×

เปิด 9 เหตุผล (อีกครั้ง) ทำไมต้อง #สมรสเท่าเทียม ในวันที่รัฐบาลไทยเป็นผู้เสนอกฎหมาย

โดย THE STANDARD TEAM
19.12.2023
  • LOADING...
สมรสเท่าเทียม

19 ธันวาคม 2566 ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ต้องบันทึกไว้ หลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ … พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อรองรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม จากนี้จะมีการเสนอต่อรัฐสภาในวันที่ 21 ธันวาคมนี้

 

ทั้งนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่รัฐบาลเสนอนั้น ผ่านการเห็นชอบจากประชาชนทั้งขั้นตอนการยกร่าง และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาลยุติธรรม หลังจากนี้จะให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าตรวจสอบเพื่อความรอบคอบอีกครั้ง

 

เศรษฐากล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้ดำเนินการเพื่อให้คนที่มีเพศเดียวกันสามารถหมั้นหรือสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัว เท่าเทียมคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งยังสร้างความเข้มแข็งและความเท่าเทียมในทุกด้านแก่สถาบันทางครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

“ผมขอถือโอกาสนี้แสดงความยินดีกับทุกๆ ฝ่ายด้วย ก็จะนำเข้ารัฐสภาในวันที่ 21 ธันวาคมนี้” เศรษฐากล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ทนายความประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับ LGBTQIA+ และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เขียนบทความที่ THE STANDARD ระบุปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า (https://thestandard.co/marriage-equality-act-draft-2023-version/?fbclid=IwAR1EmYT2hXd7cH0fq8pf5g0wfj9vDdYwHqNUQD52M-Ut9m_UWTLHevw7Two)

 

นับตั้งแต่เริ่มมีการผลักดันกฎหมายรับรองสถานะชีวิตคู่ LGBTQIA+ จนกระทั่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ริเริ่มร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างแรกในปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีปรากฏการณ์ที่น่ายินดีกับพี่น้อง LGBTQIA+ ในรอบทศวรรษคือ

 

รัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นครั้งแรก และคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเพื่อรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่รัฐบาลก่อนหน้าเสนอแต่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และเคยประกาศคว่ำร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

 

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของภาคประชาชนได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้นำไปบรรจุวาระรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก

 

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. พรรคก้าวไกล ได้รับการบรรจุวาระและรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง หลังจากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับเดิมที่เคยผ่านการพิจารณาวาระแรกตกไปจากการยุบสภาของรัฐบาลก่อน

 

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เวอร์ชันปี 2566 ทั้ง 3 ร่าง มีหลักการเหมือนกันคือ ขยายสิทธิการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง จากเดิมจำกัดเฉพาะชายกับหญิงให้ขยายสิทธิครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี โดยมิได้ลดทอนสิทธิหน้าที่ใดๆ ของคู่สมรส บิดา-มารดา ชาย-หญิงทั่วไป ทั้งที่มีอยู่เดิมและในอนาคต การแก้ไข ป.พ.พ. มิได้บังคับการจดทะเบียนสมรสกับประชาชนหรือศาสนิกชนใดๆ และมิได้เข้าไปแก้ไขหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกของพี่น้องชาวมุสลิม

 

ชวินโรจน์ได้เคยแสดงความคิดเห็นถึงประเด็น #สมรสเท่าเทียม ว่ามี 9 เรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ ดังนี้

 

  1. เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 บัญญัติให้สิทธิการสมรสเฉพาะเพศชายกับเพศหญิง ทำให้คู่รักหลากเพศ เช่น หญิงรักหญิง ชายรักชาย บุคคลรักได้ทั้งสองเพศ บุคคลข้ามเพศ บุคคลเพศกำกวม ฯลฯ (LGBTQIA+) ถูกจำกัดสิทธิ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ขาดสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีที่พึงมีต่อกัน และพึงได้รับจากการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

 

  1. การรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในฐานะ ‘คู่ชีวิต (Civil Partnerships)’ ไม่ปรากฏในประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ หรือระเบียบของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใดๆ มาก่อน ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง หากต้องการสิทธิใดๆ ในฐานะ ‘คู่ชีวิต’ ตามกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลรัษฎากร พ.ร.บ.ประกันสังคม ฯลฯ

 

  1. การออก พ.ร.บ.คู่ชีวิต แยกออกจาก ป.พ.พ. ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการใช้ดุลพินิจในการจำกัดสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระบวนการหรือสถานที่สำหรับจดทะเบียนคู่ชีวิตมีการปฏิบัติที่แตกต่างจากการจดทะเบียนสมรสตาม ป.พ.พ. อาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual Orientation and Gender Identity)

 

  1. การจัดทำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แทนที่จะไปปรับแก้ ป.พ.พ. เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้เท่าเทียม ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อศักดิ์ศรีของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวของคู่ LGBTQIA+ ว่าด้อยกว่าศักดิ์ศรีของคู่รักต่างเพศอย่างไร

 

  1. ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ผ่านมามีความซับซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การตรวจสอบว่าคู่ชีวิตหรือคู่สมรสเคยจดทะเบียนแบบใดมาก่อน เคยจดทะเบียนซ้อนหรือไม่ หรือสิทธิหน้าที่ใดตาม ป.พ.พ. จะสามารถนำมาอนุโลมบังคับใช้ให้กับคู่ชีวิตมากน้อยหรือไม่เพียงใด

 

  1. การเป็น ‘คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Spouses)’ เป็นคำที่เป็นสากลและสามารถกล่าวอ้างได้ทั่วโลก ในขณะที่การเป็นคู่ชีวิตไม่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศทุกประเทศ

 

  1. หากประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในรูปแบบของ ป.พ.พ. คู่สมรส LGBTQIA+ ที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เช่น นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ ก็จะได้รับการคุ้มครองและมีศักดิ์ศรีตามที่เคยได้รับในประเทศต้นทางที่มีกฎหมายให้ความเสมอภาคในการสมรสเช่นเดียวกัน

 

  1. การขยายการสมรสตาม ป.พ.พ. ไปยังคู่ LGBTQIA+ ช่วยแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้คู่รัก LGBTQIA+ ได้รับสิทธิหน้าที่ที่คู่สมรสชาย-หญิงทั่วไปได้รับ เช่น สิทธิในการปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการดำเนินการตั้งครรภ์แทนโดยอาศัยเทคโนโลยี สิทธิในสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ นอกจากนั้นเด็กที่เลี้ยงดูโดยคู่ LGBTQIA+ จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากคู่ LGBTQIA+ ทั้งสองในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย เฉกเช่นคู่รักชาย-หญิงทั่วไป ไม่เกิดความแตกต่างแปลกแยก

 

  1. ประเทศไทยให้คำปฏิญญาโดยสมัครใจกับกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ตั้งแต่ปี 2559 ว่าจะทบทวนเงื่อนไขการสมรสตาม ป.พ.พ. ที่จำกัดสิทธิการสมรสสำหรับบุคคลบางประเภท ซึ่งในรัฐบาลที่แล้วได้แสดงจุดยืนว่ายังไม่พร้อม แต่ต้องจับตารัฐบาลชุดปัจจุบันว่าจะแสดงจุดยืนได้รวดเร็วเพียงใด ซึ่งตาม ป.พ.พ. ปัจจุบัน LGBTQIA+ ถูกจำกัดสิทธิการสมรส ดังนั้นหากสามารถแก้ไข ป.พ.พ. สำเร็จ ประเทศไทยย่อมจะได้รับการยอมรับโดยนานาอารยประเทศ และถือเป็นการปฏิบัติตามคำสัญญาและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามรับรองไว้ด้วย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X