×

สำรวจความสำเร็จกอล์ฟหญิงไทยผ่านสายตาประธาน LPGA

26.02.2019
  • LOADING...
LPGA

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ไมเคิล วาน ประธาน LPGA ชื่นชมการเติบโตของวงการกอล์ฟหญิงในประเทศไทย ในวันนี้ที่มีโปรมือหนึ่งของโลกจากประเทศไทย รวมถึง 2 ปีก่อน นักกอล์ฟไทยมีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในระบบคัดเลือกของแอลพีจีเอ (QSchool)
  • ไมเคิลยอมรับว่า พอใจกับการเติบโตของแอลพีจีเอทัวร์ในเวลานี้ แต่สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาให้ใกล้เคียงกับกอล์ฟชายนั้นยังห่างไกล
  • เฮเธอร์ ดาลี โดโนฟริโอ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและปฏิบัติการ แอลพีจีเอทัวร์ เชื่อว่า โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนกอล์ฟชายและหญิงในประเทศไทย

แม้ว่าวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่สุดของวงการกีฬาในวันนั้นอาจเป็นประเด็นของฟุตบอลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแมตช์การแข่งขันนัดสำคัญ แต่ในวันเดียวกันนั้น ที่พัทยามีการแข่งขันกอล์ฟหญิงรายการใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่มีชื่อว่า ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2019 หนึ่งใน 34 ทัวร์นาเมนต์ของแอลพีจีเอ ที่แข่งขันกันทั่วโลก

 

แม้จะเป็นอีกปีที่โปรกอล์ฟสาวไทยพลาดโอกาสคว้าแชมป์ในบ้านเกิด แต่หากเปรียบเทียบการเติบโตของวงการกอล์ฟหญิงในประเทศไทย 13 ครั้งที่ผ่านมาของฮอนด้า แอลพีจีเอในประเทศไทย นับว่าเติบโตขึ้นมากจากวันที่ไม่เคยมีนักกอล์ฟไทยในทัวร์นาเมนต์

 

จนถึงวันนี้เรามี โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล เป็นโปรสาวมือหนึ่งของโลก ที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกอล์ฟหญิงคนแรกที่คว้าทุกรางวัลของแอลพีจีเอได้ในฤดูกาลเดียวเมื่อปี 2018

 

โดยตลอดการแข่งขันวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา THE STANDARD ได้เดินทางไปยังสนามกอล์ฟสยาม คันทรี คลับ พัทยา โอลด์ คอร์ส ที่ใช้แข่งขันฮอนด้า แอลพีจีเอ และได้สัมภาษณ์พิเศษกับ ไมเคิล วาน ประธานสมาคมกอล์ฟอาชีพหญิงแห่งสหรัฐอเมริกา (แอลพีจีเอ) และ เฮเธอร์ ดาลี โดโนฟริโอ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและปฏิบัติการ แอลพีจีเอทัวร์ อดีตนักกอล์ฟแอลพีจีเอ ถึงมุมมองการเติบโตของวงการกอล์ฟไทย และแผนการตลาดของกอล์ฟหญิงรายการที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

การเติบโตของวงการกอล์ฟไทย

 

LPGA

ในรอบสุดท้ายของฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ นับเป็นครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ที่ สองพี่น้องจุฑานุกาลออกก๊วนร่วมกันในรายการฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์

 

เราเริ่มต้นด้วยคำถามแรกกับ ไมเคิล วาน ถึงความยิ่งใหญ่ของ โปรเม เอรียา โปรสาวมือหนึ่งของโลกจากไทย ที่สามารถกวาดทุกรางวัลในช่วงท้ายปี 2018 ที่ผ่านมา ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตของวงการกอล์ฟไทยอย่างไร

 

“ปีที่แล้วเรามีผู้ชนะ 26 คน จาก 32 รายการ นั่นคือการแข่งขันที่สูสีมาก ทำให้เราคาดว่ารางวัลปีที่แล้วจะกระจายไปสู่นักกอล์ฟหลายๆ คน แต่สุดท้าย เอรียากลายเป็นคนที่คว้าไปทุกรางวัลในปีที่ยากมากที่จะคว้าได้หลายรางวัล และการได้เห็นเธอคว้าทุกรางวัล บ่งบอกได้ชัดเจนว่า ศักยภาพของเธออยู่ตรงไหนในเวลานี้

 

“ตอนแรกที่เรามาไทย แทบไม่มีการพูดถึงกอล์ฟหญิงในประเทศไทย ไม่ต้องพูดถึงแอลพีจีเอเลย แต่มาถึงตอนนี้ เรามีนักกอล์ฟไทย 11 คนในแอลพีจีเอทัวร์ 2 ปีก่อน เรามีนักกอล์ฟไทยมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐฯ ที่สมัครเข้ามาแข่งขันในระบบคัดเลือกของแอลพีจีเอ (QSchool) ซึ่งเมื่อปี 2010 ผมเห็นนักกอล์ฟไทยในระบบนี้เพียงแค่ 10 คน ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า การสร้างนักกอล์ฟรุ่นใหม่ของไทยกำลังไปในทิศทางที่ดีมาก

 

LPGA

ส่งต่อแรงบันดาลใจ โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล โปรมือหนึ่งของโลก แจกลูกกอล์ฟ พร้อมลายเซ็นให้กับเยาวชน หลังจบการแข่งขัน

 

“ครั้งแรกที่ผมมาที่นี่ แฟนกอล์ฟส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่มาถึงในวันนี้ แฟนกอล์ฟส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเด็กผู้หญิงหลายคนวันนี้มาในชุดกอล์ฟ เพื่อมาดูฮีโร่ของพวกเขาลงเล่น

 

“แน่นอน การแข่งขันแบบนี้สร้างผลกระทบ รวมถึงสองพี่น้องจุฑานุกาล พรอนงค์ เพชรล้ำ เป็นไอดอลของนักกอล์ฟเยาวชนไทย”

 

ด้าน เฮเธอร์ ดาลี โดโนฟริโอ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและปฏิบัติการ แอลพีจีเอทัวร์ เผยว่า เธอรู้สึกตื่นเต้นในฐานะอดีตนักกอล์ฟหญิง สำหรับการเติบโตของวงการกอล์ฟหญิงในประเทศไทย

 

“ปี 2004 เราได้เห็น โปรฝน-รัศมี กัลยาณมิตตา นักกอล์ฟหญิงไทยคนเดียวในทัวร์นาเมนต์แอลพีจีเอในปี 2005 เราไม่มีนักกอล์ฟไทยเลย

 

“มาถึงปีนี้ นอกจากเราจะมีมือหนึ่งของโลกเป็นคนไทยแล้ว เรายังมีนักกอล์ฟไทยอีก 11 คน ทั้งหมดประสบความสำเร็จมาก ปี 2018 เป็นครั้งแรกที่เรามีนักกอล์ฟไทยถึง 3 คน ที่คว้าแชมป์ได้ เรามีนักกอล์ฟไทยอีก 7 คน ในรายการควอลิฟายด์สำหรับ แอลพีจีเอทัวร์

 

“เราข้ามจากปี 2005 ที่ไม่มีนักกอล์ฟไทยในแอลพีจีเอทัวร์มาถึงปีนี้เรามีถึงเกือบ 20 คน ทั้งในแอลพีจีเอทัวร์และรายการควอลิฟายด์นั้นเป็นการเติบโตที่แข็งแรงมาก

 

LPGA

วิ่งตามไอดอล ภาพของเด็กๆ วิ่งตามก๊วน โปรโม, โปรเม จุฑานุกาล ระหว่างการแข่งขันรอบสุดท้ายของฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2019

 

“ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้หญิง แต่ความสำเร็จของโปรเมได้สร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งเด็กชายและหญิงในการลุกขึ้นมาจับไม้กอล์ฟ นั่นคือสิ่งที่สวยงาม เพราะการที่ทัวร์นาเมนต์เราเดินทางไปทั่วโลก นักกอล์ฟของเรายังเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นผู้นำ และตัวแทนในการสร้างแรงบันดาลใจเยาวชนทั่วโลก

 

“เราตื่นเต้นมากที่ได้เห็นคุณภาพของนักกอล์ฟในประเทศไทยเติบโตขึ้น และการได้เห็นโมรียาคว้าแชมป์ครั้งแรกเมื่อปี 2018

 

LPGA

 

“สิ่งที่โดดเด่นที่สุดสำหรับโปรเมคือ เมื่อเธอตอบคำถามถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในปี 2018 ปีที่เธอคว้าทุกรางวัลของแอลพีจีเอคืออะไร เธอตอบสั้นๆว่า คือการได้เห็นพี่สาว โปรโมคว้าแชมป์ และนั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนของเธอ”

 

การเติบโตของกอล์ฟหญิงแอลพีจีเอผ่านโลกออนไลน์

 

LPGA

 

หลายปีที่ผ่านมาแอลพีจีเอทัวร์ใช้แท็กติกการผลักดันนักกอล์ฟผ่านโลกออนไลน์ เช่น การติดแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ของนักกอล์ฟแต่ละคนบนเสื้อบิบของแคดดี้ รวมถึงได้ส่งเสริมให้มีการสัมภาษณ์นักกอล์ฟแต่ละคนเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาบ้านเกิดของนักกอล์ฟแต่ละคน เพื่อให้สื่อในบ้านเกิดของนักกอล์ฟสามารถนำไปใช้ได้ในทันที

 

LPGA

มูนี เหอ นักกอล์ฟสาวจีน วัย 19 ปี ที่เป็นขวัญใจของฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

 

แต่ล่าสุดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาในรายการกอล์ฟ วีเมนส์ ออสเตรเลียน โอเพ่น แอลพีจีเอได้ทดลองถ่ายทอดสดรูปแบบใหม่ ด้วยการสัมภาษณ์นักกอล์ฟระหว่างที่กำลังแข่งขัน โดยจะมอบหมายให้ทีมงานถ่ายทอดสดเดินตามนักกอล์ฟที่สมัครใจให้สัมภาษณ์ระหว่างแข่งขัน ซึ่งนักกอล์ฟจะติดลำโพงที่เชื่อมต่อกับนักพากย์ และพูดคุยกันระหว่างที่กำลังเดินไปหลุมถัดไป

 

มารีนา อเล็กซ์ โปรกอล์ฟสาวชาวอเมริกัน ให้สัมภาษณ์ระหว่างแข่งขันกอล์ฟวีเมนส์ ออสเตรเลียน โอเพ่น

 

ไมเคิล วาน เผยว่า การตัดสินใจนี้เกิดจากความต้องการในการผลักดันให้นักกอล์ฟเชื่อมต่อกับแฟนๆ มากขึ้น โดยเน้นให้แฟนกอล์ฟได้รู้จักตัวตนของนักกีฬา เพื่อดึงดูดให้แฟนๆ มาติดตามการแข่งขัน

 

“ยิ่งคุณรู้จักนักกอล์ฟของเรามากเท่าไร คุณก็ยิ่งจะชื่นชอบพวกเขามากเท่านั้น

 

“ตอนแรกเราเริ่มต้นด้วยการใส่แอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ของนักกอล์ฟบนหลังของแคดดี้ หลายคนก็วิจารณ์ว่าทำไมไม่ใส่แอ็กเคานต์ของแอลพีจีเอให้คนติดตามลีกแทน

 

“เราก็ตอบตรงๆ เลยว่า เราไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจที่สุด นักกอล์ฟต่างหากที่น่าสนใจ ดังนั้นผมจึงอยากให้พวกเขาติดตาม เล็กซี ธอมป์สัน หรือ เอรียา แทนที่จะติดตามลีก เพราะถ้าแฟนกอล์ฟชื่นชอบพวกเขา​ โอกาสที่แฟนๆ จะมาติดตามรายการของพวกเราก็สูงขึ้น”

 

มิเชล วี โปรสาวชื่อดังจากสหรัฐฯ ​เปิดอินสตาแกรมเพื่อโพสต์ภาพอาหารที่เธอกินเพียงอย่างเดียว แยกจากแอ็กเคานต์หลักที่จะโพสต์เกี่ยวกับเรื่องกอล์ฟ  

 

“เป็นโอกาสในการที่แฟนกีฬาจะได้รู้จักกับนักกอล์ฟของเรามากขึ้น ทั้งวิธีการฝึกซ้อม อาหารที่กิน สิ่งเหล่านี้คุณสามารถหาได้จากโซเชียลมีเดีย

 

“6-7 ปีก่อน ผมก็โดนบังคับให้สมัครทวิตเตอร์ และสำหรับคนที่อายุ 45 ปี เป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ตอนนี้ผมติดโซเชียลมีเดียมาก ทุกวันนี้ผมตื่นมาพบกับร้อยกว่าข้อความจากแฟนๆ กีฬา เพื่อบอกว่า ผมโง่ขนาดไหน แต่เมื่อคุณผ่านจุดนั้นไปได้ จะรู้สึกดีที่ได้เชื่อมต่อกับแฟนๆ สื่อมวลชน และนักกีฬา ผ่านโลกโซเชียลมีเดีย”

 

เป้าหมายของแอลพีจีเอทัวร์ในอนาคต  

 

LPGA

 

สำหรับวงการกอล์ฟหญิงนั้นต้องยอมรับว่า มีความแตกต่างจากกอล์ฟชายมากพอสมควร ในเรื่องความเท่าเทียม ทั้งทางรายได้และความนิยมทั่วไป ซึ่งกอล์ฟหญิงรายการแอลพีจีเอทัวร์เหมือนกับหลายชนิดกีฬาทั่วโลก ที่กำลังผลักดันเรื่องของความเท่าเทียมในการแข่งขัน

 

ไมเคิล วาน ยอมรับว่า เขาพอใจกับทิศทางของการเติบโต แต่ยังห่างไกลจากจุดที่พวกเขาต้องการ

 

“สุดท้าย ไม่ว่าเราจะเดินทางไปที่ไหนทั่วโลก เรื่องสิทธิสตรี ความหลากหลาย และ ความเท่าเทียมทางสังคม ความเป็นผู้นำ ข้อถกเถียงนี้เกิดขึ้นทั่วโลก

 

LPGA

 

“แต่สำหรับเรา ผมเชื่อว่า ไม่มีตัวอย่างที่ไหนในโลกของความเท่าเทียมด้านของสิทธิ ความหลากหลาย และความเป็นผู้นำ ที่ดีกว่าสนามกอล์ฟอีกแล้ว เรามีนักกอล์ฟที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก ครบทุกรูปแบบ แต่พวกเขาบริหารจัดการตัวเอง เลือกจ้างทีมงานของตัวเอง บางคนเป็นแม่ บางคนเป็นเด็ก บางคนเป็นพี่สาว บางคนเป็นนักธุรกิจ และนี่คือสิ่งที่บริษัทในสหรัฐอเมริกาพยายามที่จะสนับสนุน ด้วยเหตุนี้ 3-4 ปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นบริษัทหันมาสนับสนุนแอลพีจีเอมากขึ้น

 

“และด้วยเหตุนี้เราถึงเติบโตมากขึ้นเป็นพิเศษ

 

“ตอนนี้เราพอใจกับความเติบโต แต่ไม่พอใจกับจุดที่เราอยู่ เพราะถ้าเราย้อนกลับไป 5-6 ปีก่อน เรามีเงินรางวัลน้อยกว่านี้ถึงครึ่งหนึ่ง รวมถึงรายการตลอดปีน้อยกว่านี้ ตอนผมเริ่มต้นงานที่นี่ เรามีการถ่ายทอดสดตลอดปีน้อยกว่า 200 ชั่วโมงทั่วโลก ตอนนี้เรามี 500 ชั่วโมง”

 

LPGA

ไมเคิล วาน ประธานแอลพีจีเอ ออกมาถ่ายภาพก๊วนผู้นำในการแข่งขันรอบสุดท้ายของฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2019

 

“ในปี 2010 ผมเคยบอกว่า หากคุณอยากเป็นแฟนกอล์ฟของแอลพีจีเอ คุณจะพบกับเวลาที่ยากลำบาก เพราะเราไม่มีการถ่ายทอดสดที่สม่ำเสมอ คุณไม่สามารถคาดหวังที่จะเห็นเราในโทรทัศน์ แต่ตอนนี้หากคุณเป็นแฟนกอล์ฟ คุณจะพบว่ามันง่ายขึ้นมาก เรามีการแข่งขัน 34 ครั้ง มีเงินรางวัลรวม 70 ล้านเหรียญสหรัฐ การถ่ายทอดสด 500 ชั่วโมงทั่วโลก รวมถึงไฮไลต์ต่างๆ ทางโซเชียลมีเดีย

 

“สุดท้ายเราจะบอกกับนักกีฬาเราไว้ตลอดว่า คุณลงเล่นในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของอาชีพ ไม่ใช่เพื่อเงินและผลงาน แต่เป็นโอกาสที่คุณจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนยุคต่อไป ทัวร์ตอนนี้อยู่ในจุดที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกอล์ฟรุ่นต่อไป แต่เราพอใจไหมกับจุดที่เราอยู่ ไม่เลย เพราะตอนนี้เรายังไล่ตามกอล์ฟชายอยู่มาก และนั่นคือเป้าหมายที่เราต้องไล่ล่าต่อไป”

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising