หนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นกับคอหนังในบ้านเราเวลานี้คือ ‘โรงหนังจะไปต่อได้ไหม’ เพราะนอกจากถูกตีขนาบจาก ‘แพลตฟอร์มสตรีมมิง’ ที่ทุ่มเม็ดเงินลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างคอนเทนต์สำหรับดึงดูดคนดู อย่างปีหน้ามีข่าวแว่วๆ ว่า Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ทุ่มงบผลิต Original Content ในเอเชียเพิ่มขึ้น 2 เท่า คาดว่าเม็ดเงินก้อนดังกล่าวอาจมีมูลค่าอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 หมื่นล้านบาทด้วยกัน
ในปี 2563 นี้เอง อุตสาหกรรมหนังยังเจอวิกฤตโควิด-19 เข้าไปจนโรงหนังต้องปิดชั่วคราวนานนับเดือน แม้จะกลับมาเปิดแล้วก็ไม่ได้คึกคักเหมือนที่ผ่านมา เพราะกลายเป็นว่าไม่มีหนังที่จะเข้าฉาย โดยเฉพาะหนังฟอร์มยักษ์จากค่ายใหญ่ที่เลื่อนหนีโรคระบาดกันอุตลุด อีกทั้งคนดูหนังบางส่วนยังกังวลเรื่องความปลอดภัย จึงเลี่ยงที่จะเข้าไปดูหนังในโรง
ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD
ปีแห่ง The Dark Year และวิกฤตที่สุดในรอบ 15 ปี
วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ยกให้ ‘ปี 2563 เป็น The Dark Year เพราะธุรกิจโรงหนังจอมืด ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก’ และวิกฤตที่เกิดขึ้นยังทำให้เมเจอร์ ‘ขาดทุน’ เป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี โดยจากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ช่วง 9 เดือนของปี 2563 เมเจอร์มีรายได้รวม 2,879.67 ล้านบาท และขาดทุน 855.02 ล้านบาท
ขณะที่ จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด หรือ GDH กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า “ปีนี้ถือเป็นปีที่หนักหนาที่สุดในรอบ 15 ปีของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทย” เพราะในภาพรวมรายได้หายไปมากกว่า 70% ปกติแล้วมูลค่าของอุตสาหกรรมดั่งกล่าวอยู่ที่ราว 4-5 พันล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้ประมาณ 1 พันล้านบาทเป็นของหนังไทย
แต่สำหรับปี 2563 ตัวเลขล่าสุดจนถึงช่วงต้นเดือนธันวาคม มูลค่าที่เคยสูงลิบกลับลดลงมาเหลือประมาณ 700 กว่าล้านบาท และคาดว่าจะปิดปีที่โหดร้ายนี้ด้วยมูลค่าราว 1 พันล้านบาทเท่านั้น
แต่เดิมสำหรับ ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ ได้วางแผนไว้ว่าปี 2563 จะเป็น ‘ปีทอง’ เพราะประเมินว่ารายได้ในช่วงที่ผ่านมาเติบโตทุกปี สะท้อนจากยอดขายตั๋วหนัง ปี 2560 ขายได้ 29.5 ล้านใบ, ปี 2561 ขายได้ 33 ล้านใบ และ ปี 2562 ขายได้ 36.5 ล้านใบ ดังนั้นปีนี้คาดว่าจะสามารถทำได้ 40 ล้านใบได้ไม่ยาก แต่กลับไม่ถึงฝั่งฝันเพราะเกิดวิกฤตที่ชื่อว่า ‘โควิด-19’ เสียก่อน
ท้ายที่สุดเมเจอร์จึงประเมินว่ายอดขายตั๋วหนังในปี 2563 จะหายไปราว 60% ขณะที่ SF อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมโรงหนังได้ประเมินเช่นเดียวกันว่า ตัวเลขตั๋วหนังจะหายไปไม่น้อยกว่า 50%
ปี 2564 ต้องกลับมาเป็น ‘ปีทอง’
แต่ถึงกระนั้น ทั้งเมเจอร์, SF และ GDH ต่างก็เชื่อว่าอุตสาหกรรมโรงหนังไทยจะยังไม่ตายอย่างแน่นอน แม้เจอความท้าทายจากทั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิง หรือโควิด-19 ก็ตาม ด้วยเชื่อว่า อย่างไรก็มีคนที่พร้อมจะเข้าไปดูในโรง สะท้อนจากหนังไทยที่กวาดรายได้ถล่มทลายอย่างเรื่อง ‘อีเรียมซิ่ง’ ซึ่งขณะนี้กวาดรายได้ไปแล้ว 200 ล้านบาท
“ด้วยความที่โตมาในยุคที่เชื่อว่าดูหนังในโรงดีกว่าเยอะ เพราะจอใหญ่เห็นภาพ ได้ยินเสียง สัมผัสอรรถรสของความเต็มอิ่ม แม้จะมีสมาร์ทโฟนหรือจอทีวีที่ใหญ่ขึ้น แต่เชื่อว่าสำหรับคอหนังแล้ว เขารอดูหนังที่อยากดูในโรง แต่ทั้งหมดอยู่ที่คอนเทนต์ ถ้า ‘โดน’ คนก็พร้อมจะเข้าไปดูในโรง” แม่ทัพ GDH กล่าว
ตอนนี้ความหวังของคนในอุตสาหรรมมองว่า ปี 2564 จะกลับมาเป็น ‘ปีทอง’ อย่างแน่นอน เพราะจะมีหนังเข้าฉายในปีหน้ามากถึง 260 เรื่อง เป็นหนังฮอลลีวูดประมาณ 210 เรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นหนังที่เลื่อนฉายจาก ปี 2563 และหลายเรื่องเป็นหนังที่หลายคนรอคอยการกลับมาฉาย ซึ่งคาดว่าจะทำเงินทั้งสิ้น เช่น Black Widow, Godzilla VS Kong, Fast & Furious 9, Mission: Impossible 7, Spider-Man Sequel และ The Matrix 4 เป็นต้น
ขณะเดียวกันจะเป็นหนังไทยประมาณ 50 เรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจับตา โดยเฉพาะค่ายเมเจอร์ที่คาดว่าจะใช้เงิน 350-400 ล้านบาท สำหรับการลงทุนสร้างภาพยนตร์ไทยประมาณ 20-25 เรื่อง จากบริษัทผลิตภาพยนตร์ไทยในเครือเมเจอร์ 6 ค่าย ได้แก่ M Pictures, M๓๙, Transformation Film, CJ MAJOR Entertainment, TAI MAJOR และ รฤก โปรดั๊กชั่น ถือเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากที่เคยผลิตเพียงปีละ 10-12 เรื่อง
และนอกจากค่ายในเครือเมเจอร์แล้ว ค่ายอื่นๆ ก็ยังมีการสร้างอยู่ เช่น GDH 4 เรื่อง, สหมงคลฟิล์ม 7 เรื่อง และ ไฟว์สตาร์ 3 เรื่อง
“ปีนี้ GDH ทำหนัง 1 เรื่อง ส่วนปีหน้าเราทำ 4 เรื่อง วางไทม์ไลน์เข้าฉายไตรมาสละ 1 เรื่อง เราไม่ชะลอการลงทุน แต่สิ่งที่ต้องมองคือ ทำแล้วจะได้ฉายไหม เพราะถ้าไม่ได้ฉายหนังจะเก่า ด้วยตัวหนังมีช่วงเวลาของตัวเองซึ่งจะสร้างไปตามความสนใจในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นความสนใจในช่วงเวลาถัดไป” จินากล่าว
ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD
ไม่ใช่ ‘หนังไทย’ ทุกเรื่องที่จะประสบความสำเร็จ
แต่ละปีมีหนังไทยเข้าฉายไม่น้อยกว่า 40 เรื่อง แต่กลับสามารถนับด้วยนิ้วได้เลยว่ามีเรื่องไหนที่ประสบความสำเร็จบ้าง โดยเฉพาะการทำรายได้เกิน 50 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องที่ยากมากๆ
จินาให้มุมมองว่า การจะทำหนังไทยให้ประสบความสำเร็จและสามารถมีรายได้หลัก 100 ล้าน มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งตัวหนังที่ต้องทำให้ดี ทำให้คนดูอยากดู เพราะว่าหากไม่อยากดู ทำอย่างไรเขาก็ไม่ออกมาดู
“กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่ใช่แค่ภาวะเศรษฐกิที่ทำให้อารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยไม่มี ขณะเดียวกันคนอยู่กับมือถือตลอดเวลา ดังนั้นหนังต้องทำให้คนรู้สึกว่าการไม่ได้ดูจะทำให้คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ซึ่งกระบวนการทำโปรโมตต้องเป็นสิ่งที่ตามมา”
Marketing Communication ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ เพราะแม้จะมีหนังดีที่คอหนังน่าจะชอบ แต่ถ้าไม่เกิดการรับรู้ในวงกว้างก็จบกัน ซึ่งการโปรโมตนั้นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่นอกจากจะมีตัวอย่างหนังที่ต้องตัดให้โดนแล้ว ยังมีกระบวนการอื่นๆ ที่ต้องเพื่อให้เกิด ‘กระแส’ ซึ่งล้วนแล้วใช้ ‘เงิน’ ในการลงทุนทั้งสิ้น
สำหรับ GDH หนัง 1 เรื่องใช้งบลงทุนตั้งแต่ 20-30 ล้านบาท ขณะที่การโปรโมตใช้อีก 20 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของเม็ดเงินที่ลงทุนสร้างหนัง
“วิธีนี้อาจดูเป็นทริกเกอร์ซึ่งการเลียนแบบเกิดขึ้นได้ยาก ไม่ใช่ว่าเราทำแบบนี้แล้วสำเร็จ และนำไปใช้จะสำเร็จในเรื่องต่อไป ตัวเราเองแต่ละเรื่องยังโหดหินทุกเรื่อง มี How To หลายอย่าง ศาสตร์และศิลป์ต้องมาคู่กัน”
จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการสร้างหนังในโรงแล้ว ปีหน้า GDH กำลังชิมลางที่จะสร้าง Original Content ลงใน Netflix โดยคาดว่าอาจจะได้เห็นก่อน 1 เรื่อง จินามองว่าการทำงานกับ Netflix จะช่วยให้ GDH สามารถขยายฐานคนดูไปสู่กลุ่มพรีเมียม ซึ่งปกติแล้วอาจเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยดูหนังไทย
และไม่ได้มีเพียง GDH เท่านั้นที่มอง ‘แพลตฟอร์มสตรีมมิง’ เป็นพันธมิตร ไม่ใช่คู่แข่ง เพราะเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ก็มองมุมนี้เช่นเดียวกัน วิชามองว่าสตรีมมิงเป็นอีกหนึ่งรายได้ใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนส่วนอื่นๆ ที่น้อยลงไป โดยเฉพาะในส่วนของ DVD และ VCD
ต่อไปหนังไทยทุกเรื่องที่สร้างโดยเครือเมเจอร์จะถูกขายให้กับแพลตฟอร์มสตรีมมิง โดยการขายของเมเจอร์นั้น วิชาย้ำว่าจะไม่มีการผูกปินโตไว้กับค่ายใดค่ายหนึ่ง แต่จะขายให้กับค่ายที่เสนอราคาสูงที่สุด
โดยที่ผ่านมามีขายไปแล้วทั้ง ‘โปรเม อัจฉริยะ|ต้อง|สร้าง’ ให้กับ Netflix ในราคา 6 แสนดอลลาร์ และ แสงกระสือ ให้กับ Netflix เช่นเดียวกันในราคา 5.5 แสนดอลลาร์ เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล