กระทรวงพาณิชย์เผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อสำคัญ
ในเดือนเมษายน 2567 สูงขึ้น 0.19% (YoY) นับเป็นการกลับมา ‘เป็นบวก’ ครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และสภาพอากาศร้อนจัดทำให้สินค้าเกษตรหลายรายการออกสู่ตลาดช้า
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่ 0.19% ก็ยังถือว่าต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตั้งไว้ที่ 1-3 % เป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน
ในการแถลงวันนี้ (3 พฤษภาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ไว้ตามเดิม สะท้อนว่ามีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อไทยจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท.
พร้อมทั้งเตือนว่า ในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยมีโอกาสเป็นบวก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำ และความเป็นไปได้ว่าราคาวัตถุดิบ พลังงาน และไฟฟ้าอาจปรับตัวขึ้น
ในรายงานนโยบายการเงิน (Minutes) ของ ธปท. ฉบับล่าสุดยังยืนยันว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567
โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 จะอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ 0.6% และ 0.9% ตามลำดับ
พร้อมระบุว่า ต้องติดตามความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือราคาพลังงานในประเทศของภาครัฐในระยะต่อไป
🎯 จับตา กนง. ส่งจดหมายถึง รมว.คลัง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2567 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับปี 2567
นอกจากนี้ในข้อตกลงการออกจดหมายเปิดผนึกของ กนง. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า “หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาให้แก่สาธารณชน”
นอกจากนี้ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
โดยในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป