×

ฟุตบอลไทยไปไหนต่อ?​ เมื่อแผนระยะยาวยังดูห่างไกล ระยะใกล้ยังมองไม่เห็นหนทาง

16.06.2021
  • LOADING...
ฟุตบอลไทย

เวลา 01.54 น. ของวันนี้ (16 มิถุนายน) คือเวลาที่เราได้ยินเพจฟุตบอลไทยต่างๆ เด้งขึ้นพร้อมๆ กัน พร้อมกับการวิเคราะห์การตกรอบ 2 ของศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกโซนเอเชียของฟุตบอลทีมชาติไทย 

 

เมื่อฟุตบอลทีมชาติไทยพ่ายให้กับมาเลเซียไป 0-1 และจบการแข่งขันในฐานะรองอันดับสุดท้ายของกลุ่มที่เต็มไปด้วยทีมจากอาเซียน ทั้งเวียดนามที่จบในฐานะแชมป์กลุ่ม G มาเลเซียที่จบอันดับที่ 3 โดยมีอินโดนีเซียทีมเดียวที่อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าไทย 

 

ฟุตบอลไทย

 

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลของความพยายามที่จะต่อยอดของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากความสำเร็จที่ไทยเคยก้าวขึ้นไปแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย 

 

ซึ่งทีมชาติไทยในวันนั้นเป็นเจ้าอาเซียน ด้วยแชมป์ซูซูกิคัพ เหรียญทองซีเกมส์ และ จบอันดับที่ 4 ของเอเชียนเกมส์เมื่อปี 2014 

 

แต่เมื่อการก้าวขึ้นไปแข่งขันถึงระดับเอเชียแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จในวันนั้น คือจุดเริ่มต้นที่พาเรามาถึงเหตุการณ์ของค่ำคืนวันที่ 16 มิถุนายน 

 

เจ้าอาเซียนที่ต้องการจะไปไกลในระดับเอเชีย 

 

ฟุตบอลไทย

 

ปี 2015 ในห้องประชุมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครที่เต็มไปด้วยนักข่าวจากภูมิภาคอาเซียน มีตัวแทนนักข่าวจากสิงคโปร์เดินมาพูดคุยกับผู้เขียนในเรื่องของฟุตบอล ซึ่งเป็นหัวข้อที่หลายคนให้ความสนใจในเวลานั้นจากความสำเร็จของทีมชาติไทยภายใต้การคุมทีมของ ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง 

 

ที่พาฟุตบอลทีมชาติไทยออกจากยุคมืดที่แฟนบอลหมดหวังกับการลุ้นแชมป์ในระดับอาเซียน ไปสู่เหรียญทองซีเกมส์ ปี 2013 จบอันดับที่ 4 เอเชียนเกมส์ ปี 2014 แชมป์ซูซูกิคัพ หรือฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนในปี 2014 

 

ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทุกคนพูดถึงในวันนั้นคือ การต่อบอลที่รู้จังหวะกันทั้งทีมของฟุตบอลทีมชาติไทยในรอบชิงชนะเลิศซูซูกิคัพ 2014 เกมแรกกับมาเลเซีย 

 

 

Amazing Tiki-taka play by Thailand during 1st Leg Final of the AFF Suzuki Cup 2014 against Malaysia. 

 

คำชื่นชมที่เราได้รับจากนักข่าวสิงคโปร์ ซึ่งต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่นักข่าวกีฬาคือ 

 

“ฟุตบอลทีมชาติไทยลงทุนกับเวลา ด้วยการให้โอกาสซิโก้คุมทีมตลอดมา แล้ววันนี้พวกคุณประสบความสำเร็จจากการลงทุนแล้ว ยินดีด้วย” 

 

หลังจากนั้นฟุตบอลทีมชาติไทยด้วยความสำเร็จในระดับอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทีมชาติไทยเริ่มต้นที่จะมุ่งหวังไปที่การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2018 ที่ประเทศรัสเซีย 

 

ไทยจับสลากมาอยู่ร่วมกลุ่มกับ อิรัก เวียดนาม และไต้หวัน ในรอบที่ 2 ก่อนที่จะผ่านเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายในฐานะแชมป์กลุ่มที่มี 14 แต้มจาก 6 เกม 

 

ด้วยฟอร์มการเล่นบวกกับสไตล์เกมรุกที่ไหลลื่น ที่มีทั้ง เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์, อุ้ม-ธีราทร บุญมาทัน รวมถึงนักเตะที่ฟอร์มแรงในตอนนั้นทั้ง อดิศักดิ์ ไกรษร และ เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ และที่หลายคนให้ความสนใจคือ ชาริล ชัปปุยส์ นักเตะลูกครึ่งสวิสที่เลือกลงเล่นให้กับทีมชาติไทย ทำให้ไทยมีความหวังสูงกับการไปแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่รัสเซีย 

 

แต่แล้วผลงานของไทยในระดับเอเชียก็ทำให้เกิดการตั้งคำถาม เมื่อไทยเก็บแต้มได้เพียง 1 แต้มจาก 7 เกม ทำให้เกิดคำถามที่ดังขึ้นว่าหากฟุตบอลทีมชาติไทยจะไปสู่ระดับเอเชีย หรือผ่านระดับเอเชียไปสู่ฟุตบอลโลก ทีมชาติไทยจำเป็นต้องใช้โค้ชที่มีทักษะฝีมือ และประสบการณ์ในระดับโลกมาคุมทีมหรือไม่ 

 

เสียงที่ดังที่สุดในเวลานั้นคือ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่เคยพูดไว้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 หลัง ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง นำทีมชาติไทยไทยพ่ายให้กับญี่ปุ่น 0-4 ในรอบ 12 ทีมสุดท้ายว่า 

 

“เรามีแต้มเดียว แล้วถ้าผมในฐานะที่เป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้คุมหรือกำหนดชะตากรรมทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ท่านจะปล่อยให้ผมอยู่อย่างนี้หรือทำแบบนี้ต่อไป โดยที่ไม่คิดหรือหาวิธีการที่สามารถนำทีมฟุตบอลทีมชาติไทยก้าวหน้า หรือก้าวไปสู่เวทีที่สูงกว่านี้ 

 

“ถ้าบอกว่าอยู่กันไปแบบนี้ไม่เป็นไร เป็นแชมป์ซูซูกิ เป็นแชมป์ซีเกมส์ ไประดับเอเชีย แพ้ที 4-0, 3-0, 2-0 ไม่เป็นไร แต่สำหรับผม ผมอายครับ ผมทนไม่ได้ ผมรับไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้”

 

หลังจากนั้นไม่นาน ซิโก้ก็แยกทางกับฟุตบอลทีมชาติไทย ยุติเส้นทางของความสำเร็จตลอด 4 ปีภายใต้การคุมทีมของเขา 

 

ซึ่งต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ในเวลานั้นมีแฟนบอลบางส่วนที่เห็นด้วยกับมุมมองของนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่ต้องพัฒนาระบบโครงสร้างของฟุตบอลทีมชาติไทย และต้องการโค้ชที่มีประสบการณ์ระดับโลกเข้ามาต่อยอดความสำเร็จของไทย 

 

สร้างฟุตบอลไทยใหม่จากรากฐานไปสู่ระดับเอเชีย 

 

ฟุตบอลไทย

 

สิ่งที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารของ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ทำคือการพัฒนาในเชิงโครงสร้างและระบบพัฒนานักฟุตบอลหลากหลายรูปแบบ ทั้งการนำเอา ‘เอคโคโน่’ บริษัทด้านการจัดการฟุตบอลระดับโลกจากสเปนมาดูระบบเยาวชนฟุตบอลไทย 

 

รวมถึงการวางระบบพัฒนาตั้งแต่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดูแลระบบในสนามแข่งขัน การพัฒนาโค้ชในแต่ละระดับจนถึงการวางระบบไลเซนส์ต่างๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาฟุตบอลทั้งโครงสร้างไปพร้อมๆ กันตั้งแต่รากฐานถึงยอดพีระมิด ซึ่งก็คือฟุตบอลทีมชาติไทยชุดใหญ่

 

โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ที่จะทำให้ยอดพีระมิดมีความสูงพอที่จะนำพาฟุตบอลทีมชาติไทยเข้าไปแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายให้ได้ 

 

ซึ่งยอดพีระมิดหลังจากที่ซิโก้อำลาตำแหน่ง ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ต่อคือ มิโลวาน ราเยวัช กุนซือชาวเซอร์เบีย ผู้ที่มีประสบการณ์ในการนำพากานาเข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเข้ามาคุมทีมชาติไทย 

 

วันที่ราเยวัชเข้ามาคุมทีมวันแรก สิ่งที่ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเขาในงานแถลงข่าวเปิดตัวทีมชาติไทยคือ “คุณคิดว่าจะรับมือแรงกดดันจากสื่อไทย ความคาดหวังจากแฟนบอลได้ไหม” ซึ่งราเยวัชได้ตอบในวันนั้นว่า

 

“ความคาดหวังเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เราก็ต้องเข้าใจความเป็นจริงด้วย ความฝันเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะมี ผมหวังว่าเราจะทำความฝันให้เป็นจริงด้วย ผมเชื่อว่าถ้าเราทำงานกันเป็นทีมเดียว ผมว่าความฝันไม่ไกลเกินเอื้อม” 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันซ้อมต่อหน้าสื่อครั้งแรก เราจำได้อย่างแม่นยำถึงการทำงานของราเยวัชที่นำทีมไปซ้อมในมุมอับของภาพ 

 

โดยสื่อต่างประเทศในวันนั้นได้บอกกับเราว่า คือการตอบโต้ของราเยวัชที่โดนสื่อถามคำถามว่า “จะรับมือกับแรงกดดันของสื่อไทยอย่างไร” ทำให้เห็นถึงวัฒนธรรมการทำงานที่จะแตกต่างไปจากอดีตในยุคสมัยของกุนซือชาวเซอร์เบียรายนี้ 

 

แต่แล้วราเยวัชก็ไม่สามารถนำพาไทยสู่ระดับเอเชียได้ เมื่อเขานำทีมชาติไทยเสมอ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) แพ้อิรักกับออสเตรเลียในช่วง 3 เกมที่เหลือของศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย 

 

ขณะที่ในระดับอาเซียนในศึกซูซูกิคัพ 2018 ไทยในฐานะแชมป์เก่าก็ต้องตกรอบรองชนะเลิศด้วยการพ่ายให้กับมาเลเซีย

 

สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาสำหรับราเยวัช คือการสื่อสารของเขาที่ใช้ล่ามถึงสองคนในการสื่อสาร เพราะราเยวัชพูดเป็นภาษาเซอร์เบีย ก่อนจะแปลเป็นอังกฤษ และแปลเป็นไทยอีกครั้ง ซึ่งเมื่อมีทั้งกำแพงภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าอาจเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการทำงานได้ 

 

สิ่งหนึ่งที่ราเยวัชได้เสริมไว้ให้กับทีมชาติไทยในยุคนั้นคือเกมรับ ที่คู่กองหลังที่ได้รับคำชื่นชมอย่าง เฉลิมพงษ์ เกิดแก้ว และ พรรษา เหมวิบูลย์ 

 

แต่สุดท้ายในปี 2019 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็ได้ตัดสินใจปลดราเยวัชพ้นจากตำแหน่ง และก้าวต่อไปสู่ยุคของความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในแง่ของการพัฒนาฟุตบอลในหลายระดับ 

 

อากิระ นิชิโนะ เฮดโค้ชเอเชียคนแรกของทีมชาติไทย 

 

ฟุตบอลไทย

 

วันที่หลายคนได้ยินถึงการแต่งตั้งเฮดโค้ชชาวญี่ปุ่นคนแรกของทีมชาติไทย นับว่าเป็นความตื่นเต้นที่เกิดขึ้นในหลายแง่มุม เมื่อช่วงเวลานั้นมีนักฟุตบอลไทยหลายคนเดินทางไปค้าแข้งในศึกเจลีก ประเทศญี่ปุ่น ทั้ง เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีรศิลป์ แดงดา และ ธีราทร บุญมาทัน 

 

บวกกับการถ่ายทอดสดเจลีกที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย ทำให้ฟุตบอลไทยดูเหมือนว่าจะมีแนวทางพัฒนาฟุตบอลหลากหลายรูปแบบผ่านความร่วมมือกับฟุตบอลญี่ปุ่น ชาติมหาอำนาจฟุตบอลแห่งเอเชีย ที่ในเวลานั้นก็มองว่าหากจะพัฒนาฟุตบอลในเอเชีย ทุกทีมก็ต้องช่วยกันยกระดับมาตรฐานการแข่งขันไปพร้อมๆ กัน 

 

โดยวันที่ อากิระ นิชิโนะ เข้ามาคุมทีมชาติไทย แฟนๆ ได้เริ่มเห็นการทำงานเป็นระบบที่ใส่ใจรายละเอียด ด้วยการที่กุนซือชาวญี่ปุ่นเดินทางไปเก็บรายละเอียดของนักเตะไทยเองในแต่ละสนามของการแข่งขันไทยลีก

 

ภาพที่ปรากฏต่างได้รับคำชื่นชมถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของกุนซือผู้นี้ที่ต้องการจะหานักเตะที่ดีที่สุดในประเทศด้วยการลงมือไปสำรวจด้วยตัวเอง 

 

การเริ่มงานของนิชิโนะเกมแรกเป็นการพบกับเวียดนามที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งแม้ว่าเกมแรกจะเสมอกันที่ 0-0 แต่หลายคนก็พอใจกับทิศทางการเล่นที่น่าสนใจมากขึ้น บวกกับปรัชญาต่างๆ ของนิชิโนะที่สะท้อนออกมาผ่านบทสัมภาษณ์ และงานแถลงข่าวที่บอกให้นักฟุตบอลไทย โดยเฉพาะเยาวชนมีความเชื่อมั่น และมีความกล้าที่จะท้าทายตัวเองในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

ผลผลิตของการค้นหาและสำรวจ นิชิโนะได้นักเตะอย่าง เอกนิษฐ์ ปัญญา, สุภโชค สารชาติ และ พิธิวัตต์ สุขจิตธรรมกุล ต่างก็ดูเป็นองค์ประกอบที่จะนำพาฟุตบอลทีมชาติไทยสู่ความสำเร็จที่แฟนบอลต้องการได้ จนนำมาสู่เกมรุกที่สนุกและตื่นเต้นอีกครั้งจากทีมชาติไทย 

 

ซึ่งหลังจากนั้นนิชิโนะก็เริ่มต้นผลงานที่ดีกับทีมชาติไทยด้วยการเอาชนะอินโดนีเซียไป 3-0 ต่อด้วยการเอาชนะยูเออีไป 2-1 ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกโซนเอเชียรอบที่ 2 

 

แต่หลังจากที่ไทยบุกไปพ่ายให้กับมาเลเซียไป 1-2 ไทยก็สะกดคำว่าชนะไม่เป็นอีกเลยในการแข่งขันรายการนี้ โดยสรุปหลังจบทัวร์นาเมนต์คือเป็นการชนะ 2 เสมอ 3 แพ้ 3 

 

ด้วยผลงาน 10 นัดประกอบไปด้วย 

 

เสมอ เวียดนาม 0-0

ชนะ อินโดนีเซีย 3-0

ชนะ ยูเออี 2-1

แพ้ มาเลเซีย 1-2

เสมอ เวียดนาม 0-0

เสมอ อินโดนีเซีย 2-2

แพ้ ยูเออี 1-3

แพ้ มาเลเซีย 0-1

 

สิ่งที่หลายคนสังเกตเห็นใน 3 เกมสุดท้ายที่ขนขุนพลไปแข่งขันที่ยูเออีถึง 41 คน คือ อากิระ นิชิโนะ จากกุนซือที่ช่วงแรกดูจะเป็นโค้ชที่ทำการบ้านอย่างหนักในการทำความรู้จักนักเตะไทยเพื่อค้นหา 11 ผู้เล่นที่ดีที่สุด 

 

มาในครั้งนี้ดูเหมือนว่ากุนซือชาวญี่ปุ่นคนนี้จะแทบไม่รู้จักฟอร์มของนักเตะของเขาเลย เมื่อการเลือกใช้ เออร์เนสโต ภูมิภา แบ็กซ้ายที่ในสองเกมแรกมีปัญหาในเกมรับอย่างชัดเจน ลงสนามในเกมสุดท้ายจนนำไปสู่การเสียจุดโทษที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ในเกมสุดท้ายกับมาเลเซีย บวกกับการใช้กองหลังที่ถูกตั้งคำถามอย่าง สถาพร แดงสี ที่ตกชั้นกับตราด เอฟซี และศึกไทยลีก ส่วน สุพรรณ ทองสงค์ ก็ผ่านช่วงการหนีตกชั้นกับสุพรรณบุรี เอฟซี 

 

หลายคนตั้งคำถามไปยังคนที่อยู่ข้างตัวนิชิโนะ โดยเฉพาะการเปลี่ยนล่ามแปลภาษาจาก กร-ณฐกร เทียมกีรกุล ที่ร่วมงานกับนิชิโนะมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ถูกบริษัทเอเจนต์นำนักเตะไทยไปญี่ปุ่นส่งไปทำหน้าที่ประสานงานกับนักเตะไทยในญี่ปุ่น และได้ปรับมาใช้ ยูกิ หรือ ธีรเนตร ยูกิ ทานากะ ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น วัย 35 ปี ซึ่งมีบางฝ่ายมองว่าอาจทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์เท่ากับเจ้ากร 

 

ฟุตบอลทีมชาติไทย อีกไกลแค่ไหนคือใกล้? 

 

ฟุตบอลไทย

 

พยายามจะทำวิธีต่างๆ ให้เธอนั้นรักฉัน

พยายามทุกวัน มอบให้ทุกอย่างที่เธอต้องการ

เหมือนเดินบนสะพานที่มีปลายทางคือใจของเธอ

ยังคงคิดและหวังจะนำเอารักแท้นี้ไปให้

แต่ทำไม เดินมาเนิ่นนานไม่ถึงสักที

แต่ทำไม มองดูเส้นทางเหมือนยาวออกไป

อยากรู้ว่าฉันต้องทำตัวอย่างไร

 

ช่วงต้นของเพลง ไกลแค่ไหน คือ ใกล้ ของวง Getsunova คือสิ่งที่บ่งบอกความรู้สึกของแฟนบอลทีมชาติไทยหลายคนได้เป็นอย่างดี เมื่อเราตัดสินใจที่จะรอคอย และ อดทนกับพัฒนาการต่างๆ ที่เป็นระบบ บวกกับการสร้างปรัชญาการทำงานแบบญี่ปุ่นที่มีทั้งความเป็นมืออาชีพและความทุ่มเท 

 

แต่สุดท้ายเราก็กลับมาสู่การตกรอบ 2 ของศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย 

 

ทำให้เรายังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ว่า แล้วความคาดหวังที่เหมาะสมสำหรับกราฟเส้นพัฒนาของฟุตบอลไทยอยู่ตรงไหน? 

 

เมื่อวันนี้เราย้อนกลับมาสู่จุดที่ต้องพัฒนาแข่งขันกับชาติระดับอาเซียนอีกครั้ง 

 

แต่ในความพ่ายแพ้วันนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับหากใครได้รับชมฟุตบอลไทยมาเป็นเวลานานคือ หากเปรียบเทียบช่วงเวลานี้กับช่วงเวลาก่อนที่ซิโก้จะเข้ามาคุมทีมชาติไทยเมื่อปี 2013 คือในตอนนี้เราดูมีหวังมากกว่าในอดีต 

 

ด้วยศักยภาพของผู้เล่นเยาวชนไทย บวกกับขุมกำลังนักเตะในการแข่งขันไทยลีก และนักเตะหลายคนที่กำลังมีอนาคตไกลอยู่ในต่างแดน ทั้งในญี่ปุ่นและในยุโรป โครงสร้างพื้นฐานของไทยดีขึ้นด้วยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน บวกกับหัวหน้าผู้ฝึกสอนไทยที่มีโปรไลเซนส์ทั้งหมด 29 คน

 

สิ่งที่ขาดในตอนนี้คือ คนที่จะมาหาสูตรนำศักยภาพสูงสุดของทรัพยากรที่มีไปสู่ความสำเร็จ และคนที่จะเป็นศูนย์รวมจิตใจของทีมที่จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในระดับทีมชาติ 

 

เพื่อเรียกศรัทธาของแฟนบอลชาวไทยกลับมาก่อนเป็นลำดับแรก 

 

หนทางต่อจากนี้เชื่อว่าอนาคตของกุนซือญี่ปุ่นคนแรกของไทยอาจจะจบลงแล้ว หลังเสียงนกหวีดสุดท้ายที่ยูเออีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ต่อจากนี้คือการเริ่มต้นค้นหาผู้ที่เหมาะสมใหม่ในการนำไปพาฟุตบอลไทยเดินหน้าต่อไป 

 

หากมองดูศักยภาพของโค้ชในประเทศตอนนี้ ที่มีโค้ชระดับโปรไลเซนต์ถึง 29 คน 

 

หนึ่งในรายชื่อที่น่าสนใจอาจจะเป็น โค้ชหระ-อิสสระ ศรีทะโร อดีตเฮดโค้ชทีมชาติไทยยู-19 ที่ทำทีมชาติไทยผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ด้วยการเอาชนะเกาหลีเหนือ 2-1 ซึ่งเขายังเคยได้ร่วมงานกับทั้ง กฤษดา กาแมน, ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา และ เอกนิษฐ์ ปัญญา 

 

แต่ถ้าเป็นโค้ชต่างชาติก็ต้องลุ้นอีกครั้ง ทั้งเรื่องปัญหาการสื่อสารระหว่างโค้ชกับนักเตะที่มีมากกว่ากำแพงภาษา แต่ยังมีเรื่องของความเข้าใจแท็กติกที่หลากหลาย และ การดึงเอาศักยภาพที่ดีที่สุดของนักเตะไทยออกมาพร้อมกันทุกๆ ทีม 

 

สุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ คือการร่วมงานกันของทุกภาคส่วนในการเร่งหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising