×

นี่คือยุคข้าวยากหมากแพง! ผ่านมา 5 ปี ราคาสินค้าสามัญประจำบ้านพุ่งขึ้นไม่หยุด ปริศนาที่ (ยัง) ต้องหาคำตอบ?

06.08.2024
  • LOADING...
สินค้าอุปโภคบริโภค

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายอย่างถึงยังพุ่งสูงลิ่ว ทั้งที่อัตราเงินเฟ้อก็ดูเหมือนจะปรับตัวลดลง? 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับราคาสินค้าสำคัญที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งอาจทำให้หลายคนต้องร้องว่า โอ้โห! นี่มันยุคข้าวยากหมากแพงชัดๆ!

 

แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 38.8 บาท แพงขึ้นกว่า 40% จาก 5 ปีก่อน, น้ำมันพืชขวดละ 53 บาท เพิ่มขึ้น 32.5%, ไข่ไก่ฟองละ 5 บาท เพิ่มขึ้น 25% นี่ยังไม่รวมน้ำมันดีเซล, ก๊าซหุงต้ม, ไก่สด และหมูสันนอก ที่ราคาต่างก็พาเหรดปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราวกับว่าเงินในกระเป๋ามันเบาหวิวลงทุกวัน

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน ‘Meet the Press: ผู้ว่าการพบสื่อมวลชน’ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ว่า เหตุผลที่ ธปท. ต้องให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อเป็นพิเศษ เนื่องจากแม้ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์จะบอกว่าอัตราเงินเฟ้อลดลง แต่ค่าครองชีพในประเทศที่เพิ่มขึ้นไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ยากที่จะลดลงอีกครั้ง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

ย้อนกลับไปช่วงปี 2565 อัตราเงินเฟ้อไทยเคยปรับตัวขึ้นไปสูงถึงเกือบ 8% ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น และโรคระบาดในสุกรที่เกิดขึ้นในประเทศ

 

ดังนั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะบอกว่า สถานะทางการเงินของผู้บริโภคจำนวนมากกำลังสั่นคลอน จากรายงาน Thai Shopper Trends 2567 ของ NIQ ระบุถึงผลสำรวจในปี 2567 มีผู้บริโภคไทยมากถึง 48% ยอมรับว่าฐานะทางการเงินของพวกเขาแย่ลงกว่าปีก่อนหน้า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกหย่อมหญ้าทำให้หลายคนต้องรัดเข็มขัดและคิดทบทวนการใช้จ่ายอย่างจริงจัง

 

จุดนี้เองที่ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ได้มองหาแค่สินค้าที่ถูกใจเท่านั้น แต่ต้องเป็นสินค้าที่จำเป็นและคุ้มค่าด้วย หลายคนหันมาลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นรวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ

 

นอกจากนี้การซื้อสินค้าจำนวนน้อยลงและรอจังหวะลดราคาหรือโปรโมชัน ก็กลายเป็นกลยุทธ์ยอดฮิตที่ช่วยเซฟเงินในกระเป๋าได้อย่างมาก ถึงขนาดที่ 90% ของผู้บริโภคในปี 2567 ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้ามากกว่าราคา เพิ่มขึ้นจาก 82% ในปี 2565

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของผู้บริโภคส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ความภักดีต่อแบรนด์ที่เคยมีกำลังสั่นคลอน โดยในปี 2566 มีเพียง 19% ของผู้บริโภคที่ยังคงภักดีต่อแบรนด์เดิม ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผู้บริโภคพร้อมที่จะเปลี่ยนใจหากเจอสินค้าที่ดีและคุ้มค่ากว่า

 

การปรับตัวของผู้บริโภคต่อภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและราคาสินค้าที่พุ่งไม่หยุดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจในภาพรวมหรือไม่? 

 

การที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับราคาและคุณภาพของสินค้ามากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไร? 

 

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน!

 

 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising