×

คนไทย (เดอะ) แบก ‘หนี้’ กองทุนน้ำมัน อุ้มค่าไฟ อ่วมทะลุ 2.2 แสนล้าน…ปัญหาที่ยังซุกอยู่ใต้พรม

04.03.2024
  • LOADING...

เมื่อพูดถึง ‘ปัญหาหนี้’ เรามักจะนึกถึงภาระหนี้สินใกล้ตัว บ้าน รถ แต่หนี้ที่ทุกคนแบกรับร่วมกันนั่นคือ ‘หนี้สาธารณะ’

 

แล้วหนี้สาธารณะคืออะไร? 

 

หนี้สาธารณะคือการกู้ยืมเงินของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงจำเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่าย เพื่อพัฒนาและกระตุ้นให้ประชาชนขยายการลงทุนในกิจการต่างๆ 

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ การร่างนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาล เช่น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หลายฝ่ายก็ออกมาเตือนว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้น

 

เช่นเดียวกับการนำเงินรัฐบาลมาอุดหนุน ‘ค่าไฟและกองทุนน้ำมันฯ’ ประชาชนที่อาจเป็นข้อดีในระยะสั้น แต่ระยะยาวนั้นอาจเสี่ยงต่องบประมาณแผ่นดินเพิ่มไปเรื่อยๆ หรือไม่ 

 

เมื่อ 3 กูรูด้านพลังงาน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้จากการอุดหนุนราคาพลังงานกว่า 90,000 ล้านบาทแล้ว ไม่ต่างจากหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกค่า Ft กว่า 130,000 ล้านบาท 

 

“รวมๆ แล้วทะลุ 220,000 ล้านบาท”

 

ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานก็จะทำให้หนี้สินดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันฯ ที่มีหนี้จากการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลสูงถึงเดือนละ 9,900 ล้านบาท” คุรุจิตกล่าว

 

ชำแหละงบกองทุนน้ำมันฯ 

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ได้ทำหนังสือเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีแล้วเรียบร้อย โดยมีสาระสำคัญ 5 ข้อ 

 

1. นับตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเริ่มเข้ามาบริหารงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้สินจำนวน 48,000 ล้านบาท เพียงแค่ 5 เดือนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2567 หนี้สินกองทุนน้ำมันฯ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 84,000 ล้านบาท เพราะกระทรวงพลังงานได้กดราคาน้ำมันดีเซลลงจากลิตรละ 32 บาท เป็นลิตรละ 30 บาท และได้ลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลงอีกลิตรละ 2.50 บาท 

 

ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยราคาสำหรับน้ำมันดีเซล และลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ รวมถึงตรึงราคา LPG ไว้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 

 

“หากปล่อยไปเช่นนี้ หนี้ของกองทุนน้ำมันฯ ก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกจนถึงเพดานหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดกรอบไว้ขณะนี้ คือ 110,000 ล้านบาท”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

นอกจากนี้ การลดราคาน้ำมันลงเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของรถก็จริง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เกินความสามารถที่จะชำระคืน รัฐบาลก็คงต้องนำเงินจากภาษีที่เก็บจากประชาชนทั้งประเทศไปล้างหนี้ ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของรถต้องมาช่วยแบกภาระหนี้แทนเจ้าของรถ เป็นเรื่องที่รัฐบาลที่ดีพึงระวัง 

 

อีกทั้งในช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่ได้ผันผวนถึงขั้นวิกฤต คือค่อนข้างนิ่งและมีแนวโน้มลดลง ควรเรียกเก็บเงินเข้าเพื่อมาคืนสภาพคล่องและลดหนี้ให้แก่กองทุนน้ำมันฯ หรือไม่

 

จากซ้ายไปขวา ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ หม่อมอุ๋ย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน

 

ห่วงนำเงินภาษีของประชาชนไปล้างหนี้ให้ กฟผ. ไม่มีวันจบ

 

2. ในรัฐบาลชุดที่แล้ว เมื่อราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกสูงขึ้นจากภาวะสงคราม รัฐบาลก่อนได้ชะลอการปรับค่าไฟฟ้า Ft ไว้ เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าที่จะเก็บจากประชาชนเพิ่มขึ้นในจำนวนสูงเกินไป 

 

โดยให้ กฟผ. รับภาระราคาก๊าซ LNG ที่เพิ่มสูงขึ้นไว้ก่อน แล้วจึงค่อยทยอยผ่อนคืน กฟผ. โดยการขึ้นค่า Ft ทีละนิดในงวดถัดๆ ไป ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 หนี้ค่า Ft ที่ กฟผ. แบกรับไว้มียอดค้างอยู่ 110,000 ล้านบาท 

 

เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา เป็นจังหวะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องอนุมัติปรับค่าไฟฟ้า ซึ่งตั้งใจจะปรับลดจากงวดก่อน จากหน่วยละ 4.70 บาท เป็นหน่วยละ 4.45 บาท (ในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566) เพื่อให้พอมีเงินเข้ามาช่วยลดภาระหนี้ที่ กฟผ. แบกรับไว้ลงบ้าง 

 

“ปรากฏว่ารัฐบาลใหม่กลับประกาศกดราคาค่าไฟฟ้าลงไปอีกเหลือหน่วยละ 3.99 บาท ซึ่งมีผลให้ กฟผ. ต้องแบกรับหนี้เพิ่มขึ้นอีกคือเพิ่มสูงขึ้นเป็น 137,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 หากปล่อยไปเช่นนี้ ในที่สุดจะต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปล้างหนี้จำนวนนี้ให้ กฟผ. เพื่อให้ กฟผ. ดำเนินกิจการต่อไปได้”

 

แม้รัฐบาลตระหนักว่ามีภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลไม่ให้มีการหมักหมมปัญหาและหมกหนี้ไว้ที่หน่วยงานของรัฐ และตั้งใจหามาตรการที่จะทยอยลดหนี้ได้ตั้งแต่ที่ปัญหายังไม่หนักเกินไป ก็จะสามารถสะสางปัญหาให้จบลงด้วยดีได้โดยไม่ต้องรบกวนภาษีของประชาชน

 

นโยบายผลิตน้ำมันคุณภาพสูงมาตรฐาน EURO5 ไม่คืบ

 

ณรงค์ชัยกล่าวว่า ข้อ 3 รัฐบาลไทยในอดีตได้ออกนโยบายที่เป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมในอากาศ คือ วางแผนให้มีการผลิตน้ำมันคุณภาพสูงขึ้นเป็นมาตรฐาน EURO5 โดยได้มีการขอความร่วมมือและจูงใจให้โรงกลั่นในประเทศทั้ง 6 โรง ลงทุนก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ปรับกระบวนการผลิตให้ได้น้ำมันคุณภาพ EURO5 ซึ่งใช้เงินลงทุนไปจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท 

 

กระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ดำเนินการออกมาตรฐานรถยนต์ใหม่ให้รองรับคุณภาพน้ำมันใหม่ และกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการออกมาตรฐาน บังคับใช้คุณภาพน้ำมันที่ลดกำมะถันลงให้เหลือไม่เกิน 10 ppm กับลดค่า NOx และฝุ่น PM ลงให้ไม่เกิน 8% ภายใน 5 ปี โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 โดยเป็นที่เข้าใจกันว่ากระทรวงพลังงานจะปรับสูตรสำหรับคิดราคาน้ำมันอ้างอิงที่หน้าโรงกลั่นให้สะท้อนถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

 

ปรากฏว่าจนถึงบัดนี้ ทั้งๆ ที่กระทรวงพลังงานได้ประกาศให้ใช้น้ำมันระดับ EURO5 แล้ว กระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลใหม่ยังนิ่งเฉย แสดงท่าทีไม่ยอมรับคุณภาพน้ำมันสะอาดใหม่นี้ โดยไม่พิจารณาปรับราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่นของเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล จนภาคเอกชนคือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องออกมาเรียกร้องขอให้ปรับสูตรราคาอ้างอิงดังกล่าว 

 

“หากรัฐบาลเพิกเฉยไม่ทำอันใด ในที่สุดผู้ค้าน้ำมันก็คงจะไม่ยอมรับในราคาอ้างอิงในแบบเดิมๆ ที่รัฐกำหนด และเลือกใช้วิธีกำหนดราคาขายหน้าปั๊มเอง ซึ่งอาจมีผลเสียต่อผู้บริโภคมากกว่า และโรงกลั่นก็จะไม่ยอมลงทุนอะไรไปก่อนอีกตามที่รัฐขอความร่วมมือในอนาคต นอกจากนี้ นโยบายของรัฐในสายตาของนักลงทุนก็จะขาดความน่าเชื่อถือและเสื่อมถอยลงด้วย”

 

ภาพ: Charles Briscoe-Knight / Getty Images 

 

นโยบาย EV และน้ำมัน ย้อนแย้ง?

 

3. คุณภาพอากาศกำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ปัญหาของฝุ่นควันในต่างจังหวัดเกิดจากการเผาไร่และเผาป่าเป็นสาเหตุใหญ่ ในขณะที่สาเหตุหลักของฝุ่นควันในอากาศบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็คือควันพิษจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล เบนซิน และแก๊สโซฮอล์ 

 

รัฐบาลในอดีตและปัจจุบันมีนโยบายที่จะกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าสาธารณะหรือใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นพาหนะส่วนตัว เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาควันพิษในอากาศลงบ้าง 

 

แต่การลดราคาน้ำมันทุกชนิดให้ต่ำลง กระตุ้นให้มีการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างฟุ่มเฟือยและก่อให้เกิดควันพิษมากขึ้น ดูเป็นนโยบายที่ขัดหรือย้อนแย้งกับเรื่องการดูแลคุณภาพอากาศและพลังงานสะอาดอย่างชัดเจน ทำให้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้มีความตั้งใจที่จะลดปัญหาควันพิษในอากาศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน กับจะส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจริงหรือไม่?

 

แนะกลับมาปรับสูตรราคาก๊าซแบบเดิม

 

คุรุจิตกล่าวเสริมว่า ข้อ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 กระทรวงพลังงานคิดเลขในการหาต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับก๊าซใน Pool Gas ที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า โดยไม่ได้เป็นการจัดหาและนำก๊าซต้นทุนต่ำมาเพิ่มเติมใน Pool Gas 

 

หมายความว่ากระทรวงพลังงานปรับสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ใหม่ โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซจากเมียนมาและก๊าซ LNG) ส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas 

 

“การนำราคาก๊าซจากเมียนมาและ LNG มาบวกรวมให้ภาคปิโตรเคมีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะบริบทไม่เหมือนของอ่าวไทยและภาคปิโตรเคมีไม่ได้ใช้ประโยชน์ กลับต้องมาแบกต้นทุน 30-40% ดังนั้นกลับไปใช้สูตรคำนวณเดิมถูกต้องแล้ว เพราะจะกระทบความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วย

 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ประเทศไทยใช้เวลามากกว่า 30 ปีในการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น พลาสติก สิ่งทอ และอะไหล่รถยนต์ หลายพันกิจการ ก่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมระดับโลกขึ้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และความโชติช่วงชัชวาลขึ้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และช่วยทำให้ GDP และการส่งออกของไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง”

 

ปี 2564 เฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มแปรรูปพลาสติก มียอดขายรวมถึง 1,720,000 ล้านบาท หรือ 10.7% ของรายได้ไทย มีการจ้างงานรวมกว่า 400,000 คน หากปล่อยไว้นานเกินไปจะกระทบถึงฐานะของกิจการจนต้องทยอยปิดลง กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน

 

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้ไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดผลเสียในลักษณะดังกล่าว และยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยการกลับไปใช้สูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่เดิม’’ คุรุจิตกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามแนวทางแก้ไขปัญหาพลังงานหลังการยื่นหนังสือเปิดผนึกไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดเพื่อเตรียมชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 4 มีนาคมนี้

 

ท่ามกลางประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 62.23% ของ GDP ถือว่ายังคงอยู่ในอัตราที่สูง หากต้องนำงบประมาณจากภาษีประชาชนมาอุ้มค่าไฟ อุดหนุนราคาน้ำมัน แบกหนี้ กฟผ. มากขึ้นไปเรื่อยๆ รัฐบาลจะหาทางออกอย่างไร 

 

ภาพ: Man_Half-tube / Getty Images, Vladimir Gordeev / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X