×

ประวัติศาสตร์สืบค้น: ไทยกับกรณีจีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนาม

16.08.2024
  • LOADING...

​ที่ต้องสืบค้นตรวจสอบประวัติศาสตร์ ไทยกับกรณีจีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนาม เพราะมีบันทึกแพร่หลายในสื่อออนไลน์ของอดีตนักการเมือง และมีการแพร่ข่าวของสื่อบางสำนักไปในทิศทางเดียวกัน

 

​เป็นข้อมูลข่าวสารที่หากไม่สืบค้นแล้วจะกลายเป็นการกระจายข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงแบบคนละเรื่องเดียวกัน

 

​ข่าวสารที่แพร่อยู่นั้นชื่อบันทึกว่า

 

‘สงคราม 16 วัน จีนบุกโจมตีเวียดนาม เมื่อ พ.ศ. 2521’ 

 

​มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

 

เมื่อสหรัฐอเมริกาแพ้สงครามเวียดนามปี 2518 เวียดนามมีกองทัพที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 3 ของโลก พร้อมกระหายจะทำสงครามเพื่อยึดลาว กัมพูชา ไทย กองทัพเวียดนามเตรียม…พร้อมอาวุธประชิดชายแดนไทย เป็นแนวยาวหลายร้อยกิโลเมตร และประกาศจะไปกินข้าวที่กรุงเทพฯ ภายใน 3 วัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี เรียกผู้นำเหล่าทัพของไทยมาถามว่าจะสู้เวียดนามได้กี่วัน ผู้บัญชาการเหล่าทัพของไทยมาถามว่าจะสู้เวียดนามได้กี่วัน ผู้บัญชาการเหล่าทัพไทยตอบว่า 4 วัน

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงบอกให้ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ (รมว.ต่างประเทศ) รีบไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนด่วนที่สุด

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกฯ ไทยจึงเปิดสัมพันธ์กับจีน ได้พบกับ โจวเอินไหล และ เหมาเจ๋อตง

 

ต่อมาเวียดนามเตรียมกำลังพล 400,000 นาย พร้อมอาวุธทันสมัยเตรียมบุกไทย

 

รัฐบาลมอบหมายให้ พ.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เดินทางไปจีนเพื่อขอความช่วยเหลือตามที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กรุยทางไว้ เสนาธิการทหารจีนประชุมกันแล้วแนะว่าควรปล่อยให้เวียดนามบุกยึดกรุงเทพฯ ก่อนแล้วค่อยส่งทัพจีนตามไปปลดแอกให้ แต่ เติ้งเสี่ยวผิง ไม่ยอม ตบโต๊ะแล้วพูดว่า “ช่วยเหลือมิตรต้องช่วยให้ทันการณ์”

 

เดือนพฤศจิกายน 2521 เติ้งเสี่ยวผิงเดินทางมาดูสถานการณ์ในไทยและรีบกลับทันทีหลังจากนั้น 2 เดือน ในเดือนมกราคม 2522 กองทัพจีน 500,000 นาย พร้อมรถถังและเครื่องบินเปิดสงครามสู้รบเข้าโจมตีภาคเหนือของเวียดนามอย่างแรง เวียดนามรีบถอนทัพที่ประชิดชายแดนไทยไปรับศึกจีน กองทัพเวียดนามต้องถอยร่นไปถึงชานเมืองฮานอย สงครามสั่งสอนจบลง กินเวลา 16 วัน ทั้งสองฝ่ายสูญเสียทหารหลายหมื่นนาย

 

ส่วนอีกสำนักข่าวหนึ่งนั้นชี้ว่า

 

เมื่อสหรัฐอเมริกาพ่ายแพ้สงครามเวียดนาม กองทัพเวียดนามที่มีกำลังรบและเจนสนามพร้อมบุกไทย พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ บินไปหาเติ้งเสี่ยวผิง ไปเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ขอให้จีนช่วย นั่นคือที่มาของสงครามสั่งสอน ปืนใหญ่นัดแรกที่จีนยิงเข้าสู่กองพลเวียดนามที่มณฑลกวางสีนั้น คนที่กระชากปืนใหญ่กระสุนนัดแรกชื่อ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เวียดนามถูกจีนถล่ม จึงถอยกำลังขึ้นไปเพื่อป้องกันเวียดนามตรงนั้น ประเทศไทยรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาตรงนี้

 

ผู้เขียนไม่ต้องการตำหนิใคร แต่ขอตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารข้อมูลดังนี้

 

ลำดับเหตุการณ์ (Timeline)

 

14 มีนาคม 2518 – 20 เมษายน 2519 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

 

30 เมษายน 2518 เวียดนามเหนือยึดไซ่ง่อนได้ รวมเข้ากับเวียดนามให้เป็นประเทศเดียวกัน สหรัฐอเมริกาพ่ายแพ้ต้องยกทัพกลับไป

 

17 เมษายน 2518 พนมเปญของกัมพูชาถูกเขมรแดงยึด

 

30 เมษายน 2518 เวียดนาม ลาว ประกาศชัยชนะต่อสหรัฐอเมริกา

30 มิถุนายน 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ  รมว.ต่างประเทศ เดินทางไปปักกิ่งเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ลงนามกับ โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี และพบกับเหมาเจ๋อตง

 

6 สิงหาคม 2519 ไทย-เวียดนาม เปิดสัมพันธ์ทางการทูต

เดือนกันยายน 2521 ฝ่าม วัน ดง นายกรัฐมนตรีเวียดนามเยือนไทย

 

5-11 พฤศจิกายน 2521 เติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรีจีนเยือนไทย

 

25 ธันวาคม 2521 กองทัพเวียดนามร่วมกับกลุ่มเฮง สัมริน ยึดพนมเปญ ขับไล่ พอล พต และ เขียว สัมพัน เขมรแดงออกไป

 

8 มกราคม 2522 จัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่นิยมเวียดนามในพนมเปญ

 

29-31 มกราคม 2522 เติ้งเสี่ยวผิง เยือนสหรัฐอเมริกา

 

1 กรกฎาคม 2522 จีนสั่งปิดสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) สถานีของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่ตั้งอยู่ ณ เมืองคุนหมิง

 

17 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2522 จีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามกินเวลา 16 วัน

 

23 มิถุนายน 2522 นายทหารไทย 3 คนคือ พล.ท. ผิน เกสร (ยศขณะนั้น), พ.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศขณะนั้น) และ พ.อ. พัฒน์ อัคนิบุตร (ยศขณะนั้น) เดินทางไปพบผู้นำจีน

 

2532 เวียดนามถอนทัพออกจากกัมพูชา

 

ประเด็นเปิดสัมพันธ์การทูตไทย-จีน

 

จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศไหนที่สามารถเปิดสัมพันธ์ได้ในเวลา 2 เดือน

 

ความจริงตลอดปี 2517 เป็นช่วงแห่งการติดต่อสัมพันธ์ไทย-จีน เพื่อปูทางความสัมพันธ์ระยะยาว

 

ฮันเนียนหลง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนมาเยือนไทย ขณะที่ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ รองนายกรัฐมนตรีไทย ไปเยือนจีนในปีนั้น

 

แม้ว่าจีนจะสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย แต่ไทยก็ไม่อาจขวางกระแสโลกที่จีนมาแรงในทิศทางที่จะเข้ามาแทนที่ไต้หวันในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกาส่ง เฮนรี คิสซิงเจอร์ ไปจีนเพื่อปูทางเปิดสัมพันธ์จีน-สหรัฐอเมริกา ต่อมา ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เดินทางไปจีนด้วยตนเอง

 

6 ธันวาคม 2517 สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 53 ที่กำหนดห้ามการค้าขายระหว่างไทยกับจีน จรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.ต่างประเทศ แถลงว่า

 

“นับจากเวลานี้ไป ไทยกับจีนจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การเปิดความสัมพันธ์ระหว่างชาติ แม้จะมีผู้ไม่เห็นพ้องด้วย แต่การมีความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

 

ในหนังสือ เอกบุรุษชาติอาชาไนย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ บันทึกเหตุการณ์ที่นิวยอร์ก เมื่อเดือนตุลาคม 2517 ว่า

 

“เราตรงไปที่รถที่จอดไว้ตั้งแต่ตอนบ่าย คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นคนขับ ผมก็นั่งมากับคุณอานันท์สองคนเท่านั้น มาถึงสถานทูตจีน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ขณะนั้นเป็นเวลา 3 ทุ่มกว่าแล้ว เมื่อเราเข้าไปในสถานทูตจีน มีเจ้าหน้าที่มารับเราเข้าไปพบ เฉากวงหัว (รมว.ต่างประเทศจีน) ซึ่งนั่งอยู่คนเดียวเท่านั้น แต่บนโต๊ะรับแขกที่เฉากวงหัวนั่งอยู่นั้น ที่เขี่ยบุหรี่มีก้นยาประมาณ 20 ก้น ก็แสดงว่า เฉากวงหัว รอเราอยู่ด้วยความกระวนกระวายพอสมควร เพราะวันนี้เป็นวันที่เราจะมาส่งข่าวว่ารัฐบาลไทยได้ตกลงใจอย่างแน่นอนแล้วที่จะเปิดสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน”

 

19 มีนาคม 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า

 

“จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตขั้นปกติกับสาธารณรัฐประชาชนจีน”

 

ต่อมานายอานันท์ ปันยารชุน นำคณะทำงานดังกล่าวเดินทางไปจีน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2518 เพื่อเริ่มการเจรจาเป็นทางการ

 

และแล้วเมื่อ 30 มิถุนายน 2518 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไทย-จีน ได้เปิดขึ้นให้เห็น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทย กับ โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ได้ลงนามข้อตกลงเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ยุติสภาพแห่งความเป็นศัตรูนานนับ 4 ทศวรรษ กลายเป็นมิตรที่จะสัมพันธ์กันในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำกรุงปักกิ่งคือ ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี 

 

การเปิดสัมพันธ์ทางการทูตไทยจีนได้ดำเนินมาก่อนหน้านั้นแล้ว

 

ความจริงก่อนภาครัฐจะขยับตัวในเรื่องนี้ เมื่อปี 2500 ภาคประชาชนซึ่งเป็นคณะศิลปินราว 50 ชีวิต นำโดย สุวัฒน์ วรดิลก ร่วมด้วย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, สุพรรณ บูรณะพิมพ์, สุเทพ วงศ์กำแหง, ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ได้ไปเปิดการแสดงจินตลีลาในจีน ได้พบทั้ง เหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล แต่เมื่อกลับไทยกลับถูกรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับกุมด้วยข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ สุวัฒน์ วรดิลก หัวหน้าคณะถูกคุมขังอยู่ 4 ปี ส่วนคนอื่นๆ ได้รับการประกันตัว

 

ควรนับเนื่องได้ว่าคณะศิลปินไทยชุดดังกล่าวมีคุณูปการสำคัญในการถางทางไมตรีไทย-จีนตั้งแต่บัดนั้น

 

 

ประเด็นเติ้งเสี่ยวผิงกับสงครามสั่งสอนเวียดนาม

 

สงครามจีนสั่งสอนเวียดนามเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2522 แปลว่า ผ่านเวลาไปกว่า 3 ปีนับจากที่เวียดนามขับไล่สหรัฐอเมริกาออกไป

 

เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนมาเยือนไทยเมื่อวันที่ 5-11 พฤศจิกายน2521 เป็นช่วงที่ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักประวัติศาสตร์อิสระ สัมภาษณ์ ซิว ซิววัน ล่ามไทยประจำตัวเติ้งเสี่ยวผิง แล้วเขียนบันทึกตีพิมพ์ในปาจารยสาร ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 (เดือนมกราคม-เมษายน 2562)

 

สรุปความสำคัญไว้ว่า

 

“คืนก่อนคณะจีนจะเดินทางกลับประเทศ ที่บ้าน พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ชาติชาย ชุณหะวัณ เชิญท่านเติ้งมาคุยกันในห้องรับแขก เราคุยกันอยู่ 3 คน คุณชาติชายแจ้งข่าวว่าทหารเวียดนามเริ่มขยับจะบุกรุกเขมร และอาจล่วงล้ำเข้ามาไทย หากมีความจำเป็น ไทยถูกคุกคาม เราจะขอความช่วยเหลือจากท่านด้วย ท่านเติ้งบอกว่ารับทราบแล้ว ท่านเติ้งเดินทางไปมาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ ท่านเริ่มพูดออกมาเป็นนัยๆ แล้วว่ามหาอำนาจตัวเล็กอย่างเวียดนามจะต้องได้รับการสั่งสอน

 

“เมื่อกลับจากสหรัฐอเมริกา จีนเคลื่อนกำลังทหารกว่า 600,000 นาย พร้อมรถยานเกราะจำนวนมาก ประชิดชายแดนเวียดนาม ตอนนั้นเวียดนามและ เฮง สัมริน บุกยึดกรุงพนมเปญแล้ว จีนประกาศให้เวียดนามถอนทหารออกจากทุกประเทศที่ยึดครอง เวียดนามไม่ฟัง หนำซ้ำยิงปืนใหญ่เข้าใส่กองทัพจีน โดยอาวุธที่เวียดนามใช้ส่วนใหญ่เป็นอาวุธที่จีนส่งให้เพื่อรบกับสหรัฐอเมริกา ทหารจีนมากกว่าครึ่งล้านนายจึงบุกข้ามชายแดนเวียดนามเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2522 สงครามสั่งสอนครั้งนั้นจบลงในเวลาสั้นๆ เพียง 16 วัน ทั้งสองฝ่ายเสียกำลังพลไปจำนวนมาก

 

“หลังจากนั้นเวียดนามถอนกำลังทั้งหมดออกจากลาวและกัมพูชา ไปเสริมทางเหนือเพื่อยันชายแดนจีนเอาไว้ การถอยกำลังกลับสู่ดินแดนจีนเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าจีนไม่ต้องการขยายอำนาจอิทธิพลใดๆ”

 

ดังนั้นต้องถือว่าไทยได้รับผลพลอยได้จากสงครามจีนสั่งสอนเวียดนาม จีนตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะหลังสงครามเย็น แม้สหรัฐอเมริกาจะแพ้สงครามอินโดจีน แต่ก็เป็นมหาอำนาจหนึ่ง ในขณะที่โซเวียตแผ่อิทธิพลในเอเชียอาคเนย์โดยมีเวียดนามและลาวเป็นกำลังหนุน สงครามครั้งนั้นจึงเริ่มต้นจากผลประโยชน์ของจีนเอง เพื่อถ่วงดุลโซเวียตรัสเซีย ไม่ได้เกิดจากการขอร้องของนายทหารไทยคนใด

 

ผู้เขียนได้คุยตรงกับ สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ โดยถามถึง พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ว่ามีบทบาทอย่างไรในเวลานั้น ได้รับคำตอบว่า

 

“ก่อนสงครามสั่งสอนเวียดนาม ปี 2522 ยุคเกรียงศักดิ์เป็นนายกฯ พล.อ. ชวลิต ยังเป็นแค่พันเอก ยังไม่มีบทบาทสำคัญอะไร เขายังไม่ได้ไปจีน นักวิชาการอเมริกันเปิดเผยว่า ช่วงที่เติ้งเสี่ยวผิงไปสหรัฐอเมริกาได้แจ้งกับประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ว่าจะทำสงครามสั่งสอนเวียดนาม จีนยอมไม่ได้ที่โซเวียตและเวียดนามพยายามขยายอิทธิพลที่คุกคามจีน

 

“สำหรับเรื่องคุณชวลิตไปจีนเป็นเรื่องจริง แต่เขาไปหลังสงครามสั่งสอนเวียดนาม เป็นช่วงที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ข้อมูลนี้อยู่ในบันทึกอัตชีวประวัติของ พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา ในยุคที่ท่านเป็น รมว.ต่างประเทศ คุณชวลิตจึงไม่มีบทบาทใดๆ ในการเปิดความสัมพันธ์ไทย-จีน และไม่มีบทบาทใดๆ ในสงครามสั่งสอนเวียดนาม รวมทั้งเรื่องไปลั่นไกปืนใหญ่นัดแรกที่กว่างซีใส่เวียดนามก็เป็นเรื่องไม่จริง พล.อ. ชวลิต เองก็ไม่เคยพูดเช่นนั้น เอกสารทุกอย่าง ข้อมูลปฐมภูมิจาก สิทธิ เศวตศิลา รมว.ต่างประเทศ ระบุไว้ตรงกันหมด ไปอ่านจากหนังสือของผมที่เป็นงานวิจัยเล่มหนึ่งของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เลย ในหนังสือชื่อ ประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น : ห้ากรณีศึกษาเปรียบเทียบนโยบายของไทยต่อเวียดนาม สำนักพิมพ์ศยาม ตีพิมพ์ปี 2560 (หน้า 460-479)”

 

เมื่อนำเอาไทม์ไลน์มาวางทาบกับเหตุการณ์ตามลำดับ จึงเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

 

ประวัติศาสตร์เป็นบันทึกเหตุการณ์เพื่อความรู้และความเข้าใจของสาธารณะ ถ้าเคารพประวัติศาสตร์ก็ต้องเคารพข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน แน่นอนไม่มีใครผูกขาดความถูกต้องได้ทั้งหมดทุกถ้อยกระทงความ แม้แต่บทความชิ้นนี้ก็ตาม เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างศึกษา ต่างรู้ ต่างเข้าใจ ต่างนำเสนอสิ่งที่เชื่อสู่สาธารณะ และผู้พูดหรือผู้เขียนก็ควรต้อนรับการตรวจสอบจากคนอื่นด้วย

 

การอ่านประวัติศาสตร์จึงไม่มีหลักอะไรอื่นที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าหลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าอย่าเชื่อเพราะเล่าต่อกันมา อย่าเชื่อเพราะเห็นเป็นครูบาอาจารย์ อย่าเชื่อเพราะมีบันทึกไว้เช่นนั้น อย่าเชื่อสิ่งใดอื่นนอกจากเหตุผลความเป็นจริงที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว

 

อ้างอิง:

  • หนังสือ ‘อานันท์ ปันยารชุน ชีวิต ความคิด และการงานของอดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย’ (สนพ.อมรินทร์ ตุลาคม 2541)
  • ขอขอบคุณ คุณสุรพงษ์ ชัยนาม, คุณจริย์วัฒน์ สันตะบุตร และ อาจารย์ทวี สุรฤทธิกุล
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X