ผลสำรวจล่าสุดจาก Vero Advocacy และ Kadence International เผยมุมมองน่าสนใจของคนรุ่นใหม่ไทยที่มองอนาคตในแง่บวกถึง 89% โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่ 42% เชื่อว่าชีวิตจะ ‘ดีขึ้นมาก’ และอีก 47% คาดว่าจะ ‘ดีขึ้น’ ซึ่งสูงกว่ากลุ่ม Millennials ที่รวมกันอยู่ที่ 85% แม้จะมองโลกในแง่ดีแต่พวกเขาก็ยังมีความกังวลในหลายประเด็นที่รอการแก้ไข
การศึกษาที่สำรวจความคิดเห็นของ Gen Z และ Millennials กว่า 2,700 คนจาก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศไทย 452 คน ชี้ให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ไทยกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ 3 ด้านหลัก ได้แก่ โอกาสในการทำงาน คุณภาพการศึกษา และการเข้าถึงที่อยู่อาศัย
โดยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคพบว่า ความหวังในแง่บวกของคนไทยใกล้เคียงกับเวียดนาม (90%) อินโดนีเซีย (87%) มาเลเซีย (85%) และฟิลิปปินส์ (85%) ขณะที่สิงคโปร์มีตัวเลขต่ำที่สุดที่ 74%
ด้านการทำงานพบว่า 63% ของ Gen Z และ 69% ของ Millennials มองว่าการจ้างงานเป็นความท้าทายอันดับหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึง ‘ความไม่มั่นคง’ ในอาชีพที่กำลังเผชิญ พวกเขาเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งในแง่การให้คำปรึกษาด้านอาชีพ การจัดโครงการจัดหาและย้ายสายงาน รวมถึงการสนับสนุนด้านการประกอบธุรกิจ
นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการริเริ่มโครงการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ด้านการศึกษา แม้ไทยจะมีนโยบายเรียนฟรีและได้รับงบประมาณมหาศาลถึง 328,000 ล้านบาทในปี 2567 แต่ 69% ของ Gen Z และ 66% ของ Millennials ยังกังวลเรื่องคุณภาพการศึกษา สะท้อนผ่านคะแนนความพึงพอใจเพียง 54%
แม้จากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จะระบุว่านโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จในการลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างพื้นที่ชนบทและเมือง แต่คนรุ่นใหม่ยังเสนอให้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย ควบคู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโลกการทำงานยุคใหม่
ส่วนประเด็น ‘ที่อยู่อาศัย’ กลายเป็นความท้าทายสำคัญของ ‘เจเนอเรชันเช่า’ โดย 45% ของทั้งสองกลุ่มมองว่าเป็นปัญหาลำดับต้นๆ แม้ว่าจะมีความพึงพอใจต่อนโยบายที่อยู่อาศัยสูงถึง 53% ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาค แต่การขาดแคลนที่อยู่อาศัยในทำเลที่เข้าถึงได้ยังคงเป็นความกังวล ส่งผลให้คนรุ่นใหม่หันมาเลือกเช่าแทนซื้อมากขึ้น จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘Generation Rent’ ที่มีแนวโน้มขยับแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามได้เสนอแนะให้เร่งผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่รอบนอกเมือง และออกแบบมาตรการเงินอุดหนุนที่ตรงกลุ่มเป้าหมายสำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะช่วยให้ทั้งการซื้อและการเช่าที่อยู่อาศัยเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้มากขึ้น
“การจ้างงาน การศึกษา และที่อยู่อาศัย คือความท้าทายเร่งด่วนของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนความมั่นคงในชีวิต แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมโดยรวม” พงศ์ศิริ ภูรินธนโชติ หนึ่งในหุ้นส่วนผู้จัดการของ Vero Advocacy กล่าว
ด้าน Ashutosh Awasthi ผู้อำนวยการ Kadence International มองว่า “การศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญที่กลุ่ม Gen Z และ Millennials กำลังเผชิญ และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงบริการต่างๆ ของคนรุ่นใหม่”
ขณะที่ ณัฐพร บัวมหะกุล หนึ่งในหุ้นส่วนผู้จัดการของ Vero Advocacy กล่าวว่า “เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องเข้าใจและตอบสนองต่อความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้พวกเขาอย่างเต็มที่ เพราะอนาคตของพวกเราทุกคนล้วนขึ้นอยู่กับการเสริมสร้างศักยภาพของคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น”
ท่ามกลางความท้าทายและอุปสรรคที่รออยู่เบื้องหน้า ‘ความหวัง’ ของคนรุ่นใหม่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่การจะทำให้ความหวังนั้นเป็นจริงได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง