×

‘เศรษฐพุฒิ’ ส่งสัญญาณดอกเบี้ยไทยต้องไม่ขึ้นช้าเกินไป รีบผ่อนคันเร่งก่อนต้องเหยียบเบรกแรง

13.06.2022
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าแบงก์ชาติส่งสัญญาณชัด ดอกเบี้ยไทยต้องไม่ขึ้นช้าเกินไปจนเครื่องยนต์เงินเฟ้อติด หวั่นต้องเหยียบเบรกแรงในภายหลัง ชี้ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยน่ากลัวน้อยกว่าเงินเฟ้อ

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแนวทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อของ ธปท. ระหว่างปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย’ จัดโดยสำนักข่าวไทยพับลิก้า ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะเป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทของตัวเอง และไม่ใช่การปรับขึ้นตามต่างประเทศ โดยหากถามว่าแล้วจะปรับขึ้นเมื่อไรคงต้องตอบว่า ช้าเกินไปก็ไม่ดี เพราะที่ผ่านมาไทยผ่อนปรนนโยบายการเงิน และใช้ดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน เปรียบเสมือนการเหยียบคันเร่งทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในปัจจุบันที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น จากตัวเลข GDP ไตรมาสแรกที่ออกมาดีกว่าคาด เครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่ยังดีต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นเร็วกว่าคาด และจำนวนผู้ว่างงานและว่างงานเสมือนที่เริ่มปรับลดลง ซึ่งสวนทางกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และการส่งผ่านต้นทุนเริ่มกระจายเป็นวงกว้างไปยังสินค้าหลายหมวดมากขึ้น ทำให้ Balance of Risks หรือการชั่งน้ำหนักความเสี่ยงของ ธปท. ต้องโน้มเอียงไปที่การดูแลเงินเฟ้อมากขึ้น

 

“ตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องเหยียบคันเร่งแล้ว แต่เราก็จะไม่เหยียบเบรก เพราะโจทย์ของเราคือต้องทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุดหรือ Smooth Take Off สิ่งที่เราจะทำคือการผ่อนคันเร่ง ซึ่งหากทำช้าหรือคอยนานเกินไปเราจะต้องเหยียบเบรก ยิ่งนานก็ยิ่งต้องเหยียบเบรกแรงขึ้น” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. ระบุอีกว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนไทยยิ่งลดลง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือในปีที่ผ่านมาดอกเบี้ยการกู้ยืมของบริษัทไทยที่มีเรตติ้ง A อยู่ที่ 1.4% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% เท่ากับต้นทุนการกู้ยืมแท้จริงอยู่ที่ 0.2% ขณะที่ในปีนี้ ดอกเบี้ยการกู้ยืมของบริษัทไทยที่มีเรตติ้ง A อยู่ที่ 1.3% ขณะที่เงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% เท่ากับว่าต้นทุนกู้ยืมแท้จริงจะติดลบเกือบ 5% ดังนั้นหาก ธปท. ไม่ทำอะไรเลย ก็จะเหมือนว่าคันเร่งทางเศรษฐกิจถูกเหยียบแรงขึ้นไปอีก

 

เศรษฐพุฒิยอมรับว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบาง แต่จากทิศทางเงินเฟ้อในปัจจุบัน หากธนาคารกลางไม่ทำอะไรเลย ผลกระทบต่อประชาชนและภาคครัวเรือนจะยิ่งหนักขึ้นไปอีก เนื่องจากผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยมีความรุนแรงน้อยกว่าผลกระทบจากเงินเฟ้อ ซึ่งจากการศึกษาของ ธปท. พบว่า ในกรณีที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไป 1% ผลกระทบก็ยังรุนแรงน้อยกว่าเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจากต้นปีถึง 7 เท่า

 

“มีคนถามว่าเงินเฟ้อไทยมาจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยลดเงินเฟ้อได้อย่างไร จริงอยู่ที่ดอกเบี้ยในประเทศคงไม่มีผลต่อราคาพลังงานโดยตรง แต่จะช่วยให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางมันไม่หลุด ลองคิดดูว่าถ้าเจ้าของธุรกิจคาดการณ์ในระยะไกลเพิ่มขึ้นๆ ราคาสินค้าก็จะถูกปรับเพิ่ม ลูกจ้างก็จะไปขอเพิ่มค่าจ้างจนเกิดเป็น Wage-Price Spiral ทำให้เครื่องยนต์ของเงินเฟ้อติด หน้าที่ของ ธปท. ก็คือต้องทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อไม่ติด” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising