อยากเห็นก็ได้เห็น…กับการผสมแข้งตัวหลัก (บางส่วน) กับดาวรุ่งสายเลือดใหม่ของทีมชาติไทย
หากย้อนกลับไปหลังจบรายการคิงส์คัพ 2024 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถ้าลองอ่านตามคอมเมนต์ในเพจฟุตบอลต่างๆ เชื่อว่าแฟนบอลคงมีจินตนาการเกี่ยวกับทีมชาติไทยในเวอร์ชัน ‘สายเลือดใหม่’ กันอยู่บ้าง แบบที่ไม่ต้องพึ่งผู้เล่นแกนหลักอย่างที่เคยทำ โดยเฉพาะวันที่เราตกรอบคัดฟุตบอลโลกไปแล้ว
มาโปรแกรมฟีฟ่าเดย์ (พฤศจิกายน) มาซาทาดะ อิชิอิ กุนซือของทีมชาติไทยที่มองเห็นโอกาสและจังหวะต่างๆ ว่านี่คือโอกาสในการเรียกเทสต์นักเตะหน้าใหม่ในแคมป์ทีมชาติ ก่อนจัดการดำเนินตามแผนทันทีในเกมกับเลบานอน และ สปป.ลาว ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมทีมลุยศึกชิงแชมป์อาเซียน 2024 ในช่วงปลายปีนี้
ทว่าผลเสมอในเกมอุ่นเครื่องทั้ง 2 นัดที่ผ่านมา อาจสร้างความผิดหวังในแฟนบอลไทย แต่ในมุมกลับกัน ผลงานในสนามน่าจะเป็นคำตอบของหลายคำถาม โดยเฉพาะคำถามที่ว่า ทีมสายเลือดใหม่ชุดนี้พร้อมที่จะขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ได้หรือไม่
และเกมอุ่นเครื่อง 2 นัดนี้ บอกอะไรเราบ้าง? ในวันที่ผลลัพธ์และรูปเกมในสนามออกมาน่าผิดหวังแบบนี้
การเปลี่ยนถ่าย ‘สายเลือดใหม่’ ที่จำเป็นต้องทำตั้งแต่ตอนนี้
แนวคิดการเรียกผู้เล่นหน้าใหม่ติดทีมชาติไทย มีมาตั้งแต่ก่อนจบรายการคิงส์คัพที่สงขลา โดยแรงจูงใจสำคัญคือเพื่อ ‘เตรียมความพร้อม’ ให้กับทีมก่อนลงแข่งขันศึกชิงแชมป์อาเซียน 2024 ในวันที่ 8 ธันวาคม 2024 – 5 มกราคม 2025
นั่นเลยทำให้โปรแกรมฟีฟ่าเดย์ในมือของ มาซาทาดะ อิชิอิ ที่เหลือเพียง 2 นัดอย่างเป็นทางการ (รอบเดือนพฤศจิกายน) ก่อนเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ในเดือนธันวาคม เขาต้องใช้โอกาสนี้ในการเรียกผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีโอกาสติดทีมไปชิงแชมป์อาเซียนเข้ามาสู่แคมป์หนนี้ เพื่อฝึกซ้อมและสร้างทีมให้มีความแข็งแกร่งมากที่สุด
ผลคืออิชิอิเรียกนักเตะหน้าใหม่ 5 คน ประกอบด้วย ศฤงคาร พรมสุภะ, ทิตาธร อักษรศรี, ชิษณุพงษ์ โชติ, เสกสรรค์ ราตรี และ พันธมิตร ประพันธ์ เข้ามาเป็นส่วนผสมกับทีมชาติชุดใหญ่ ที่คาดว่า (ส่วนใหญ่) จะถูกต่อยอดติดทีมไปป้องกันแชมป์อาเซียนด้วย
และหากถามว่า ทำไมทีมไทยถึงไม่เรียกนักเตะตัวหลักติดทีมเพื่อซ้อมใหญ่ก่อนไปอาเซียนคัพล่ะ?
คำตอบคือในห้วงเดือนธันวาคม “ทั่วโลกไม่มีโปรแกรมฟีฟ่าเดย์” บวกกับสโมสรในไทยยังมีโปรแกรมนัดตกค้างในไทยลีกร่วม 8 นัดในเวลาเดียวกับที่อาเซียนคัพฟาดแข้งกัน ซึ่งตรงนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับสโมสรด้วย
นั่นหมายความว่า มีโอกาสสูงที่บรรดาสโมสรชั้นนำจะไม่ปล่อยผู้เล่นแกนหลักเข้าร่วมทีมในช่วงเวลานั้น นั่นคือโจทย์เบื้องต้นที่สมาคมฯ และอิชิอิทราบกันมานานแล้ว
เลยเป็นเหตุผลให้อิชิอิจำเป็นต้องเรียกผู้เล่นที่สามารถต่อยอดไปถึงอาเซียนเข้าสู่ทีมหนนี้ ส่วนใครที่ไม่น่ามากับทีมได้เขาจึงไม่เรียกมา เพราะนี่คือโค้งสำคัญของทีมสตาฟฟ์โค้ชและนักเตะก่อนลุยอาเซียนคัพ
ผลเสมอ 2 นัด (ในสนาม) บอกอะไร?
ก่อนเริ่มเกมอุ่นเครื่องเป็นเรื่องปกติที่แฟนบอลจะมองถึงผล ‘ชนะ’ ทั้ง 2 เกม หากดูจากอันดับโลกของทีมไทย (อันดับ 96) เหนือกว่าเลบานอน (อันดับ 115), สปป.ลาว (อันดับ 187)
แต่ในความจริงยังมี 2 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้ทีมไทยไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง คือ
- การรวมทีมนักเตะหน้าใหม่ค่อนข้างเยอะ
- เวลาฝึกซ้อมร่วมกันมีไม่ถึง 1 สัปดาห์
เรื่องนี้อิชิอิทราบดี และเขาพูดอยู่เสมอว่า นักเตะ 23 คนที่เรียกเข้าแคมป์ยังมีเวลาฝึกซ้อมด้วยกันน้อยมาก และสิ่งที่อิชิอิพูดก็ทำให้เห็นภาพในเกมเสมอเลบานอนแบบไร้สกอร์
ถัดจากนั้น 3 วันทีมไทยลงเล่นกับ สปป.ลาว ที่หนนี้ความคาดหวังจะเยอะเป็นพิเศษ จากชื่อชั้นที่ห่างกันมากโข แต่บทสรุปจบลงตรงที่ทำให้แฟนบอลผิดหวังตามเคย แถมรูปเกมดูหนักกว่าเกมกับเลบานอนเสียอีก เพราะเราทำได้เพียงเสมอ สปป.ลาว 1-1 ทั้งที่ควรทำได้ดีกว่านี้
เกมกับ สปป.ลาว อิชิอิตั้งโจทย์ว่านี่คือภาพจำลองของการลงเล่นอาเซียนคัพที่จะเตะในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า
อิชิอิวางแผนเกมรุกให้นักเตะครองเกมเล่นบุกแบบชัดเจน กับวิธีการที่เขามักจะทำคือเปิดวิดีโอเกมให้นักเตะทราบถึงแผน ป้อนโปรแกรมให้นักเตะคนต่อคนรู้ว่าพวกเขาควรเล่นอย่างไรในสนาม
ทว่านักเตะหลายคนเล่นตามบรีฟที่เน้นครองบอลบุกได้ก็จริง แต่พลังงานความดุดัน ความกระหายในการพังประตูเพื่อชัยชนะ มีให้แฟนบอลได้สัมผัสน้อยมากในเกมนี้ เมื่อเทียบกับฝั่ง สปป.ลาว ที่อาศัยพลังใจและพละกำลังวิ่งบีบกดดันทีมไทยได้ดีในแผงกลางถึงแผงหลัง
หลายจังหวะทีมไทยยังติดเล่นด้วยความย่ามใจ ประกอบกับการสื่อสารที่เต็มไปด้วยปัญหา เกมรุกขาดมิติขึ้นเกม หลายจังหวะเล่นเน้นเอาชัวร์คือ ‘ขึ้นเกมไม่ได้…ก็ส่งคืนหลัง’
นั่นทำให้เกมนี้กลายเป็นแมตช์ที่ดูแล้วน่าอึดอัดสำหรับแฟนๆ ไม่ใช่บอลของอิชิอิแบบที่เราเคยดู และคิดว่านักเตะหลายคนเล่นผิดฟอร์มไปเยอะเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของแต่ละคนที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้
เมื่อผลเป็นแบบนี้…สายเลือดใหม่เอาไงต่อ แล้วเป้าหมายอาเซียนคัพคืออะไร?
ตอนนี้อิชิอิคงทราบแล้วว่า เกมกับทีมในอาเซียนไม่ง่าย โดยเฉพาะกับทีมที่ต้องผสมผู้เล่นหน้าใหม่มาในชุดนี้ที่องค์ประกอบทีมยังขาดๆ เกินๆ นักเตะหลายคนไม่สามารถทำผลงานได้ตามที่อิชิอิคาดหวัง
ถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทีมชาติไทยไม่มีนักเตะที่สามารถรวมตัวและทำผลงานได้ดีกว่านี้แล้วหรือ? (ในวันที่แข้งหลักติดภารกิจกับสโมสร)
คำคอบคือ นักเตะเหล่านี้ที่อิชิอิเรียกมา ส่วนใหญ่เขาเป็นคนไปนั่งดูเกมไทยลีกมากับตาตัวเอง และต้องให้ความเป็นธรรมว่านักเตะหลายคนที่ติดทีมมา ต่างทำผลงานได้ดีกับสโมสร เพียงแต่ในเกมระดับชาติมาตรฐานหลายคนยังห่างจากที่อิชิอิต้องการอยู่มากเท่านั้นเอง
ทีนี้จะเกิดคำถามต่อมาว่า ในวันที่ฟอร์มของหนุ่มๆ เป็นแบบนี้ อิชิอิและสมาคมฯ คาดหวังอะไรในอาเซียนคัพเดือนหน้า
คำตอบคือทั้งมาดามแป้งในฐานะนายกสมาคมฯ และอิชิอิ ‘มองถึงแชมป์’ ครับ
“จากสองเกมอุ่นเครื่องในเดือนนี้ เราเห็นอะไรหลายๆ อย่าง ว่าจะเราต้องฝึกซ้อมกันให้ได้มากกว่านี้ ต้องพยายามปรับปรุงแก้ไข เราต้องมองหาทางยกระดับขุมกำลัง แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าเรามีระยะเวลาอยู่เพียงเท่านี้ สำหรับอาเซียนคัพ เราอยากที่จะคว้าแชมป์มาครองให้ได้ครับ”
นี่คือคำพูดของอิชิอิกับเป้าหมายในอาเซียนคัพที่จะมาถึง
จากผลงานของนักเตะชุดอุ่นเครื่อง 2 เกมนี้ ค่อนข้างเป็นที่ประจักษ์ว่า อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสไปต่อกับทีมในศึกชิงแชมป์อาเซียน และเห็นได้ชัดว่าทีมอาจจะยังต้องการนักเตะมากประสบการณ์ นักเตะที่มีความสามารถเฉพาะตัวเข้ามาขับเคลื่อนเกมให้กับทีม
เพราะเกม 2 นัดที่เต็มไปด้วยดาวรุ่งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าระบบเกมอย่างเดียวยังทำให้ไทยเอาชนะทีมในอาเซียนไม่ได้ทุกทีม
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า อิชิอิจะพานักเตะเบอร์เก๋าอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ (31 ปี), ธีราทร บุญมาทัน (34 ปี) และ ธีรศิลป์ แดงดา (36 ปี) กลับมาติดทีม เพราะเป็นไปได้ยากที่สโมสรต้นสังกัดจะปล่อยตัวมาติดทีมหนนี้
ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์หินของอิชิอิและทีมงาน ต้องกลับไปทบทวนแผนการเล่นของทีม หากยังเลือกหนีบนักเตะส่วนใหญ่จากชุดเสมอ 2 เกมนี้ไปลุยอาเซียนคัพทั้งที่ยังมีฟอร์มแบบนี้ เขาควรจะแก้ที่ตรงไหน
และเป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะจับมือกับสมาคมฯ นำโดยมาดามแป้ง เข้าไปพูดคุย เข้าไปสู่ขอนักเตะฝีเท้าฉกาจ มากประสบการณ์ เพื่อมาเติมทีมสำหรับทัวร์นาเมนต์นี้ หากมองถึงแชมป์จริงๆ
แม้การเสมอ 2 เกมนี้จะแลกด้วยการถูกลบคะแนนบน FIFA Rankings ประมาณ 2-3 แต้ม
แต่ผลลัพธ์นี้ถือเป็นเครื่องเตือนชั้นดีว่า ไทยเราไม่ได้เป็นทีมที่มีคุณภาพดีขนาดนั้น โดยเฉพาะวันที่อยากก้าวข้ามอาเซียน เพื่อมองไประดับเอเชีย
ถ้าระบบการทำงานฟุตบอลไทยยังเป็นแบบนี้ เราพร้อมมองแบบนั้นจริงหรือ…?