×

จับตาตลาดแรงงานไทยแย่ลง ผู้ขอรับสิทธิกรณีว่างงานรายใหม่เพิ่มกว่า 60,000 คนในเดือนตุลาคม

29.11.2024
  • LOADING...
ตลาดแรงงานไทย

ภาพรวมตลาดแรงงานไทยแย่ลงจากภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการค้าและก่อสร้าง แม้เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยมีจำนวนผู้ขอรับสิทธิกรณีว่างงานรายใหม่เพิ่ม 62,000 คนในเดือนที่ผ่านมา ด้าน ธปท. มองว่าตลาดแรงงานในภาพรวมยังเป็นไปตามปกติ แต่มีปัญหาในบางภาคส่วน (Sector) เท่านั้น

 

วันนี้ (29 พฤศจิกายน) ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 2567 โดยระบุว่า ตลาดแรงงานในเดือนตุลาคมปรับแย่ลงจากเดือนก่อน โดยพบว่า จำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมลดลง 0.5% (MoM) จากเดือนก่อน อยู่ที่ 12.03 ล้านคน ณ วันที่ 24 ตุลาคม เนื่องมาจากการลดลงของจำนวนผู้ประกันตนจากภาคบริการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น ภาคการค้า โดยเฉพาะธุรกิจการค้ายานยนต์และภาคก่อสร้างเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนผู้ประกันตนในภาคการผลิตยังทรงตัว

 

ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสิทธิกรณีว่างงานรวม (Stock) อยู่ที่ 2.12 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคม มาตรา 38 ต่อจำนวนผู้ประกันตนสะสมปรับลดลง 2.1% (MoM) อยู่ที่ 1.74%

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ขอรับสิทธิกรณีว่างงานรายใหม่ (Flow) ต่อเดือน จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม อยู่ที่ 62,000 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 54,000 คน ทำให้สัดส่วนจำนวนผู้ขอรับสิทธิกรณีว่างงานรายใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.9% (MoM) อยู่ที่ 0.51%

 

จำนวนผู้ขอรับสิทธิกรณีว่างงานรายใหม่อยู่ในหลายสาขา ตัวอย่างเช่น ภาคก่อสร้าง, สื่อสิ่งพิมพ์, อสังหาริมทรัพย์, การผลิตไม้ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

โดยตัวเลขดังกล่าวอาจสะท้อนว่า “แม้มีผู้ว่างงานใหม่เพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่เคยว่างงานก็อาจหางานใหม่ทำได้แล้ว จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านในบางภาคเศรษฐกิจ ซึ่งคงต้องจับตาดูต่อไป” ชญาวดีกล่าว

 

ขณะที่ ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ตลาดแรงงานเป็นสิ่งที่ ธปท. กำลังจับตา พร้อมทั้งยืนยันว่า ตลาดแรงงานในภาพรวมยังเป็นไปตามปกติ ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีปัญหารุนแรง เนื่องจากมีการหางานใหม่เพิ่มขึ้น โดยปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาในบางภาคส่วนเท่านั้น ดังนั้นหากรัฐบาลมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้แรงงานหางานใหม่ได้เร็วหรือทำให้รายได้ดีขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาทางนี้ได้

 

“ถ้าดูอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ยังอยู่ที่ระดับ 1% ซึ่งนับว่าเป็นระดับปกติ แต่ถ้าลงไปดูในบางภาคก็มองเห็นการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และภาคบริการ ตัวอย่างเช่น กลุ่มสื่อที่เผชิญกับภาวะ Technology Disruption” ปราณีกล่าว

 

เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน

 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการเงินโอน 10,000 บาท สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้าที่เพิ่มขึ้น

 

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตามการส่งออกที่ไม่รวมรถยนต์และอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในบางภาคส่วนยังชะลอตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยลง

 

สำหรับแนวโน้มระยะต่อไป ธปท. มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยฟื้นตัว

 

อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง

 

ดังนั้นระยะต่อไปต้องติดตามความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาที่จะส่งผลต่อการส่งออกและการผลิต รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X