×

เปิด 5 มาตรการสกัดสินค้าจีนทะลัก ‘ภูมิธรรม’ คุมเข้มนอมินี ย้ำ ทุกแพลตฟอร์มต้องจดทะเบียนนิติบุคคล-มีสำนักงานในไทย

28.08.2024
  • LOADING...
สินค้าจีน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ถกด่วน 28 หน่วยงาน เคาะ 5 มาตรการหลักแก้ปัญหา สินค้าจีน นำเข้าราคาถูกและการบริการไม่ได้มาตรฐาน

 

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เกี่ยวกับประเด็นปัญหาแพลตฟอร์ม Temu ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบ และได้ขอให้ช่วยผลักดันให้ Temu เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและลงทุนในไทย เพื่อให้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย แข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งทางจีนได้รับทราบที่จะไปดำเนินการ โดยภูมิธรรมย้ำว่ารัฐบาลไทยจะใช้กฎหมายอย่างเต็มที่และจริงจังเหมือนกับประเทศอื่นๆ ภายใต้กลไกการค้าโลก

 

ล่าสุดวันนี้ (28 สิงหาคม) ภูมิธรรมเปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมแก้ปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำจากต่างประเทศ หารือร่วม 28 หน่วยงานว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปมาตรการที่หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการ 5 มาตรการหลัก แยกเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที และมาตรการยั่งยืน รวม 63 มาตรการย่อย ดังนี้

 

  • ให้หน่วยงานบังคับใช้ระเบียบ/กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร ทั้งการสำแดงพิกัดสินค้า การชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม การตรวจมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบของ Cyber Team ตรวจสอบสินค้ามาตรฐานจำหน่ายออนไลน์ ในส่วนการประกอบธุรกิจ มีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบผู้ประกอบการ/ผู้ให้บริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยต้องส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงิน พร้อมกับการขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

  • ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าในอนาคต ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด ‘ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย’ พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย นอกจากนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับให้ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด

 

  • มาตรการภาษี โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทย ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ในขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศเตรียมการจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

 

  • มาตรการช่วยเหลือ SMEs ไทย โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, กรมพัฒนาชุมชน, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าและการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ให้สามารถขยายการส่งออกผ่าน 9 แพลตฟอร์ม E-Commerce พันธมิตรในประเทศเป้าหมาย

 

  • สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมการค้าผ่านช่องทาง E-Commerce ให้เป็นอีกช่องทางในการผลักดันสินค้าไทยผ่าน E-Commerce ไปตลาดต่างประเทศให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค

 

“จากปัญหาที่มีความกังวลในสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามา ทั้งปัญหาที่ไม่ได้มาตรฐานหรือผิดกฎหมาย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้ผมเป็นประธานในการประชุมแก้ไขปัญหา และให้รายงาน ครม. ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม“ ภูมิธรรมกล่าว

 

คุมเข้มเพิ่มความถี่ในการเปิดตู้ พร้อมตั้งวอร์รูมรายงานทุก 2 สัปดาห์

 

ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะมีการรายงานผลที่ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานรับรายงานทุกสัปดาห์ และประชุมร่วมกันทุก 2 สัปดาห์

 

หากมีความจำเป็นก็จะทำงานให้เข้มข้นขึ้น สินค้าที่จะจำหน่ายในไทยต้องมีคุณภาพ ถูกกฎหมาย ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล และจะตรวจให้เข้มข้นขึ้น ถ้ามีปัญหาอาจเพิ่มความถี่ในการเปิดตู้

 

โดยจะมีการทบทวนปรับกฎระเบียบเพิ่มเติม รักษาผลประโยชน์ประเทศอย่างเต็มที่ โดยมาตรการ/แนวทางที่ออกมาจะไม่ถือเป็นการกีดกันทางการค้า แต่จะคำนึงถึงความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมกับรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมและธุรกิจทุกฝ่ายอย่างสมดุล สนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ ซึ่งทุกประเทศมีกลไกดูแลสินค้าผู้ประกอบการในประเทศของตัวเอง” ภูมิธรรมกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising