×

ไทยออยล์ TOP แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/63 คาดฟื้นตัวดีขึ้นจากขาดทุนอย่างหนักในไตรมาส 1/63

โดย SCB WEALTH
17.07.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

SCBS ได้ทำพรีวิวผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของ บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ซึ่งคาดว่าจะประกาศวันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดย TOP เป็นผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมี บมจ.ปตท. (PTT) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 47% นอกจากนี้ TOP ยังดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ธุรกิจปิโตรเคมีและน้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น

 

กระทบอย่างไร:

นับตั้งแต่ไตรมาส 2/63 จนถึงวันนี้ (17 กรกฎาคม) ราคาหุ้น TOP ปรับตัวขึ้น 39.84% สู่ระดับ 43.00 บาท หลังจากปรับตัวลงแรง 28.49% ในไตรมาส 1/63 เนื่องจากผลกระทบของสงครามราคาน้ำมัน

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS คาดว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของ TOP จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิที่ 2.6 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับขาดทุน 1.38 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/63 โดยได้ปัจจัยสนับสนุนมาจากกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มตามราคาตลาด (Market GIM) จะเพิ่มขึ้น 43%QoQ แต่ลดลง 29%YoY สู่ระดับ 3 เหรียญต่อบาร์เรล เนื่องจากต้นทุนน้ำมันดิบที่ต่ำลง โดยมีสาเหตุมาจากการมีส่วนลด (Discount) ของราคาน้ำมันดิบชนิดเบาเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 4.7-5.7 เหรียญต่อบาร์เรล จากมีส่วนเพิ่ม (Premium) ที่ 2.2-4.4 เหรียญต่อบาร์เรลในไตรมาส 1/63 

 

ด้านกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มทางบัญชี (Accounting GIM) จะพลิกกลับมาเป็นบวกที่ 5.4 เหรียญต่อบาร์เรล จาก -10.1 เหรียญต่อบาร์เรลในไตรมาส 1/63 ซึ่งเกิดจากการผลกระทบทางบวกของการกลับรายการปรับลดมูลค่าทางบัญชีของสินค้าคงเหลือน้ำมันให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่ได้รับ

 

ขณะที่อัตราใช้กำลังการผลิตจากการกลั่นลดลงสู่ระดับ 98% หรือ 270 KBD จาก 111% ในไตรมาส 1/63 เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาส 2/63-3Q63 ที่ระดับ 275 KBD ด้านยอดขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในไทย (มกราคม-พฤษภาคม 2564) ลดลง 13%YoY ซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบินที่ลดลง 43%YoY และน้ำมันเตาลดลง 22%YoY สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตธุรกิจอะโรเมติกส์ลดลงจากระดับ 81% ในไตรมาส 1/63 สู่ 75% ในไตรมาส 2/63 โดยเกิดจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่อ่อนแอ โดยเฉพาะเบนซินและจำนวนวัตถุดิบจากโรงกลั่นที่ลดลง จึงทำให้กำลังการผลิตโดยรวมของบริษัทลดลง 5%YoY และลดลง 12%QoQ

 

มุมมองระยะยาว:

ในระยะถัดไปต้องติดตาม Market GRM ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/63 จากอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ สำหรับอุปสงค์น้ำมันเครื่องบินจะยังคงถูกกดดัน เนื่องจากความต้องการเดินทางทางอากาศยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ด้านต้นทุนน้ำมันดิบชนิดเบาเพิ่มขึ้นเนื่องจากกลับมามีส่วนเพิ่ม (Premium) จากราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:

%QoQ คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

%YoY คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising