×

เงินเฟ้อไทยเดือน ต.ค. ติดลบครั้งแรกในรอบ 25 เดือน ผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ พาณิชย์คาดเดือน พ.ย. ยังลดลงต่อเนื่อง

06.11.2023
  • LOADING...
รถพ่วงขายลูกชิ้น จอดเติมน้ำมัน

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมลดลง 0.31% ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 25 เดือน ผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ คาดเดือนพฤศจิกายนยังติดลบต่อเนื่อง ส่วนตัวเลขทั้งปีอยู่ที่ 1.35% ตามกรอบเป้าหมาย

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนตุลาคม ปี 2566 เท่ากับ 107.72 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2565 ซึ่งเท่ากับ 108.06 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.31% (YoY) เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 25 เดือน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและสินค้าอุปโภค-บริโภค เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.66% (YoY)

 

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้น 1.60% (AoA) ยังเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดไว้ที่ 1.0-3.0%

 

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวลดลง 0.65% (YoY) ตามการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสุกร และไก่สด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก เนื่องจากเกษตรกรเร่งระบายสุกรในช่วงที่ขายได้ราคาแม้ว่ายังไม่ครบอายุการเลี้ยง เช่นเดียวกับผักสด (ต้นหอม ผักบุ้ง แตงกวา) ที่มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูกมากกว่าปีที่ผ่านมา

 

ด้านราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับลดลง 0.09% (YoY) ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันดีเซล) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) เครื่องใช้ไฟฟ้า (พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) ราคาลดลงต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ 

 

ทั้งนี้ สนค. ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่าจะยังปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและกลุ่มพลังงาน รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง 

 

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา ราคาปรับสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรและค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ในระดับดี รวมทั้งสถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัวจากมาตรการจำกัดการผลิตและส่งออกน้ำมันของผู้ผลิตรายสำคัญของโลกและความขัดแย้งในต่างประเทศ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ 

 

ด้วยปัจจัยดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0-1.7% (ค่ากลาง 1.35%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน 

 

“ตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นผลมาจากมาตรการลดค่าของชีพของภาครัฐเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง ภาวะเงินฝืดจึงยังไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล ส่วนผลจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตและการปรับเงินเดือนข้าราชการ ขอรอให้มีความชัดเจนก่อนจึงจะประเมินผลกระทบต่อเงินเฟ้อได้” พูนพงษ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X