หลังจากเกิดกระแสข่าวว่า ปลาทูในแถบอ่าวไทยที่เกิดและเพาะพันธุ์เองตามธรรมชาติกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต อาจถึงขั้นสูญพันธ์ุ หากชาวประมงยังจับหรือบริโภคปลาทูที่ยังโตไม่เต็มวัยต่อไป
ล่าสุด (21 มิ.ย.) อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ออกมาชี้แจงแนวทางการดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทู ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาตั้งแต่ในอดีต โดยกรมประมงมีความพยายามที่จะทำการเพาะพันธุ์และเลี้ยงปลาทู เพื่อให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทย แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาให้สามารถเลี้ยงได้ในเชิงเศรษฐกิจเพื่อที่จะนำไปส่งเสริมเกษตรกรประกอบเป็นอาชีพในอนาคต
จากการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรปลาทูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ‘ปลาทูในอ่าวไทย’ ลดลงเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้กรมประมงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้ร่วมมือกับชาวประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน เพื่อที่จะหามาตรการควบคุมการทำประมง เพื่อทำให้ปลาทูในอ่าวไทยมีจำนวนมากขึ้น โดยเป็นมาตรการที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการ ‘ปิดอ่าว’ ในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 พฤษภาคม 2562 ที่มีอยู่เดิมทุกปี
ทั้งมาตรการในการควบคุมการทำการประมงที่มีโอกาสที่จับพ่อแม่พันธุ์ปลาทูก่อนที่จะมีการวางไข่ โดยการกำหนดขนาดตาอวนติดตาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ในช่วงเวลา ‘ปิดอ่าว’ และมาตรการในการควบคุมการทำประมงที่มีโอกาสจับลูกปลาทูที่เพิ่งเจริญเติบโต โดยการกำหนดเขตห้ามทำการประมงในพื้นที่ประมาณ 7 ไมล์ทะเล นับจากเขตชายฝั่งต่อจากระยะเวลาที่ปิดอ่าวออกไปอีก 1 เดือน ในพื้นที่ปิดอ่าวเดิม
ซึ่งถึงแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่สามารถทำให้การจับลูกปลาขนาดเล็กหมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง เนื่องจากทุกภาคส่วนต่างยังคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวประมง แต่ผลจากการใช้มาตรการเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ประจักษ์ว่ามีการพบเห็นปลาทูเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี
“นอกจากมาตรการที่ช่วยกันดูแลทรัพยากรปลาทูจากการทำการประมงแล้ว เราทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมได้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทูได้อย่างง่ายๆ คือ ไม่บริโภคปลาที่มีไข่ หรือปลาตัวเล็กๆ ปล่อยให้ปลาเหล่านี้ได้เติบโตมาเป็นอาหารในช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีมูลค่าที่เศรษฐกิจดีกว่า หากเราทุกคนช่วยกัน กรมประมงเชื่อมั่นว่าท้องทะเล ทรัพยากรประมง จะกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นแต่ก่อนได้อีกครั้ง” อธิบดีกรมประมงกล่าว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: