×

สมการอันตรายของระบบการเงินไทย และไฟที่แบงก์ชาติต้องดับก่อนเผาบ้านทั้งหลัง

12.07.2019
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read

 

  • แบงก์ชาติย้ำว่าการใช้ Macro Prudential กับนโยบายการเงินไทยเป็นเรื่องที่จำเป็น ภาคครัวเรือนคือส่วนที่เปราะบางและน่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้
  • ยังมีระเบิดเวลาที่รออยู่ในวันข้างหน้า และต้องเร่งเก็บกู้ก่อนจะกระทบกับเสถียรภาพการเงินของประเทศในอนาคตอันใกล้

 

“คนรวยเพิ่มทรัพย์สิน คนชั้นกลางเพิ่มหนี้สิน โดยเข้าใจว่าเป็นทรัพย์สิน”

 

แม้ชื่อของ โรเบิร์ต คิโยซากิ และหนังสือ พ่อรวยสอนลูก จะคลายมนต์ขลังลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประโยคดังกล่าวเป็นความจริงที่ยังทิ่มแทงใจผู้อ่านได้เจ็บแสบอยู่เสมอ เพราะความจริงก็คือความจริง

 

ตัวเลข ‘หนี้ครัวเรือน’ ของประเทศไทยสิ้นไตรมาส 4/2561 สูงถึง 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 6% คิดเป็นสัดส่วนที่มากเทียบเท่า 78.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในความเสี่ยงต่อระบบการเงินไทย (Systemic Risks) ที่ทางผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยเคยออกมาเตือนอยู่บ่อยครั้ง และดูเหมือนแบงก์ชาติจำเป็นต้องออกโรงแตะเบรกด้วยตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

 

THE STANDARD คุยกับ ดร.สรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขยายความและชวนผู้อ่านร่วมกวาดสายตามองไปโดยรอบระบบเศรษฐกิจไทยว่า มีระเบิดเวลา (Timebomb) ซุกซ่อนอยู่หรือไม่   

 

สมการอันตรายสูตรที่ 1: 

Easy Credit + Bad Balance Sheet = Timebomb

 

*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย  

 

“ทุกวิกฤตการณ์ทางการเงิน (Financial Crisis) ย่อมต้องมีการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง (Massive Default) เกิดขึ้น ถ้ายังใช้หนี้ได้ ตลาดก็ยังทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

ดร.สรา เล่าว่าการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงินนั้น ต้องพิจารณาความไม่สมดุลของระบบการเงินที่อาจเกิดได้ใน 7 มิติ เสมือนกำแพงบ้านที่มี 7 ด้าน แต่ละด้านมีจุดที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างมีนัยสำคัญ ผู้กำกับดูแลก็เหมือนทีมวิศวกรที่หมั่นตรวจตราดูความแข็งแรง ให้กำแพงยังตั้งตระหง่านได้เสมอ แต่ถ้าเกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) ขึ้น จนทำให้เสถียรภาพด้านใดด้านหนึ่งมีปัญหา ก็อาจจะลุกลามไปถึงด้านอื่นๆ ได้ โดยพิจารณาดังนี้

 

  1. ภาคครัวเรือน
  2. ภาคธุรกิจ 
  3. ภาคอสังหาริมทรัพย์
  4. ภาคสถาบันการเงิน
  5. ภาคตลาดเงิน
  6. ภาคต่างประเทศ
  7. ภาคการคลัง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

การสัมภาษณ์ครั้งนี้ THE STANDARD ไม่ได้สอบถามรายละเอียดเรื่องความเสี่ยงของภาคการคลังแต่อย่างใด เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำกับดูแลอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติคือการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ดร.สราชี้ว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน (Financial Crisis) จะต้องมีการผิดนัดชำระหนี้ (Massive Default) เป็นองค์ประกอบสำคัญ หากครัวเรือนหรือภาคธุรกิจยังมีกำลังพอที่จะชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ได้ ระบบก็จะยังทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“เวลาดูเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ ต้องดูทั้งวันนี้และในอนาคต ว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าวันนี้ยังไม่เกิด มันอาจจะเป็นระเบิดเวลาของอนาคตก็ได้ เราพิจารณากันหลายมิติ สิ่งที่สำคัญคือเกิดปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) หรือไม่ ข้อมูลที่มีอยู่นั้นเท่ากันทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้หรือเปล่า คนที่สมควรได้รับเงินกู้ก็ควรจะได้รับอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ควรจะได้กู้ก็ไม่ควรได้ ตรงนี้สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า”

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.สรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ความเคลื่อนไหวสำคัญของแบงก์ชาติในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดทั้งเสียงตอบรับและเสียงวิจารณ์ คือการกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value Ratio: LTV) ของธนาคารพาณิชย์ให้สูงขึ้นกว่าเดิม นั่นคือผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องวางเงินดาวน์สูงขึ้น เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ และแตะเบรกการปล่อยกู้สินเชื่อบ้านของบรรดาธนาคาร ที่ทำให้การกู้เงินซื้อที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องง่ายดายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตามมาตรการดูแลเสถียรภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ (Macro Prudential) ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนสัญญาณบางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในระบบการเงินไทย

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

“หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยตอนนี้สูงมาก งบดุล (Balance Sheet) ไม่ค่อยดี มันต้องดูทั้งตัวแปรเชิงสต๊อก (Stock Variable) อย่างอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม (Debt To Income Ratio) หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt To Financial Asset Ratio) และตัวแปรเชิงกระแส (Flow Variable) อย่างภาระผ่อนต่อเดือนเมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือน ถ้าตัวแปรเชิงกระแสไม่ดี แต่เขามีตัวแปรเชิงสต๊อกหรือมรดกเยอะหรือออมมาเยอะ ก็อาจจะยังโอเค ต้องดูทั้งสองตัวคู่กันไป”

 

‘สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ’ (Special Mention Loan: SM) หรือหนี้ที่ผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน เป็นตัวเลขสำคัญที่พอจะใช้ตรวจสอบอาการของระบบเศรษฐกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนได้เป็นอย่างดี แบงก์ชาติต้องคอยติดตามตลอดว่าอัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นหรือไม่ เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของอัตราหนี้เสียใหม่ของทั้งระบบที่ตอนนี้กำลังเป็นประเด็นสำคัญ

 

“ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยขยายตัวประมาณ 4% แต่ทำไมหนี้เสียของพอร์ตสินเชื่อบ้านกลับเพิ่มขึ้นได้ทั้งที่เศรษฐกิจดี สิ่งที่พบและนำมาสู่การออกมาตรการ LTV ก็คือมาตรฐานการให้สินเชื่อ (Credit Standard) หละหลวม ปล่อยกู้กันง่าย (Easy Credit) แข่งขันรุนแรง มีสินเชื่อเพิ่มเติม (Top Up) หรือเงินคืน (Cashback) ให้อีกต่างหาก”

 

คำถามที่ยังคาใจภาคธุรกิจและประชาชนคือ ทุกวันนี้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์จริงหรือไม่ ความหมายที่แท้จริงของฟองสบู่ (Bubble) ในมุมของแบงก์ชาติคืออะไร และส่งผลกระทบไปถึงภาคส่วนอื่น (Spill Over) แค่ไหน ดร.สราชี้ว่าภาคครัวเรือนเชื่อมโยงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระดับที่สูง และตอนนี้ภาคครัวเรือนก็เป็นด้านที่เปราะบางที่สุดเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

“ถ้าเกิดฟองสบู่ นั่นคือราคาสินทรัพย์ถีบตัวสูงขึ้นไปเยอะมากๆ จนเกินกว่าที่ควรจะเป็น แต่สำหรับประเทศไทย ถ้าเราดูราคาจริงของมัน เราเสนอเงินคืนกลับให้คนซื้อหรือให้เข้าอยู่ก่อนฟรี แบบนี้คือราคาติดลบหรือเปล่า มันคือการลดราคานั่นเอง สถานการณ์ตอนนี้คืออุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ต่างหาก ซึ่งต้นตอของอุปทานส่วนเกินเริ่มจากผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดีมากในช่วงปี 2555-2557 ผู้ประกอบการก็พากันขยายโครงการและประเมินอุปสงค์สูงไป (Overestimate) สุดท้ายต้องไปพึ่งตลาดต่างชาติ มีลด แลก แจก แถม มีเงินคืนหรือการันตีผลตอบแทน มันก็คือการลดราคา สะท้อนเรื่องอุปทานส่วนเกินชัดเจน”

 

เมื่อมีจำนวนที่อยู่อาศัยมากกว่าความต้องการของผู้กู้ที่มีกำลังซื้อเพียงพอ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จึงเริ่มมองหาผู้ซื้อกลุ่มอื่นในระดับกลางหรือต่ำกว่าแทน (Search for borrower) ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของปัญหา เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยต่ำกว่า รายได้น้อยกว่าและเงินออมน้อยกว่า ทำให้คนที่จะกู้ซื้อบ้านต้องได้รับ LTV ที่สูงเพราะไม่มีเงินออม ต้องเลือกระยะเวลาผ่อนให้นานเพื่อให้ภาระผ่อนต่อเดือนต่ำ สุดท้ายกลุ่มนี้ก็มีหนี้สูงและเป็นหนี้นาน (Bad Balance Sheet) ขณะที่ธนาคารก็ประเมินว่าราคาอสังหาริมทรัพย์น่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี หากยึดทรัพย์และขายทอดตลาดก็จะได้ส่วนเพิ่มที่มากขึ้นอยู่ดี 

 

“ถ้าปล่อยกู้กันหละหลวม บวกกับงบดุลฝั่งครัวเรือนไม่ดี อาจจะทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) ไม่ผ่าน ถ้าเจอการเปลี่ยนแปลงของรายได้ (Income Shock) จะเกิดหนี้เสียเยอะตามมา เป็นเรื่องความไม่สมมาตรของข้อมูล แบงก์ปล่อยกู้ให้กับคนที่ไม่ควรได้รับเงินกู้ อาการแบบนี้คือระเบิดเวลา” 

 

การทดสอบภาวะวิกฤต คือเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบความแข็งแกร่งที่มักใช้ประเมินสถาบันการเงิน มีจุดหมายในการประเมินความเสี่ยงขององค์กรหรือภาคส่วนนั้นๆ และประเมินความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตการณ์ เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นๆ ทั้งความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงที่มูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินลดลง หรือความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เป็นต้น 

 

แม้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะพูดตรงกันว่าราคาที่ดิน และที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต และการปรับฐานด้านราคา (Price Correction) ก็คงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยง่ายๆ แต่ ดร.สรายกตัวอย่างของตลาดบ้านสหรัฐอเมริกาช่วงวิกฤตซับไพรม์มาอธิบายเรื่องนี้ได้น่าสนใจทีเดียว

 

“ตอนเกิดวิกฤตซับไพรม์ (พ.ศ. 2550-2552) มี NINJA Loan (No Income, No Job, No Assets) เยอะมาก แบงก์ก็คิดว่าราคาบ้านมีแต่จะปรับขึ้น จึงปล่อยกู้หละหลวมมาก พอธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยตอนปี พ.ศ. 2547-2548 ก็เกิดช็อกของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Shock) ขึ้น และตามมาด้วยวิกฤตการณ์ในภายหลัง คนจ่ายหนี้บ้านไม่ไหวกันเยอะมาก บ้านถูกยึดเยอะมาก ขายไม่ออก สุดท้ายก็เกิดการปรับฐานของราคา มีอุปทานส่วนเกิน ราคาตก สุดท้ายก็กระทบกับภาคส่วนอื่นๆ”

 

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยในปัจจุบัน แม้จะยังไม่เกิดปัญหาใหญ่หรือวิกฤตการณ์ แต่ก็เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติที่จะต้องเคลื่อนไหวผ่านเครื่องมือในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อรับมือกับสัญญาณอันตรายที่ดังขึ้นเรื่อยๆ 

 

“ตอนนี้เราไม่ได้มีวิกฤตอะไร แต่เราเห็นว่ามีการปล่อยกู้ที่หละหลวม และงบดุลไม่ดีในภาคครัวเรือน น่าคิดว่าอาจจะไม่ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤตถ้าเจอกับช็อกที่แรงๆ แบงก์ชาติจึงเห็นว่าควรออกมาตรการ Macro Prudential เพื่อกันไว้ดีกว่าแก้ เราจับตามานานพอสมควรแล้ว ข้อมูลที่เรามีคือพอร์ตสินเชื่อบ้าน ซึ่งเราเห็นเป็นรายสัญญาเลย พอออกมาตรการ LTV มา มีสถาบันการเงินบางแห่งเห็นด้วยด้วยซ้ำ เพราะเห็นว่าการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อมีมากไป บางกรณีให้ LTV เกิน 100% จึงควรมีคนกลางอย่างแบงก์ชาติเข้ามาดูแล เราน่าจะได้เห็นมาตรการ Macro Prudential ที่ผสมผสานกับนโยบายการเงินมากขึ้นในอนาคตจากนี้”

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

นอกจากความอยากที่เกินพอดี เกินกว่าฐานะ และกำลังที่มีจะก่อให้เกิดหนี้สินที่เสี่ยงแล้ว สิ่งเร้าอีกรูปแบบที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือความโลภที่ถูกปลุกเร้าจากผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมายาวนาน ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนสถานะของตนเองมาเป็นนักเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ด้วยความเชื่อว่าที่ดินมีอยู่จำกัด และราคาที่อยู่อาศัยมีแต่จะแพงขึ้น

 

ซึ่งเป็นมุมมองเพียงด้านเดียวของเหรียญเท่านั้น

 

สมการอันตรายสูตรที่ 2: 

Search for Yield + Asymmetric Information = Underpricing of Risk 

 

ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของสถาบันการเงินคือ ความไม่สมมาตรของข้อมูล ธนาคารและบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ฝากเงินและผู้กู้เงิน มีข้อมูลที่ไม่เท่ากัน ทำให้มีผู้ที่มีข้อมูลมากกว่าได้ประโยชน์มากกว่าผู้ที่มีข้อมูลน้อยกว่า เกิดปัญหาการตัดสินใจที่ผิดพลาด (Adverse Selection) ธนาคารอาจปล่อยกู้ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสเป็นหนี้เสีย หรือเกิดพฤติกรรมแห่ทำตามกัน (Rational Herding) ดังเช่นที่สถาบันการเงินแข่งขันปล่อยกู้ให้กับภาคครัวเรือน โดยไม่ได้วิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างเพียงพอ โดยเชื่อว่าราคาของที่อยู่อาศัยจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี 

 

“การที่เราไม่เห็นข้อมูลของอีกฝ่าย ปกติจะทำให้เกิดธุรกรรมน้อยเพราะคนไม่ค่อยอยากจะเสี่ยง แต่ถ้ามีการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพิ่มเข้าไปด้วย (Search for Yield) จะทำให้เกิดธุรกรรมเยอะ และเสี่ยงต่อการที่เขาจะประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป (Underpricing of Risk) สำหรับเมืองไทย อัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ผู้คนก็เริ่มมองหาสินทรัพย์หรือช่องทางอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ภาคครัวเรือนบางส่วนก็เลือกเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ สุดท้ายตัวงบดุลก็แย่ การทำมาตรการ Macro Prudential ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้งบดุลดีขึ้น แต่ยังเป็นการป้องกันพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนหรือเก็งกำไรด้วย”

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ดูเหมือนสิ่งที่แบงก์ชาติกังวลคือความเปราะบางของภาคครัวเรือน ที่อาจจะต้านทานการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงโดยเฉพาะด้านรายได้ (Income Shock) ไปไม่ไหวเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ไม่เพียงแต่สถานการณ์ทางการเมืองที่ทุกฝ่ายต่างกังวลเรื่องเสถียรภาพและเอกภาพของ ‘รัฐบาลประยุทธ์ 2’ ที่ใช้เวลาถึง 3 เดือนในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และถูกซ้ำเติมด้วยพิษสงครามการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจ ก็ส่งผลกระทบมาที่ภาคการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของไทยแล้ว ล่าสุด สำนักเศรษฐกิจทั้งหลายพากันประเมินว่าเป็นไปได้ที่การส่งออกปีนี้จะโตติดลบ และเศรษฐกิจอาจขยายตัวต่ำกว่า 3% 

 

ดร.สราเล่าว่าขณะนี้แบงก์ชาติอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางในการพัฒนามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ โดยพิจารณาจากสัดส่วนรายได้ต่อภาระหนี้ที่ต้องจ่าย (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) เป็นสำคัญ โดยสัดส่วนดังกล่าวจะสะท้อนกำลังในการชำระหนี้ต่อเดือนของผู้กู้ได้ หากมีภาระหนี้สินเยอะแล้ว ธนาคารก็ควรจะระมัดระวังการปล่อยกู้ให้เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการเกิดหนี้เสียในอนาคต อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการดังกล่าวต้องทำอย่างระมัดระวัง หากเข้มงวดเกินความจำเป็น จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งเงินได้ยาก และอาจเลือกกู้เงินนอกระบบแทน ซึ่งอาจจะทำให้สถานการณ์กลับแย่ลงไปอีกก็ได้

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

“เราห่วงเรื่องช็อกของรายได้ (Income Shock) เป็นพิเศษ ตอนนี้มีทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งการเมืองในประเทศที่เราต้องคอยจับตาดูด้วย ภาคครัวเรือนมีปัญหาหลายจุด ที่เห็นชัดสุดคือสัญญาณในตลาดบ้าน ส่วนพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ก็น่าจับตา ธุรกิจนี้แข่งขันกันแรง ลีสซิ่งปล่อยกู้ง่าย หนี้เสียของพอร์ตนี้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน หรือสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ก็เช่นกัน ตอนนี้กลายเป็นแข่งขันปล่อยกู้รถบิ๊กไบค์ กระตุ้นให้คนซื้อกัน ทั้งที่กำลังผ่อนต่อเดือนของเขาอาจจะไม่ไหว” 

 

เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนของทีมวิศวกรที่คอยเงี่ยหูฟัง สอดส่อง และตรวจตรากำแพงของบ้านที่ชื่อ ‘ประเทศไทย’ ในวันที่เจอทั้งปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จนทำให้ภาคการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตติดลบในปีนี้ และโครงสร้างบ้านที่แสนจะเปราะบางจากความไม่มั่นใจเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือสุขภาพของคนในบ้านยังดีอยู่หรือไม่ แข็งแรงพอกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้เพียงไร

 

คลื่นลมพัดแรงขึ้น และยังไม่มีทีท่าว่าฝนจะหยุดตก

 

แม้คำโบราณว่า อยู่ใต้ฟ้า จะกลัวอะไรกับฝน

 

แต่คงไม่มีใครอยากถูกฟ้าผ่ากลางกบาลเป็นแน่

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X