×

กองทัพเรือสรุปเหตุการณ์เรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทย พร้อมจัดหน่วยลาดตระเวนดูแลประมงฝั่งน่านน้ำไทยใกล้ชิด

โดย THE STANDARD TEAM
01.12.2024
  • LOADING...

วันนี้ (1 ธันวาคม) พล.ร.อ. พาสุกรี วิลัยรักษ์ โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยถึงกรณีเรือรบเมียนมาใช้อาวุธต่อเรือประมงไทย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 ได้รับแจ้งจากเรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 00.45 น. ว่า ขณะที่เรือกำลังทำการประมงร่วมกับกลุ่มเรือประมงบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเกาะพยาม จังหวัดระนอง กลุ่มเรือประมงถูกเรือรบเมียนมาใช้อาวุธ โดยตัวเรือได้รับความเสียหาย น้ำเข้าเรือปริมาณมาก และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 2 คน เรือรบเมียนมาเข้าจับกุมเรือประมงไทยจำนวน 1 ลำคือ เรือ ส เจริญชัย 8 โดยมีลูกเรือจำนวน 31 คนถูกจับกุมไปยังเกาะย่านเชือก ประเทศเมียนมา 

 

ในการนี้ทัพเรือภาคที่ 3 โดย พล.ร.ท. สุวัจ ดอนสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 สั่งการให้เรือ ต.274 ให้การช่วยเหลือเรือประมงที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงเข้าค้นหาและช่วยเหลือลูกเรือประมงดวงทวีผล 333 ที่ได้รับบาดเจ็บและพลัดตกน้ำ 

 

ซึ่งผลการค้นหาพบว่ามีผู้เสียชีวิต 1 คน คาดว่าเกิดจากการสำลักน้ำขณะกระโดดน้ำหนี และผู้รับบาดเจ็บ 2 คนคือ ศรีเพ็ชร บุตรทัด อายุ 44 ปี ทำหน้าที่ไต๋เรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ และลูกเรือชาวเมียนมาไม่ทราบชื่อ ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกระแสไฟฟ้าช็อตตามร่างกาย

 

โดยได้นำผู้บาดเจ็บทั้ง 2 คนมาส่งที่ท่าเทียบเรือน้ำลึกจังหวัดระนอง เพื่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดระนองต่อไป โดยมอบให้ศูนย์ประสานงานชายแดนทางทะเลไทย-เมียนมา ส่งกำลังพลเข้าไปร่วมสังเกตการณ์และช่วยเหลือในการนำส่ง  

 

สรุปการช่วยเหลือ ช่วยเรือประมงทั้งหมดจำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือดวงทวีผล 333 มีลูกเรือ 29 คน (เสียชีวิต 1 คน) และเรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 มีลูกเรือ 33 คน (บาดเจ็บ 2 คน) 

 

พล.ร.อ. พาสุกรี กล่าวว่า การดำเนินการในขั้นตอนต่อไปคือการประสานงานตามกลไกของคณะกรรมการ เพื่อเจรจานำเรือและลูกเรือประมงกลับสู่ประเทศไทย โดยในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 ได้สั่งการให้ศูนย์ประสานงานประมงชายแดนทางทะเลไทย-เมียนมา ติดต่อประสานงานกับผู้บังคับการสถานีเรือ 58 เกาะย่านเชือก ประเทศเมียนมา เพื่อติดตามสถานการณ์เรือประมงและลูกเรือที่ถูกจับกุม 

 

ซึ่งทราบว่าเรือรบเมียนมาดำเนินการจับกุมเรือประมงไทยจำนวน 1 ลำจริง โดยทางการเมียนมากล่าวอ้างว่ามีกลุ่มเรือประมงประมาณ 15 ลำเข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำเมียนมา และจากการตรวจสอบพบว่า เรือประมงทั้ง 15 ลำเป็นเรือจากอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ที่เข้ามาหากินทำการประมงในเขตน่านน้ำของจังหวัดระนอง ซึ่งอาจไม่ชำนาญพื้นที่บริเวณดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา จังหวัดระนอง (ประธาน TBC ฝ่ายไทย) จะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา จังหวัดเกาะสอง (ประธาน TBC ฝ่ายเมียนมา) 

 

เพื่อพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงที่ถูกจับกุม พร้อมทั้งขอให้ปล่อยตัวลูกเรือสัญชาติไทยทั้ง 4 คนพร้อมเรือประมงกลับประเทศไทย นอกจากนี้เลขานุการ TBC ฝ่ายไทยประสานงานทางข้างไปยังเลขานุการ TBC ฝ่ายเมียนมาแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานกับผู้บัญชาการยุทธศาสตร์ จังหวัดเกาะสอง

 

พล.ร.อ. พาสุกรี กล่าวต่อว่า ทัพเรือภาคที่ 3 ยังคงจัดกำลังลาดตระเวนในพื้นที่ และยืนยันการรักษาอธิปไตยในน่านน้ำไทย เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับชาวประมงที่ทำกินโดยสุจริต ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 เพิ่มเติมกำลังโดยจัดเรือ ต.993 ออกเรือลาดตระเวนในพื้นที่เพื่อรักษาความปลอดภัยในเขตน่านน้ำไทย และให้หน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 451 ตรวจการณ์ติดตามเรือในพื้นที่ และแจ้งเตือนให้กลุ่มเรือประมงในพื้นที่รับทราบและหลีกเลี่ยงการทำการประมงในพื้นที่ที่อาจไม่ปลอดภัย พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ 

 

โดยประสานให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดระนอง, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดระนอง, ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดระนอง, สมาคมประมงจังหวัดระนอง รวมถึงเครือข่ายประมงในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ให้เรือประมงไทยทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย โดยไม่เข้าไปทำการประมงในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด

 

อ้างอิง:

  • สำนักงานโฆษกกองทัพเรือ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X