×

‘ระบบบำนาญไทย’ คะแนนรั้งท้าย และ ‘กองทุนชราภาพ’ อาจถังแตกในอีก 34 ปี

29.11.2020
  • LOADING...
‘ระบบบำนาญไทย’ คะแนนรั้งท้าย และ ‘กองทุนชราภาพ’ อาจถังแตกในอีก 34 ปี

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • ระบบบำนาญไทยถูกประเมินอยู่ในลำดับสุดท้ายจากทั้งหมด 39 ประเทศ โดย Mercer CFA Institute Global Pension Index 
  • เดวิด น็อกซ์ ผู้เขียนรายงานและหุ้นส่วนอาวุโสของ Mercer มองว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันให้ระบบบำนาญของหลายประเทศแย่ลงไปอีก และทำให้ผู้คนต้องพึ่งพาการวางแผนเกษียณด้วยตัวเองมากขึ้น 
  • บทความวิจัยเรื่อง ‘ทำอย่างไรจะสูงวัยแบบไม่ยากจน’ ชี้ว่าความยากจนของครัวเรือนสูงวัยในไทยกำลังเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ จากอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่อายุเกษียณยังเท่าเดิม
  • International Labour Organization (ILO) ได้ประเมินไว้ว่าหากกองทุนชราภาพของระบบประกันสังคมไม่มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ เงินกองทุนอาจจะหมดลงในปี 2597 หรืออีก 34 ปีนับจากปัจจุบัน

จากการจัดอันดับระบบบำนาญ (Pension System) ของ Mercer CFA Institute Global Pension Index ซึ่งรายงานเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่าระบบบำนาญของไทยรั้งท้ายอยู่ในลำดับที่ 39 โดยมีคะแนน 40.8 จากคะแนนเต็ม 100 จัดอยู่ในเกรด D ร่วมกับอีก 7 ประเทศคือ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ ตุรกี และอาร์เจนตินา

 

ขณะที่เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 82.6 และอันดับสองคือเดนมาร์ก ซึ่งเป็นสองประเทศที่ถูกจัดอยู่ในเกรด A

 

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวของ Mercer แนะนำว่าระบบบำนาญของไทยควรเพิ่มการช่วยเหลือผู้ยากจนและปรับปรุงประสิทธิภาพด้านธรรมาภิบาลสำหรับระบบบำนาญภาคเอกชน

 

ส่วนภาพรวมของคะแนนทั้ง 39 ประเทศจากการจัดอันดับครั้งนี้ พบว่า 20 ประเทศมีคะแนนลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหดตัวทั่วโลก นำมาซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง และหนี้สินของรัฐบาลที่สูงขึ้นในหลายประเทศ

 

ตัดเกรดระบบบำนาญของ 39 ประเทศ

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคงจะกระทบต่อเงินบำนาญในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมายความว่าผู้คนจะต้องทำงานยาวนานขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องเกษียณด้วยคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ขณะเดียวกันเราคงจะต้องพึ่งพาการวางแผนเกษียณด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น” เดวิด น็อกซ์ ผู้เขียนรายงานและหุ้นส่วนอาวุโสของ Mercer กล่าว

 

ทั้งนี้ มีบทความวิจัยเรื่อง ‘ทำอย่างไรจะสูงวัยแบบไม่ยากจน’ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงประเด็น ‘ความยากจนของครัวเรือนสูงวัย’ กำลังเป็นปัญหาสำคัญและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น แม้ว่าคนไทยจะมีอายุยืนยาวขึ้นไม่แตกต่างจากคนชาติอื่นๆ แต่ขณะที่คนชาติอื่นเกษียณช้าลง คนไทยส่วนใหญ่ยังเกษียณที่อายุ 55 หรือ 60 ปีเหมือนเดิม ช่วงชีวิตหลังเกษียณจึงยาวนานขึ้น

 

ในปัจจุบันครัวเรือนสูงวัยยังสามารถอาศัยเงินช่วยเหลือจากลูกหลานได้ แต่หากมองไปในอนาคต คนรุ่นหลังมีลูกน้อยลง การพึ่งพาลูกหลานจะยากและท้าทายขึ้น การออกแบบระบบออมเงินเพื่อให้ทุกคนมีเงินสำรองไว้เพียงพอใช้ในยามชราจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

ประเด็นที่บทความนี้ตั้งคำถามคือระบบบำเหน็จบำนาญและการออมผ่านกองทุนต่างๆ ของไทยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือการออมได้ดีเพียงใด และมีช่องทางปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดียิ่งขึ้นได้บ้าง โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบระบบประกันสังคมของไทยกับระบบของสหรัฐฯ พบว่าระบบของไทยยังขาดคุณลักษณะสำคัญอยู่ 5 ประการ ได้แก่

 

ประเภทของรายได้จากระบบบำเหน็จบำนาญและเงินช่วยเหลือของไทย

 

1. ระบบของไทยยังขาดความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตามโครงสร้างของประชากร ระบบประกันสังคมไทยภาคบังคับกำหนดอายุที่ผู้ประกันตนมีสิทธิขอรับบำนาญได้ไว้ที่ 55 ปีมาตั้งแต่ปี 2541 และไม่เคยมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งหมายความว่าระบบต้องจ่ายเงินบำนาญหลังเกษียณนานขึ้นสำหรับผู้ประกันตนรุ่นหลังซึ่งมีอายุยืนยาวขึ้น International Labour Organization (ILO) ได้ประเมินไว้ว่าหากกองทุนชราภาพของระบบประกันสังคมมาตรา 33 ไม่มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ จะมีความเป็นไปได้สูงที่ภายในปี 2597 กองทุนชราภาพจะหมดเงินได้

 

2. สูตรในการคำนวณสิทธิประโยชน์ชราภาพใช้รายได้เฉลี่ยจากเพียง 5 ปีสุดท้ายที่ทำงาน แทนที่จะใช้รายได้ทั้งชีวิตทำงาน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมในหลายกรณี เช่น ในช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ คนทำงานบางกลุ่มอาจมีรายได้ลดลง อาจจะเจ็บป่วยจนทำให้ไม่สามารถทำงานเต็มเวลาได้ หรือเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจพอดี ทำให้บางบริษัทลดเงินเดือนลูกจ้างลง และผลพวงของเงินเดือนที่ต่ำลงในช่วงท้ายนี้จะกลายเป็นฝันร้ายระยะยาวต่อเงินบำนาญของคนกลุ่มนี้

 

3. ระบบประกันสังคมของไทยยังไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ และยังขาดความยืดหยุ่นในการปรับเพดานเงินสมทบให้เป็นไปตามอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น ระบบประกันสังคมของประเทศอื่นๆ ยังมีการปรับเพดานเงินสมทบให้เพิ่มขึ้นตามอัตราค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่เสมอเพื่อให้เงินบำนาญเพียงพอใช้ และระบบสามารถมีรายรับมากขึ้นจากคนรายได้สูงและนำมากระจายให้แก่คนรายได้ต่ำ ในทางตรงกันข้าม แม้อัตราค่าจ้างเฉลี่ยของไทยจะเพิ่มขึ้นมาตลอด เพดานเงินสมทบของมาตรา 33 กลับคงค่าเพดานอยู่ที่ 15,000 บาทมาตั้งแต่ปี 2541 และไม่เคยได้รับการปรับขึ้น

 

4. เงินบำนาญในแต่ละปีไม่มีการปรับตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น แม้ผู้เกษียณอายุจะต้องมีช่วงหลังเกษียณยาวนานถึง 20-30 ปี ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินบำนาญลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งแปลว่าระบบหรือกองทุนเหล่านี้อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นหลักประกันว่าผู้เข้าร่วมจะมีรายได้เพียงพอหลังเกษียณอายุ

 

5. ระบบประกันสังคมของไทยไม่ได้สร้างแรงจูงใจมากนักในการให้คนเข้าร่วม หรือให้คนอยู่ในระบบนาน หรือสมทบเพื่อเก็บออมมากขึ้น การสมทบร่วมของรัฐในตัวอย่างต่างประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกามักจะคำนึงถึงการสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าร่วมระบบ (Extensive Margin) หรือสะสมเงินออมเพิ่มขึ้น (Intensive Margin) โดยแรงจูงใจนั้นจำเป็นสำหรับระบบที่เป็นภาคสมัครใจ แต่ไม่ได้จำเป็นสำหรับภาคบังคับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X