติเป็นระยะเวลา 20 ปี รวมทั้งสิ้น 800 ล้านบาท (2,000 ล้านบาท x ร้อยละ 2 x 20 ปี) โดยแบ่งเป็นธนาคารออมสิน 400 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 400 ล้านบาท

“นายกรัฐมนตรีเข้าใจสถานการณ์ของแรงงานคนไทยทุกคน มีความห่วงใยเป็นอย่างมาก และประสงค์ให้แรงงานไทยในอิสราเอลพิจารณาให้ถี่ถ้วน จึงได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีแนวทางในการทำงานออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานไทย ซึ่งอีกประเด็นที่นายกรัฐมนตรีห่วงใยคือ ต้องเร่งหางานให้ผู้ที่เดินทางกลับไทยมาแล้วมีงานทำ ในสายงานที่ตนเองถนัดและพัฒนาเป็นประโยชน์ได้” ชัยกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X