เราน่าจะเดินทางมาถึงจุดที่ทุกคนต่างก็เห็นพ้องต้องกันแล้วว่าโควิด-19 ได้ ‘เขย่า’ อุตสาหกรรมแรงงานครั้งใหญ่ เร่งปฏิกริยาทรานส์ฟอร์มให้เกิดขึ้นแบบ Fast Forward ย่นระยะเวลาลงหลายปี แถมยังทำให้คนจำนวนมากที่เคยมีหน้าที่การงานมั่นคง มีรายได้แน่นอน ต้องตกงาน ถูกเลิกจ้างแบบไม่ทันตั้งตัวหรือระแคะระคายมาก่อน
ข้อมูลที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการเก็บไว้ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ณ ช่วงเวลาดังกล่าวมีบุคลากรว่างงานมากกว่าราว 589,660 คน และมีอัตราการว่างงานที่ 1.49%
โดยหากนับรายไตรมาส จะพบว่าในช่วง 4Q64 ที่ผ่านมา มีประชากรว่างงานเฉลี่ยกว่า 722,050 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ย 1.86% ซึ่งถือว่าสูงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายไตรมาสในช่วงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี หากมองในเชิงภาพรวมก็จะพบว่า แม้ตัวเลขการว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูง แต่ตลาดก็เริ่มส่งสัญญาณ ‘บวก’ มากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากตัวเลขการว่างงานที่เริ่มลดน้อยลง หากเปรียบเทียบกับช่วง 2 ไตรมาสก่อนหน้าที่การระบาดของโควิด-19 รุนแรง และเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์สดๆ ร้อนๆ
สถิติตัวเลขการว่างงานในไทย และ GDP ของทั้งประเทศรายไตรมาส
JobsDB ประเมินภาพรวมตลาดแรงงานไทย ครึ่งปีแรก 2564 อัตราจ้างงานอาจกลับมาเป็นบวกที่ 5%
เมื่อเร็วๆ นี้แพลตฟอร์มสมัครงานอย่าง JobsDB เพิ่งออกมาเปิดเผยข้อมูลสำรวจภาพรวมตลาดแรงงานในประเทศไทย โดยพบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดีมานด์ของตลาดแรงงานได้ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดถึง 24.65% และเข้าสู่ช่วงที่ผ่าน ‘จุดต่ำสุด’ จากเดือนเมษายน 2563 และเดือนธันวาคม 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พร้อมกันนี้ยังได้คาดการณ์ล่วงหน้าอีกด้วยว่า หาก GDP ประเทศไทยสามารถพลิกกลับมาโตได้ในระดับ 2.5-3.5% ก็จะส่งผลให้ภาพการจ้างงานกลับมาเป็นบวกด้วย โดยอาจจะทำให้ครึ่งปีแรกของปีนี้ อัตราจ้างงานอาจจะกลับมาเป็น +5%
โดยหากมองในระยะยาว JobsDB เชื่อว่า สถานการณ์ของตลาดแรงงานและการจ้างงานอาจจะกลับมามีสถานะก่อนช่วงโควิด-19 ระบาดได้ (Pre Covid-19) และเริ่มเห็นผลตั้งแต่ช่วงปี 2565 เป็นต้นไป
คนทำงานสายไอที เทคโนโลยี ยังเป็น ‘มนุษย์ทองคำ’ ของตลาดแรงงาน แต่ก็ยังมี ‘โอกาส’ สำหรับอาชีพใหม่ๆ อีกมาก
หลายปีที่ผ่านมา มักมีคำเปรียบเปรยที่ทำให้เห็นภาพชัดถึงดีมานด์บุคลากร คนทำงานด้านไอที เทคโนโลยี ที่มีสกิลเฉพาะทางว่ามีสเตตัสเปรียบเสมือน ‘มนุษย์ทองคำ’ ของโลกการทำงาน เนื่องจากโลกธุรกิจทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับการทรานส์ฟอร์มเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น ขณะเดียวกันโลกาภาวิฒน์ก็ได้ขับเคลื่อนให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับผู้บริโภคอย่างแยกไม่ออก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนทำงานในด้านนี้จะเป็นที่ต้องการจากนายจ้างและองค์กรแต่ละแห่งมากเป็นพิเศษ
หากแยกจาก ‘กลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด’ ตามลำดับก็จะพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
- กลุ่มธุรกิจไอที – 12.9%
- กลุ่มธุรกิจการผลิต – 8.1%
- กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง – 6.6%
- กลุ่มธุรกิจด้านการเงิน – 6.5%
- กลุ่มธุรกิจซื้อขาย-จัดจำหน่าย – 6.2%
ส่วนธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจประกันภัย – 42.9%
- กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ – 41.9%
- กลุ่มธุรกิจการผลิต – 37.7%
- กลุ่มธุรกิจยา – 37.5%
- กลุ่มธุรกิจผลิตรถยนต์ – 33.7%
อย่างไรก็ดี เมื่อจำแนก กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ในตลาดแรงงานวันนี้จะจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ
- สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ – 16.0%
- สายงานไอที – 14.7%
- สายงานวิศวกรรม – 9.8%
- สายงานด้านการตลาด ประชาสัมพันธ์ – 9.4%
- สายงานด้านบัญชี – 6.8%
พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า คนทำงาน บุคลากรฝั่งไอที เทคโนโลยี ยังคงเป็นมนุษย์ทองคำในยุคนี้อยู่ เนื่องจาก ‘ซัพพลาย’ ไม่เพียงพอ จึงทำให้คนทำงานกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่บริหารข้อมูลขนาดใหญ่และมีความจำเป็นจะต้องปรับตัว ซึ่งในฝั่งของระบบการศึกษาก็ไม่สามารถผลิตคนได้ทันกับความต้องการเช่นกัน
ขณะที่ ‘สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ’ หรือกลุ่มบุคลากร Salesforce สาเหตุที่ติดโผเข้ามาอยู่ในอันดับกลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในลำดับที่ 1 นั้น พรลัดดาให้เหตุผลว่า ต่อให้โลกนี้จะมี Telesales หรือ AI และแมชชีนเลิร์นนิงที่เขามาช่วยให้ปิดการขายได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
แต่ที่สุดแล้ว ในขั้นตอนของการปิดการขาย กลุ่มธุรกิจ องค์กรต่างๆ ก็ยังคงต้องพึ่งพิงการใช้ ‘บุคลากรมนุษย์’ เข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้อยู่ดี (เพราะเป็นตำแหน่งงานที่มีความซับซ้อนในแง่การต่อรอง แก้ไขปัญหา พูดคุย ดูแลกับลูกค้า ฯลฯ)
นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก Disruption และโลกธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลยังนำไปสู่ ‘อาชีพใหม่ๆ’ ที่เกิดขึ้นมาอย่างหลากหลาย และเป็นช่องทางโอกาสให้คนเริ่มมองเห็นลู่ทางในการปรับตัว
ตัวอย่างเช่น Cryptocurrency Consultant ที่พรลัดดาบอกว่าเป็น สายงานใหม่มาแรงที่ได้รับค่าตอบแทนระดับ 100K+ หรือใกล้เคียงกับระดับผู้บริหาร สืบเนื่องจากเทรนด์ความสนใจที่ผู้คนมีต่อสกุลเงินดิจิทัล และการปรับมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของบิตคอยน์
สำหรับ 5 อาชีพใหม่ (ตำแหน่ง) ที่เป็นที่ต้องการของสายงานฝั่งไอที เทคโนโลยีคือ
- นักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI Developer)
- ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล (Blockchain / Cryptocurrency Consultant)
- วิศวกรแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning Engineer)
- นักวิเคราะห์คอมพิวเตอร์นิติวิทยาศาสตร์ (Cyber and Forensic Technology)
- ผู้อำนวยการข้อมูล (Data Director / Modeler)
ส่วน 5 อาชีพใหม่ (ตำแหน่ง) ที่เป็นที่ต้องการของสายงานทั่วๆ ไป คือ
- บุคลากรด้านการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ (Business Transformation)
- หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านวัฒนธรรมองค์กร (Chief of Staff / People / Culture)
- หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเติบโต (Growth Officer / Chief of Growth)
- คนสร้างสรรค์คอนเทนต์ไลฟ์ (Live Content Creator)
- ผู้จัดการคลาวด์คิทเชน (Kitchen-Setup / Cloud Kitchen Manager)
หมายเหตุ: JobsDB ระบุว่า ฐานข้อมูลของพวกเขา ณ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการที่เข้ามาเพื่อยื่นสมัครงานอยู่ที่หลักล้านราย ส่วนองค์กรที่อยู่บนแพลตฟอร์มเพื่อเปิดรับสมัครงานนั้นอยู่ที่หลัก 50,000 แห่ง และมีการประกาศรับสมัครงานมากกว่า 10,000 ตำแหน่งต่อเดือน
ภาพรวมตลาดแรงงานยังแข่งขันสูง แนะคนต้อง ‘รีสกิล อัปสกิล’ พาตัวเองฉีกหนีคนอื่น
แม้ในเชิงภาพรวม เราจะพบสัญญาณของการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ช่วงที่ผ่านมามีคนที่ได้รับผลกระทบจากการว่างงานสูงมาก จนส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของอัตราการแข่งขันในตลาดจึงสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
JobsDB พบว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มยื่นสมัครงานเพิ่มขึ้นถึง 20% จากเดิม 800,000 ต่อเดือน (จำนวนครั้งการยื่นสมัครงาน (ไม่ได้นับจำนวนคนแบบ Unique Users)) เพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านรายแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันในตลาดแรงงานที่เหล่าแคนดิเดตแต่ละรายจะต้องขับเคี่ยวกันมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยอัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 20% ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 และมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร โดยการแข่งขันมีการกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มคนทำงานที่เงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท
ขณะที่สายงงานฝั่งไอทียังคงเป็นสายงานที่มีการแข่งขันต่ำ (บุคลากรไม่เพียงพอต่อความต้องการ)
ด้วยเหตุนี้ แม่ทัพใหญ่ JobsDB จึงแนะนำว่า บุคลากรไทยในปัจจุบัน ควรจะต้อง ‘รีสกิล’ อัปสกิลของตัวเอง เพื่อพัฒนาทักษะที่หลากหลาย เพิ่ม Valued ของตัวเองให้เป็นที่ต้องการจากนายจ้าง องค์กรต่างๆ และสร้างจุดขายที่แตกต่างจากแคนดิเดตคนอื่นๆ
อัตราเงินเดือนสูงสุดในแต่ละกลุ่มสายอาชีพ และระดับของบุคลากรในองค์กร
(บนแพลตฟอร์ม JobsDB เริ่มเพิ่มคอร์สการพัฒนาทักษะ อัปสกิล ‘ยกระดับความรู้ ก้าวสู่งานที่ใช่ (#levelupyourcareer)’ ให้ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมคอร์สมากกว่า 80 คอร์ส เช่น ฟินเทค, อีคอมเมิร์ซ, ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และทักษะทางด้านภาษา เพื่อให้ผู้ได้เข้าร่วมรับใบ Certificated ยกระดับสกิลของตัวเองให้แตกต่างและเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว)
ส่วนอีก 2-3 ประเด็นทิ้งท้ายที่น่าสนใจก็คือ ‘ภาวะสมองไหล’ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลังแรงงานทักษะสูงในไทยพร้อมไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมากแล้ว (50% พร้อมไปทำงานต่างประเทศ หากได้รับโอกาส) ทำให้แต่ละองค์กรต้องทุ่มเทกันสุดฤทธิ์ เพื่อให้บุคลากรที่มีความสามารถและได้รับการพัฒนาขึ้นมานั้นจะอยู่กับพวกเขาต่อไป ขณะที่แรงงานต่างชาติก็พร้อมตบเท้าเข้ามาแข่งขันกับแรงงานในไทยเช่นกัน
ฟาก ‘เด็กจบใหม่’ หรือกลุ่ม First Jobber ในวันนี้ก็มีความคาดหวังที่สูงมากกว่าเดิม เนื่องจากมองว่าตนเองมีทักษะ ความสามารถที่สูง โดยที่ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม JobsDB ในกลุ่มเด็กจบใหม่ได้ยื่นความประสงค์ขอเงินเดือนเริ่มต้นการทำงานที่เรนจ์ของตำแหน่งผู้จัดการระหว่าง 60,000-70,000 บาท กันเป็นจำนวนมาก (การเรียกเพื่อต่อรอง)
ต่อประเด็นนี้ พรลัดดามองว่า ณ วันนี้ฐานเงินเดือนของเด็กจบใหม่แม้จะไม่สูงในระดับตำแหน่ง ‘ผู้จัดการ’ เหมือนที่มีการกรอกความประสงค์ในใบสมัคร แต่ฐานเงินเดือนเด็กจบใหม่ในปัจจุบันก็ขยับขึ้นมาสูงกว่า 15,000 บาท เป็นที่เรียบร้อย แถมคนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มองหรือคาดหวังว่าจะต้องทำงานกับองค์กรใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์เสมอไป เพราะเริ่มสนใจสตาร์ทอัพ กลุ่มองค์กรด้านเทคโนโลยีและบริษัทเกิดใหม่ที่มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล