×

‘ชายในวรรณคดีไทย’ หนังสือวิเคราะห์ตัวละครชายที่ส่งผ่านมาถึงผู้ชายยุคปัจจุบัน

25.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ชายในวรรณคดีไทย โดย มาลัย (จุฑารัตน์) สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ คือหนึ่งในหนังสือรวบรวมวรรณคดีไทยจำนวน 22 เรื่อง นำมาเล่าใหม่โดยวิเคราะห์ตัวละครชายถึงชาติกำเนิด ภูมิหลัง และบุคลิกนิสัย ให้คนอ่านเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น
  • ภาพจำของคนอ่านที่มีต่อเหล่าตัวละครชายในวรรณคดีไทยมักเป็นกษัตริย์ นักรบ หรือเทพ มีรูปร่างหน้าตาดี กล้าหาญ ปกครองบ้านเมืองได้ และที่สำคัญคือต้องมีเมียมากเพื่อแสดงบารมี หรือมีนิสัยเจ้าชู้
  • ความเป็นชายที่พบในวรรณคดีไทยส่งผลต่อค่านิยมของสังคมที่มีต่อผู้ชายในปัจจุบันคือความคาดหวังต่อการเป็นผู้นำ ทั้งการเป็นผู้นำครอบครัว การประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน มีภรรยา และมีฐานะเลี้ยงดูคนในครอบครัว ยังเป็นค่านิยมหลักที่พบในการสร้างนวนิยายหรือภาพยนตร์

 

หนังสือ ชายในวรรณคดีไทย โดยมาลัย (จุฑารัตน์)

 

     ใครก็ตามที่เคยได้อ่านวรรณคดีไทย ไม่ว่าจะเป็น ขุนช้างขุนแผน, พระอภัยมณี, มหาเวสสันดรชาดก, สังข์ทอง, ไกรทอง, จันทโครพ ฯลฯ น่าจะมีภาพจำลางๆ ของตัวละครชายเหล่านี้ที่มักเป็นกษัตริย์ นักรบ หรือเทพ ต้องหน้าตาดี มีความกล้าหาญ มีความสามารถในการต่อสู้ การปกครองบ้านเมือง และที่สำคัญคือต้องมีเมียมากเพื่อแสดงบารมี หรือเจ้าชู้ได้ไม่ใช่เรื่องผิด ฯลฯ

     แต่ในการศึกษาวรรณคดี เราอาจมองพระเอกในวรรณคดีเหล่านี้ในมุมที่ลึกซึ้งได้มากกว่านั้น มีนักวิจารณ์หลายคนที่พยายามย่อยเรื่องเล่าจากบทร้อยกรองเป็นร้อยแก้วเพื่อให้เข้าถึงนักอ่านรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ชายในวรรณคดีไทย โดย มาลัย (จุฑารัตน์) สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ คือหนึ่งในหนังสือที่ก่อให้เกิดการถกเถียงขึ้นมาอีกครั้ง เพราะหนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องโดยใช้ตัวละครชายในวรรณคดีเป็นหลัก พร้อมวิเคราะห์ในมิติต่างๆ ทั้งภูมิหลัง สถานภาพ ฐานะ บุคลิก ลักษณะนิสัย จนทำให้เห็นว่าตัวละครชายเหล่านี้มีอะไรที่มากกว่าแค่ ‘ภาพจำ’ ที่เราเคยรับรู้กัน     

 

ความหลากหลายของชายในวรรณคดีไทย

     ชายในวรรณคดีไทย เล่าถึงวรรณคดีทั้งหมด 22 เรื่อง ตัวละครชายทั้งหมด 33 คน โดยทั้งหมดอยู่ในบริบทของโลกปิตาธิปไตย หรือสังคมชายเป็นใหญ่ในยุคเก่า ผู้เขียนเล่าเรื่องย่อของวรรณคดีไปพร้อมๆ กับการอธิบายชาติกำเนิด บุคลิก และนิสัยของตัวละครชาย แม้จะไม่ได้วิเคราะห์อย่างละเอียดลึกซึ้งมากนัก แต่ก็ทำให้เห็นความหลากหลายของตัวละครได้มากขึ้น โดยแบ่งตัวละครชายออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มกษัตริย์ และกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็มีรายละเอียดต่างกันออกไป

 

(ซ้าย) พระอภัยมณี (ขวา) พระลอ

 

     ตัวละครกลุ่มกษัตริย์ มีกษัตริย์ที่ไม่ได้เกิดมาอย่างเพียบพร้อม แต่เป็นคนดีโดยเนื้อแท้ เช่น พระรถเสน จากเรื่อง พระรถเมรี หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ นางสิบสอง เกิดมาในอุโมงค์ อาศัยอยู่กับแม่ที่ตาบอดหนึ่งข้างกับป้าทั้งสิบเอ็ดที่ตาบอดสนิท พระรถเสนต้องรักษาตัวเองให้รอดพ้นจากการถูกป้ากิน รวมถึงทำหน้าที่เลี้ยงดูแม่และป้า พระรถเสนจึงเป็นตัวละครที่มีความเสียสละและกตัญญูมากที่สุดตัวละครหนึ่ง รวมถึงยังเป็นคนรักจริงกับเมีย เพราะหลังเสร็จสิ้นภารกิจขโมยลูกตา ห่อยา และของวิเศษจากนางยักษ์เพื่อกลับมาช่วยแม่และป้าแล้ว ตนเองก็กลับมากอดศพนางเมรีแล้วกลั้นใจตายตามคนรักไปเกิดใหม่เป็นพระสุธน-มโนห์รา

     กษัตริย์ที่เป็นตัวของตัวเองสูงคือ พระอภัยมณี ที่ยึดความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตที่ออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 15 เพื่อไปศึกษาวิชาดนตรีที่ตัวเองชอบมากกว่าวิชาที่พ่อบังคับให้เลือก การมีเมียหลายเผ่าพันธุ์ หรือการทิ้งเมืองให้นางสุวรรณมาลี เพราะไปหลงผู้หญิงใหม่อย่างนางละเวง นอกจากพระอภัยมณี ตัวละครชายทั้งสุดสาคร, สินสมุทร, อุศเรน, ศรีสุวรรณ ซึ่งผู้เขียนยกมาครบเป็นพิเศษ ยังสะท้อนให้เห็นว่าตัวละครชายในเรื่องนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบแม้แต่คนเดียว หากพิจารณาถึงช่วงเวลาการประพันธ์วรรณคดีเรื่องนี้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็จะทำให้เห็นรอยต่อลักษณะของพระเอกยุคเก่ากับพระเอกยุคใหม่ คือ ผู้แต่งสร้างตัวละครที่ไม่สมบูรณ์แบบ เผยให้เห็นทั้งด้านดีและชั่ว และมีลักษณะเป็นปัจเจก (round character) อันเป็นอิทธิพลลักการษณะแต่งวรรณกรรมแบบต่างประเทศ  

     นอกจากนี้ยังมีกษัตริย์ที่ไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างท้าวอิลราช จากเรื่อง อิลราชคำฉันท์ เพราะถูกสาปจากพระอิศวรให้กลายเป็นผู้หญิงสลับกับการเป็นผู้ชายไปคนละเดือน, กษัตริย์ที่ใช้ใจนำทางอย่างพระลอ จากเรื่อง ลิลิตพระลอ ที่ทิ้งเมียทิ้งเมืองเพื่อมาหาพระเพื่อน-พระแพง เมืองศัตรู, กษัตริย์ที่เจอเหตุการณ์สำคัญในชีวิตจนเกิด coming of age อย่างพระสมุทรโฆษ จาก พระสมุทรโฆษคำฉันท์ คือเป็นเรื่องของกษัตริย์ที่มีเมียอยู่แล้ว แต่เกิดเหตุการณ์ไปคล้องช้างแล้วถูกเทวดาพาไปอุ้มสมกับนางพินทุมดีแล้วถูกจับแยกกัน ทำให้เกิดการผจญภัยตามหากัน, กษัตริย์ที่มีบุคลิกแบบ introvert คือพระสังข์ จากเรื่อง สังข์ทอง เป็นเด็กที่ไม่สามารถประกาศตัวเองได้ว่าเป็นมนุษย์ ต้องซ่อนตัวอยู่ในหอยสังข์ แม้แต่ตอนโตแล้วก็ยังต้องปลอมตัวเป็นรูปเงาะไปเลือกเมีย จากนั้นก็เป็นพล็อตชนชั้นระหว่างพ่อตากับหกเขยและเงาะที่มีสถานะต่ำกว่าไพร่และทาสในสังคมยุคนั้น

 

(จากซ้ายไปขวา) ขุนช้าง, ไกรทอง, เงาะป่า

 

     ตัวละครชายกลุ่มชาวบ้าน แบ่งได้หลายระดับ เช่น ขุนช้าง-ขุนแผน เปรียบได้กับชนชั้นกลาง (elite) คือขุนช้างเป็นเด็กที่ถูกแม่เลี้ยงมาแบบสปอยล์ ใช้เงินครอบครองทุกอย่างเพื่อให้ได้มา จึงขาดความเป็นชายในด้านการเป็นนักรบ ขณะที่ขุนแผน เป็นเด็กกำพร้า ฐานะยากจน ต้องเรียนรู้และต่อสู้กับชีวิตตลอดเวลา แต่มีแม่ทองประศรีสนับสนุนลูกให้เป็นทหารอย่างพ่อ จนกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจล้นเกินจนกล้าแหกกรอบประเพณี ทั้งแหกคุก ลักพาตัวนางวันทอง หรือฆ่าเมียตัวเอง

     ตัวละครแบบเด็กต่างจังหวัดคือ ไกรทอง หรือชาละวัน จากพิจิตร ที่มีความสามารถในการจับจระเข้ และมีความรักให้กับนางวิมาลา จระเข้เมียชาละวัน มากกว่าตะเภาแก้ว-ตะเภาทองที่เป็นลูกเศรษฐี  

     ตัวละครแบบสัจนิยมตามวรรณกรรมตะวันตกคือ เงาะป่า บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 คือเรื่องราวของซมพลากับฮเนาที่รักลำหับ ผู้หญิงคนเดียวกัน แต่พ่อแม่ยกลำหับให้ฮเนา เลยเกิดการชิงตัวและต่อสู้กันด้วยลูกดอกอาบยาพิษจนตายทั้งสาม โดยซมพลาโดนลูกดอกอาบยาพิษตาย ลำหับแทงตัวตาย ฮเนาที่เป็นชู้ก็รู้สึกผิดที่เห็นเพื่อนทั้งสองตายก็เลยฆ่าตัวตายตาม ฮเนาจึงมีความเป็นชายแบบสุภาพบุรุษ (gentleman) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในวรรณคดีไทย

     ตัวละครชายต่างด้าว เช่น ระเด่นลันได ที่เล่าเรื่องชาวต่างด้าว (แขก) แบบยั่วล้อ หรือ เวนิสวานิช เป็นเรื่องของอันโตนิโยที่ยอมไปยืมเงินคนที่ตัวเองเกลียดมาให้เพื่อนชายชื่อบัสสานิโยได้เดินทางไปเลือกคู่ที่อยู่ต่างเมือง

 

     โดยสรุป ตัวละครชายในวรรณคดีที่ยกตัวอย่างมาอาจทำให้เห็นลักษณะบางประการของความเป็นชายในแง่มุมอื่นๆ คือ

     1. มีจิตวิญญาณผจญภัย เพราะการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกทำให้เติบโต ได้ประสบการณ์ และเห็นโลกที่แท้จริง เช่น พระอภัยมณี

     2. การออกไปใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาอัตลักษณ์ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการแสวงหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตนเอง เช่น พระรถเสน และพระสังข์

     3. การครองคู่ ครองดินแดน ครองทรัพย์สิน เป็นสิ่งที่คาดหวังในตัวผู้ชายมากที่สุด เช่น ไกรทอง หรือขุนแผน ที่เกิดมายากจน ทำให้ต้องดิ้นรนหาความรู้เพื่อจะได้มาซึ่งทรัพย์สิน ดินแดน และคู่ครองที่แสดงถึงอำนาจบารมี

 

ความเป็นชายในวรรณคดีที่ส่งอิทธิพลมาถึงชายในปัจจุบัน

     จากรายชื่อวรรณคดี 22 เรื่องที่ยกมาเล่าในหนังสือเล่มนี้ มีวรรณคดีเพียง 3 เรื่องที่ตั้งชื่อตามตัวละครหญิงคือ สาวิตรี, ศกุนตลา และ มัทนะพาธา ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ที่นำวรรณคดีมหาภารตะมาแปลใหม่ จึงน่าสนใจว่าวรรณคดีที่เก่ากว่านั้น ตัวละครชายในเรื่องจะเป็นอย่างไร อย่างเช่น กากี ที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติต่อผู้หญิงหลายผัวอย่าง ท้าวพรหมทัต, ครุฑ และคนธรรพ์ ที่ยังคงเป็นมิตรต่อกัน แม้จะมีชู้เป็นนางกากีคนเดียวกัน หรือ แก้วหน้าม้า ที่มีบุคลิกเข้มแข็งกว่าพระปิ่นทอง ซึ่งเป็นกษัตริย์   

     อย่างไรก็ตาม หากไล่เรียงวรรณคดีตามยุคสมัยที่แต่งก็จะพบว่า ทั้งขนบการแต่งวรรณคดีหรือค่านิยมของชายก็มีการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ตามยุคสมัยใหม่เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเรื่องจากแนวแฟนตาซีมาเป็นสัจนิยม การแสดงบุคลิกของตัวละครที่ไม่ใช่แค่ดี-ชั่ว ขาว-ดำ แต่ทำให้เห็นทั้งด้านดีและไม่ดี รวมไปถึงความเป็นชายที่นอกจากแสดงความเป็นปัจเจกมากขึ้น ยังทำให้เห็นความเป็นสุภาพบุรุษ การใช้สติปัญญามากกว่าพละกำลัง รวมถึงการแต่งงานเพราะความรักมากกว่าถูกบังคับจับแต่ง ลักษณะใหม่บางประการเหล่านี้ปะปนมาคู่กับลักษณะผู้ชายในยุคเก่า เช่น การมองว่าเพศสัมพันธ์คือเครื่องพิสูจน์ความเป็นชาย ความก้าวร้าวต่อผู้หญิงในพล็อตนิยายตบจูบ ข่มขืนแล้วค่อยรัก หรือค่านิยมที่มองว่าผู้หญิงต้องอดทนยินยอมต่อชายก็ยังคงปรากฏอยู่ในนิยายและละครไทยปัจจุบัน

     สำหรับผู้ชายในปัจจุบันยังพบลักษณะสำคัญที่สืบทอดส่งผ่านจากชายในวรรณคดีคือ ความเป็นผู้นำ ที่ยังคงเป็นความคาดหวังของสังคมไทยที่มีต่อความเป็นชาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะผู้นำครอบครัว เช่น ภาพยนตร์เรื่อง บ้าน ที่ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง จนตรอก ของชาติ กอบจิตติ ที่กรรมกรคนหนึ่งอยากจะมีบ้านและครอบครัว แต่บ้านกลับกลายเป็นพื้นที่ของโศกนาฏกรรมที่ทำให้ครอบครัวแตกสลาย หรือ ลัดดาแลนด์ ที่ตัวละครชายต้องการพิสูจน์ให้คนเห็นว่า ผู้ชายที่ประสบความสำเร็จคือต้องมีงาน มีบ้าน เลี้ยงดูเมียได้โดยที่ไม่ต้องให้เขาทำงาน

     ความเป็นผู้นำ การประสบความสำเร็จ กลายเป็นค่านิยมที่เปรียบเสมือนแอกอันหนึ่งที่ผู้ชายต้องแบกรับ และอาจทำให้ผู้ชายที่มีบุคลิกอื่นๆ เช่น ผู้ชายรักอิสระ ฮิปสเตอร์ สโลว์ไลฟ์ เจ้าชู้ ไม่ยึดติดกับศีลธรรม กลายเป็นผู้ชายอีกกลุ่มที่ถูกมองว่าต่อต้านสังคม หรือเทรนด์ใหม่ของผู้ชายที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้คือความสามารถในการเกษียณตัวเองได้ตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างไรก็ตาม ค่านิยมเหล่านี้อาจจะพร่าเลือน ไม่จำกัดแค่เพศชายอีกแล้ว เพราะไม่ว่าจะเพศไหน คนยุคนี้ต่างก็มีลำดับขั้นชีวิตเช่นนี้ในหัวกันทั้งนั้น

 

**สรุปจากงานเสวนา ‘ความเป็นชายในวรรณคดีไทย’ โดย อาจารย์พรธาดา สุวัธนวนิช ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอาจารย์อภิรักษ์ ชัยปัญหา ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X