กระทรวงพาณิชย์เผย อัตราเงินเฟ้อไทย -0.44% ในเดือนพฤศจิกายน ติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน ต่ำสุดรอบ 33 เดือน และต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 7 เดือนติด ซึ่งสาเหตุหลักมาจากมาตรการลดค่าครองชีพภาครัฐ ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือยัง?
เงินฝืดคืออะไร?
ตามคำอธิบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภาวะเงินฝืดเป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการต่างๆ ที่ผลิตออกมามีมากกว่าความต้องการซื้อสินค้าของคนในประเทศ
ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องลดราคาสินค้าเพื่อให้ขายได้ และลดการผลิตลง เพราะถ้าผลิตออกมาเท่าเดิมก็ขายได้ไม่หมด
ผลที่ตามมาคือ การจ้างงานและการซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตก็จะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว
เปิดนิยามภาวะเงินฝืด
โดยตามนิยามของธนาคารกลางยุโรป (ECB) การจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ได้แก่
- อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (Prolonged Period)
- อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ
- การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย
- อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น
กระทรวงพาณิชย์ยืนยัน ไทยไม่เข้าข่ายเงินฝืด
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า อธิบายว่า ไทยไม่เข้าข่ายเงินฝืด เนื่องจากตามคำนิยามทางเทคนิคไทยอาจเข้าข่ายข้อเดียวคือ ‘ติดลบต่อเนื่อง’ อย่างไรก็ดี ตามการพิจารณาของธนาคารโลก (World Bank) กำหนดว่า การติดลบต่อเนื่องหมายความว่าอัตราเงินเฟ้อต้องติดลบติดต่อกัน 1 ไตรมาส
นอกจากนี้ ราคาสินค้าและบริการยังไม่ติดลบในหลายหมวดสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่า เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปีก่อน (YoY) ในตะกร้าสินค้า CPI ทั้ง 430 รายการ มีสินค้าที่ราคาลดลง 92 รายการเท่านั้น เทียบกับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น 291 รายการ และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 47 รายการ สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อติดลบยัง ‘ไม่’ กระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ
ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยก็ยังขยายตัวได้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการว่า GDP ทั้งปี 2566 จะขยายตัว 2.50% ส่วนประมาณการของปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 3.20% (กรอบ 2.70-3.70%) สะท้อนว่าไทยยังไม่เข้าข่ายภาวะเงินฝืด
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ