×

เปิดแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนไทยกับ ‘เครดิตบูโร’ หลังหนี้รอวันเน่า (SM) พุ่งทะลุ 6 แสนล้านบาท ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย?

15.06.2023
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือนไทย

เปิดแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนไทยกับ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยหลังไตรมาสที่ผ่านมา หนี้บูด (SM) พุ่งทะลุ 6 แสนล้านบาท จ่อเป็นระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือนไทย?

 

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวในรายการ WEALTH IN DEPTH ของ THE STANDARD WEALTH โดยชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยอย่างเป็นทางการล่าสุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 15,092,025 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 87% ต่อ GDP ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเป็น ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPL) อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท และเป็นหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) หมายถึงหนี้ซึ่งค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน อยู่ที่ราว 6 แสนล้านบาท

 

โดยการเพิ่มขึ้นของ SM หรือหนี้บูด นับเป็นวาระที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ เนื่องจากหนี้ประเภทนี้มีโอกาสกลายเป็นหนี้เสียหรือ NPL ได้

 

หนี้บูดมีโอกาสกลายเป็นหนี้เสีย ‘สูง’

สุรพลกล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2565 หนี้ประเภท SM เคยอยู่ระดับต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ที่ราวๆ 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่ NPL อยู่ระดับสูงสุดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 ไตรมาส SM ขยับพุ่งขึ้นมาประมาณ 6 แสนล้านบาท

 

โดยเมื่อดูไส้ในพบว่า หนี้ SM ประมาณ 6 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อรถและบ้าน ซึ่งมีหลักค้ำประกัน และผู้คนส่วนมากจะไม่ปล่อยให้กลายเป็นหนี้เสีย คิดเป็นสัดส่วนกว่า 58% โดยแบ่งเป็นสินเชื่อรถยนต์ถึง 1.9 แสนล้านบาท และสินเชื่อบ้าน 1.6 แสนล้านบาท 

 

นอกจากนี้ เมื่อดูไส้ในสินเชื่อบ้านให้ลึกขึ้นจะเห็นว่า เป็นบ้านสินเชื่อวงเงินประมาณไม่เกิน 3 ล้านบาท แสดงว่าลูกหนี้ไม่ใช่ผู้มีรายได้สูง หรือชนชั้นกลาง

 

“การผ่อนไม่ไหว ผ่อนตะกุกตะกัก ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าคนกัดฟันผ่อนบ้านไม่ไหว ในภาษาสินเชื่อเรียกว่า เริ่มไม่ค่อยดีแล้ว นอกจากนี้ SM รถยนต์ ซึ่งกลางปีที่แล้วอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท เพิ่มมาเป็น 1.9 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มหมดแรงหมดลมผ่อนแล้ว” สุรพลกล่าว

 

หนี้ครัวเรือนไทย

 

ลูกหนี้ SM ส่วนใหญ่คือ Gen Y

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจจากเครดิตบูโรแสดงให้เห็นว่า (ภาพที่ 2) ลูกหนี้ SM ซึ่งมีอยู่ 32 ล้านคน พบว่ากลุ่มอายุที่มีหนี้ SM มากที่สุดคือ ชาว Gen Y ซึ่งมีอายุระหว่าง 26-43 ปี โดยมีมูลหนี้อยู่ที่ 2.9 แสนล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มคน Gen X ที่มีอายุระหว่าง 44-58 ปี โดยมีมูลหนี้อยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม Baby Bloomer ซึ่งมีอายุ 59 ปีขึ้นไป โดยมีมูลหนี้อยู่ที่ 8.4 หมื่นล้านบาท

 

หนี้ครัวเรือนไทย

 

ยอดปรับโครงสร้างหนี้เริ่มชะงัก

สุรพลยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน ยอดสะสมการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ที่ 8 แสนล้านบาท ค่อนข้าง ‘นิ่งอยู่กับที่และอืด’ เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้จะต้องใช้รายได้เป็นพื้นฐาน 

 

เครดิตบูโรจึงอยากเห็นการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น เพราะถ้ายิ่งปรับโครงสร้างหนี้ได้เยอะเท่าไร NPL ก็จะลงมาเท่านั้น

 

เปิดแนวทางแก้หนี้จากเครดิตบูโร

 

1. ลดหย่อนเกณฑ์พิสูจน์ทราบรายได้ของลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่ประจำหรือฟรีแลนซ์

สุรพลแนะว่า เกณฑ์สำหรับลูกหนี้รายได้ประจำและรายได้ไม่ประจำ ‘ต้องไม่เหมือนกัน’ และปล่อยให้การพิสูจน์รายได้เป็นเรื่องของเจ้าหนี้ ตราบใดที่หนี้เหล่านี้มีสำรองพึงกันรายบัญชีครบถ้วนแล้วควรเป็นอันยุติ ไม่ควรต้องเพิ่มมาตรการอะไรอีก

 

2. ควรเร่งปรับโครงสร้างลูกหนี้สถานะ 21 หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

สุรพลชี้ให้เห็นภาพรวมบัญชีลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด พิจารณาจากสถานะบัญชี 21 ซึ่งหมายถึงหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน เนื่องจากลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ณ เดือนมีนาคม 2566 หรือคนกลุ่มนี้ที่เป็นหนี้เสียวันนี้ แต่เมื่อช่วงก่อนโควิดหรือปี 2562 จ่ายได้ดีทุกบัญชีสินเชื่อ ตัวอย่างเช่น ทัวร์ไกด์ที่ภูเก็ต ซึ่งรายได้ดีมากช่วงปีก่อนโควิด มีหนี้บ้านและรถ แต่เป็นหนี้เสียช่วงโควิด

 

“เราควรจะช่วยคนก็ต้องช่วยกลุ่มนี้ (ลูกหนี้สถานะ 21) ก่อน เพราะเขาไม่ได้คิดอยากจะเป็นหนี้เสีย ถ้าเราช่วยกลุ่มนี้ผ่านการออกแบบมาตรการเฉพาะเจาะจง เช่น ให้สถาบันการเงินยุติเงินสำรองพึงกันแล้ว ไม่ต้องไปกันเกณฑ์คุณภาพ และถ้าลูกหนี้มีหลักประกันเหลือ ก็เติมหลักประกันเติมได้เลย ปล่อยให้สถาบันการเงินตัดสินใจเต็มที่ แต่ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลยังกำหนดว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ยังมีลักษณะเปราะบางต้องสำรองเพิ่มปัญหาก็จะไม่จบ” สุรพลกล่าว

 

โดยถ้าเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้กลุ่มนี้แบบเอื้ออาทร เท่ากับช่วยลูกหนี้ 3 ล้านคน ซึ่งมีมูลหนี้ราว 3 แสนล้านบาท ดังนั้น ถ้าพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มนี้ หนี้เสียในไตรมาสแรกที่ 9.5 แสนล้านบาทก็จะเหลือเพียง 6.5 แสนล้านบาท

 

3. ตั้งสถานีแก้หนี้ครอบคลุมหลายพื้นที่ในประเทศ

สุรพลชี้ว่า การตั้งสถานีแก้หนี้ครอบคลุมหลายพื้นที่ในประเทศ เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้กับลูกหนี้ไปเจอกันได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่คล้ายคลึงกับมาตรการแก้หนี้ครูที่ใช้เขตภาคการศึกษา

 

4. วิธีการแก้โดยธรรมชาติ คือการดันเศรษฐกิจโตและเพิ่มการกระจายรายได้

 

5. สนับสนุนข้อมูลทางเลือก (Alternative Data)

โดยแนวทางดังกล่าวจะช่วยทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นลูกหนี้ในมิติอื่น ยกตัวอย่างเช่นความสามารถในการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลูกหนี้มีรายได้ แม้อาจจะมีแผลเป็นจากการค้างชำระมีหนี้บูด (SM) อยู่ แต่ว่าลูกหนี้ยังจ่ายหนี้ค่าสาธารณูปโภคได้

 

“เราสนับสนุนเต็มที่ว่าต้องไปในทิศทางนี้ ในหลายประเทศใช้ Alternative Data มาช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของลูกหนี้ โดยเฉพาะหลังจากเหตุโควิดทำให้คนมีแผลเป็นที่เกิดจากการค้างชำระ ดังนั้น ถ้าเราไปดูมิติเดียวอาจจะไม่เห็นรอบคอบชัดเจน” สุรพลกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X