นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านแรงงาน ปี 2561 (วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤศจิกายน 2561) ว่า ข้อพิพาทแรงงานในปี 2561 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีข้อพิพาทแรงงาน 44 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 37,830 คน
ขณะที่ในปี 2560 มีข้อพิพาทแรงงาน 59 แห่ง ลูกจ้าง 57,425 คน ซึ่งได้ดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงิน 33,415 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์การเลิกจ้างในปี 2561 พบว่า ใกล้เคียงกับปี 2560 จากข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33 พบว่า ในปี 2561 มีการเลิกจ้าง 259,770 คน ขณะที่ปี 2560 มีการเลิกจ้าง 255,385 คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อมูลผู้ประกันตนที่เข้าสู่มาตรา 33 กับผู้ที่ถูกเลิกจ้างพบว่ามีสัดส่วนไม่แตกต่างกัน โดยมีจำนวนลูกจ้างที่เข้าและออกจากระบบประกันสังคมเฉลี่ยประมาณ 2.3 หมื่นคนต่อเดือนเท่าๆ กัน และเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการเลิกจ้างตามประเภทกิจการพบว่า กิจการที่มีการเลิกจ้างเพิ่มสูงขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ เกษตรกรรม การผลิตเฟอร์นิเจอร์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง
นายวิวัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มการจ้างงานในปี 2562 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจมีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเภทกิจการที่นำเทคโนโลยี หรือ AI เข้ามาทำงานแทนกำลังแรงงานมากขึ้น เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวี ทีวีดิจิทัล ธุรกิจและจำหน่ายหรือให้เช่าซีดี ดีวีดี เป็นต้น
คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งจากการเฝ้าติดตามธุรกิจดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยในเบื้องต้นพบว่า นายจ้างที่มีการปรับโครงสร้างกิจการหรือเลิกจ้างลูกจ้างส่วนใหญ่จะจัดทำโครงการสมัครใจลาออกและให้สิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างสูงกว่าสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม กสร. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า