ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) คาด หนี้ครัวเรือนไทยปี 2567 อาจชะลอลงมาอยู่ที่ 88.5-89.5% ต่อ GDP โดยมีสาเหตุหลักมาจากหนี้รถยนต์และรถจักรยานยนต์หดตัวหนักสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับการหดตัวลงของตลาดรถยนต์ในประเทศ ขณะที่สินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ของแบงก์พาณิชย์ก็หดตัวลง อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนยังวิ่งหาสภาพคล่อง เห็นได้จากการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารมากขึ้น และหนี้ส่วนบุคคลที่สูงขึ้นสะท้อนว่าครัวเรือนยังพึ่งพาเงินกู้มาเพื่อกินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยบทวิเคราะห์ที่ระบุว่า ในไตรมาส 2/67 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16.32 ล้านล้านบาท เติบโตเพียง 1.3%YoY นับเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในสถิติข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ย้อนหลังได้ถึงปี 2546 หรือในรอบ 21 ปี
ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าภาพรวมทั้งปี 2567 หนี้ครัวเรือนไทยอาจเติบโตต่ำกว่า 1.0% เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนและความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่ที่ลดลง ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับทบทวนประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปี 2567 ลงมาที่กรอบ 88.5-89.5%
อย่างไรก็ตาม ระดับดังกล่าวยังสูงกว่า 80.0% ต่อ GDP ซึ่งตามการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) พบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80.0% ต่อ GDP ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระบบการเงินได้
สำหรับสาเหตุที่หนี้ครัวเรือนไทยชะลอตัวหนักสุดในรอบ 21 ปี ได้แก่
- หนี้รถยนต์และรถจักรยานยนต์หดตัวหนักสุดเป็นประวัติการณ์
การทยอยหดตัวลงของหนี้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประเภทหนี้ Big-Ticket Items ของครัวเรือน โดยหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ฯ ของครัวเรือนหดตัวลง 5.8%YoY ในไตรมาสที่ 2/67 ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่ลึกที่สุดนับตั้งแต่ฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนแบ่งตามวัตถุประสงค์การกู้เริ่มเผยแพร่ในปี 2555 และเป็นการหดตัวลงตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา
ขณะที่สัดส่วนหนี้รถยนต์ฯ ต่อหนี้ครัวเรือนไทยลดลงมาอยู่ที่ 10.6% ในไตรมาสที่ 2/67 จากที่เคยมีสัดส่วนประมาณ 11.5% ต่อหนี้ครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/65 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับภาพการหดตัวลงของตลาดรถยนต์ในประเทศ
- ยอดคงค้างหนี้อสังหาริมทรัพย์ของภาคครัวเรือนเติบโตต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
สินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์หดตัวลง ทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่และที่อยู่อาศัยมือสองทั้งแนวราบและอาคารชุด หลังมาตรการผ่อนปรน LTV สำหรับช่วงโควิดสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2565
ขณะที่ยอดคงค้างหนี้อสังหาริมทรัพย์ของภาคครัวเรือนที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินทุกประเภทชะลอลงจากที่เติบโต 5.3%YoY ไตรมาสที่ 3/65 มาที่ 3.0%YoY ในไตรมาสที่ 2/67 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนแบ่งตามวัตถุประสงค์การกู้เริ่มเผยแพร่ในปี 2555 เช่นกัน
คนยังวิ่งหาสภาพคล่องมาใช้ในชีวิตประจำวัน
กสิกรไทยยังระบุอีกว่า หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น (ไม่รวมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล) ยังคงเร่งตัวขึ้น สวนทางกับหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ชะลอลง ซึ่งภาพดังกล่าวสะท้อนว่าครัวเรือนยังพึ่งพาเงินกู้มาบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อกินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
โดยยอดคงค้างหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นเร่งขึ้น 4.4% YoY ในไตรมาสที่ 2/67 เทียบกับเติบโตประมาณ 2.1%YoY ไตรมาสที่ 3/65 ขณะที่ยอดคงค้างหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพียง 3.6%YoY ในไตรมาสที่ 2/67 จากที่เคยโตถึง 15.5%YoY ในไตรมาสที่ 3/65
ครัวเรือนเริ่มมีการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) มากขึ้นตลอดช่วง 3-6 ไตรมาสที่ผ่านมา เช่น การกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เติบโต 4.0%YoY ในไตรมาสที่ 2/67 สูงกว่าการกู้ยืมผ่านแบงก์และ SFIs และการกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันที่ทำไว้ (เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมทั้งนำเงินบางส่วนมาหมุนใช้จ่ายโดยที่การคุ้มครองหลักจากกรมธรรม์ยังคงไว้อยู่และไม่ต้องยกเลิกสัญญาของประกันที่ทำไว้) ซึ่งเติบโต 4.3%YoY ในไตรมาสที่ 2/67 ขณะที่การกู้ยืมจากโรงรับจำนำเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 9.7%YoY ในไตรมาสที่ 2/67
รายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ‘เปราะบาง’ และมีหนี้สินเต็มมือ
จากข้อมูลผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/67 จำนวน 963 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย (ภาพที่ 3) พบว่า ครัวเรือน / ผู้ตอบแบบสอบถาม ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินที่เปราะบาง รวมทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินเต็มมือ เพราะแม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้จะมีหนี้ประมาณ 1-3 ก้อนใกล้เคียงค่าเฉลี่ย แต่ก็มีสัดส่วนการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในระบบสูงกว่ากลุ่มระดับรายได้อื่น
ขณะที่สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ก็ไต่ขึ้นไปสูงถึง 40.3% จึงทำให้มีเงินเหลือเก็บออมเพียง 10.5% เมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือน
ส่วนครัวเรือน / ผู้ตอบแบบสอบถาม ที่มีรายได้มากกว่า 30,000-70,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่แม้จะสามารถดูแลจัดการกับภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีสัญญาณสะท้อนว่ากลุ่มนี้อาจเริ่มมีข้อจำกัดในการก่อหนี้ก้อนใหม่ เพราะหนี้เดิมส่วนใหญ่เป็นหนี้ในกลุ่ม Big-Ticket Items และผู้ตอบแบบสอบถามบางรายในกลุ่มนี้อาจมีหนี้มากกว่า 3 ก้อนพร้อมกัน จึงทำให้มีสัดส่วน DSR ขยับขึ้นไปที่ 40.8% โดยเฉลี่ย ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น
สำหรับครัวเรือน / ผู้ตอบแบบสอบถาม ที่มีรายได้มากกว่า 70,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปนั้น น่าจะเป็นกลุ่มที่สามารถรับมือกับภาระหนี้ที่มีอยู่ได้ค่อนข้างดี สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินได้ รวมทั้งมีเงินเหลือเก็บออมต่อเดือนสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในภาพใหญ่ของประเทศจะทยอยปรับลดลง แต่อัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในแต่ละปียังคงสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย
ดังนั้นการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในระดับภาพใหญ่ของประเทศ จึงไม่อาจสะท้อนได้ว่าภาระหนี้สินและปัญหาการชำระหนี้ในระดับครัวเรือนจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามในทันที เพราะแม้ว่าหลายครัวเรือนจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องและดูแลภาระหนี้สินที่มีอยู่ได้ แต่ก็มีอีกหลายครัวเรือนเช่นกันที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง สถานะทางการเงินเริ่มมีความเปราะบาง เพราะภาระหนี้เริ่มเต็มมือ
แบงก์ชาติมอง สินเชื่อโตชะลอทำหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง
ด้าน ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การดำเนินนโยบายการเงินจะดูใน 3 เรื่องหลัก คือ
- แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ
- แนวโน้มภาวะเงินเฟ้อ
- ภาวะการเงิน (Financial Stability)
โดยทั้งในเรื่องที่ 1. และ 2. ยังเป็นไปตามที่ ธปท. คาดไว้และสอดคล้องกับนโยบายดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเหตุผลที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ลงมาสู่ระดับ 2.25% เนื่องจากสมดุลความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปคือ ภาวะการเงิน (Financial Stability) หรือสถานการณ์หนี้ หลังจากช่วงที่ผ่าน ธปท. ได้ติดตามข้อมูลภาพของหนี้ครัวเรือนที่ขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่ในขณะเดียวกันการเข้าถึงสินเชื่อประชาชนมีความตึงตัวขึ้นบ้าง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กนง. เคยมีความกังวลว่าหากมีการปรับลดดอกเบี้ยลง แม้จะสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้กับผู้ให้กู้ได้บ้าง แต่ก็อาจเพิ่มการก่อหนี้ของประชาชนมากขึ้นด้วย เพราะมีต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกลง
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ข้อมูลปัจจุบันเริ่มเห็นการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เริ่มชะลอลง อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ทยอยชะลอลงอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของประชาชนหรือหนี้ครัวเรือนเริ่มทยอยปรับลดลง อีกทั้งเมื่อมองไปในระยะข้างหน้าก็มีโอกาสจะลดลงต่อเนื่องตามที่ กนง. ต้องการ ดังนั้นต้นทุนของดอกเบี้ยที่ปรับลดลงที่จะมีผลกระทบให้หนี้ปรับเพิ่มขึ้นมีน้อยลง
“เพราะฉะนั้น Balance of Risk หรือสมดุลของความเสี่ยง ก็เปลี่ยนไป ซึ่งตรงจุดนี้เป็นพัฒนาการที่ กนง. เห็นมาตลอดและมีความชัดเจนขึ้น ทำให้ต้นทุนของการลดดอกเบี้ยปรับลดลง ไม่ก่อให้เกิด Financial Stability Risk จึงทำให้ กนง. สามารถลดดอกเบี้ยลงได้ ซึ่งก็หวังว่าจะช่วยลดหรือบรรเทาภาระผู้ที่มีกำลังชำระหนี้ได้บ้าง” ชญาวดีกล่าว
ชญาวดีกล่าวต่อว่า การลดดอกเบี้ยลง 0.25% ของ กนง. ในรอบนี้ แม้จะถือเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่าน แต่ก็ยังสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ที่มีหนี้ให้เบาตัวได้บ้าง
อ้างอิง: