×

จับเข็มทิศภาคอุตสาหกรรมไทยในมือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อะไรคือเทรนด์ใหม่ที่ไทยห้ามตกขบวน เมื่อโลกหมุนไวและไม่เหมือนเดิม

05.10.2023
  • LOADING...
อุตสาหกรรมไทย

นอกจากปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่แล้ว อีกหนึ่งโจทย์เร่งด่วนของรัฐบาลก็คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ ‘ภาคอุตสาหกรรม’ โดยหากดูตัวเลขหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วจะเห็นว่า การส่งออกของแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นเม็ดเงินก็ราวๆ 5.18 ล้านล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วน 32.06% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแส Deglobalization หากมองไปที่เศรษฐกิจโลกอันท้าทายในระยะ 3 ปีข้างหน้า ประเด็นที่กดดันเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่นำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและวิกฤตพลังงาน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เกิดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกา และจีน 

 

ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก และอาจทำให้การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) เข้มข้นขึ้น แน่นอนว่าไทยในฐานะซัพพลายเชนโลก ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบเหล่านี้ได้หากไม่เร่งปรับตัวให้ทันเกมการค้าโลก

 

เศรษฐาพบ ส.อ.ท. ถกแนวทางผลักดันอุตสาหกรรมไทย

 

เป็นโจทย์อันท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ภายใต้ผู้นำ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เมื่อในวันพรุ่งนี้ (วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566) เศรษฐาจะเข้าหารือกับ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นครั้งแรก 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

โดยในเบื้องต้นเกรียงไกรระบุว่า จะหยิบยกประเด็นทิศทางการผลักดันอุตสาหกรรมเก่าและใหม่ว่าหลังจากนี้จะมีแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างไร ปัญหาและอุปสรรคคืออะไร สิ่งนี้คือ Key Messages ของสภาอุตสาหกรรมในเวลานี้

 

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ส.อ.ท. วางข้อเสนอ (Position Paper) คร่าวๆ ไว้ถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว รวมถึงการดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ปัญหา Geopolitics รวมไปถึงการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังกังวลนโยบายที่อาจกระทบต้นทุนการผลิต การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงานด้วย

 

รวมไปถึงขอให้เร่งรัดโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลุยโรดโชว์เชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่ย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนด้วย

 

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จะเสนอ 8 ข้อเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านพลังงานและแรงงาน รวมไปถึงการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs, การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business)

 

ย้อนดูอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยมีอะไรบ้าง

 

THE STANDARD WEALTH ชวนอัปเดตข้อมูลที่น่าสนใจของทิศทางการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมไทย ทุกคนทราบกันหรือไม่ว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยนั้นมีอะไรบ้าง อะไรที่เป็นจุดเด่น และอุตสาหกรรมใดคือเทรนด์ใหม่ที่ไทยจะตกขบวนไม่ได้   

 

ที่ผ่านมารัฐบาลวางนโยบายขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมโดยหลักๆ แล้วจะแบ่งเป็น 

 

  1. First S-Curve: ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ
  2. New S-Curve: ที่เป็นรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ 
  3. กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมนโยบายหลักของประเทศ

 

กลุ่มอุตสาหกรรม First S-Curve

– ยานยนต์สมัยใหม่  

– อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 

– การท่องเที่ยวระดับคุณภาพ 

– การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 

– การแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

 

อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทยที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีมูลค่ากว่า 9.7 แสนล้านบาท หรือการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกลับมาเติบโต ไปจนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์กับแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างเช่น อาหารและการเกษตร เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันเมื่อเทรนด์และทิศทางเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยน จึงต้องสร้างจุดแข็งของอุตสาหกรรมโดยการเชื่อมโยงและดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนมากขึ้น อย่างที่เศรษฐาระบุในการเยือนสหรัฐอเมริกาและพบบริษัทระดับโลกล่าสุดว่า เศรษฐกิจไทยจะโตไม่ถึง 5% หากไม่มีการลงทุนจากต่างชาติ FDI

 

อุตสาหกรรมที่น่าสนใจและไม่ควรตกขบวนน่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) บนพื้นที่ EEC โดยประเมินกันว่า อุตสาหกรรมนี้มีตัวเลขการลงทุนใหม่ถึงร้อยละ 10 ของ GDP หรือเทียบเท่ากับ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สามารถสร้างงานได้กว่า 2 แสนตำแหน่งเลยทีเดียว

 

ขณะเดียวกันก็สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า โดยจะเสริมสร้างแค่สิ่งที่เราแข็งแรงอยู่แล้วอย่างเดียวไม่ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดเราจึงต้องมี

 

กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve 

– หุ่นยนต์ 

– การบิน 

– ดิจิทัล 

– การแพทย์ครบวงจร 

– เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

 

อุตสาหกรรมนี้น่าสนใจไม่แพ้กัน หากสามารถดึงกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และดิจิทัล เข้ามาได้ จะเข้ามาเปลี่ยนทัศนียภาพใหม่ในทุกอุตสาหกรรม 

 

“ถ้าเรามีผู้เล่นและนักลงทุนเข้ามาในระบบนิเวศนี้มากขึ้น ก็จะทำให้สร้างการเติบโตได้ในอีกระดับ และในขณะเดียวกันก็สามารถลดต้นทุนการนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศได้อีกด้วย เช่น ด้านการแพทย์ ภาครัฐจะต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์กว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี 

 

“ถ้าเราดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาช่วยสร้างหรือส่งเสริมสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ภายในประเทศ ก็จะยิ่งช่วยลดงบประมาณในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ราคาสูงเหล่านี้ได้อย่างมหาศาลอีกด้วย”

 

กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมนโยบายหลักของประเทศ

– อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น

– อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 

– อุตสาหกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัย และพัฒนา 

– อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

หลังจากนี้คงต้องติดตามข้อเสนอจากภาคเอกชนถึงรัฐบาลใหม่ หากเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะวิกฤต ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นความหวังเศรษฐกิจไทยท่ามกลาง Perfect Storm ลูกนี้จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นแค่ไหน ในทางกลับกันอาจกลายเป็นโอกาสของไทยหรือไม่ แรงผลักดันทั้งหมดอาจขึ้นอยู่กับทิศทางของรัฐบาลและเอกชนที่ต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X