×

ผ่าสังเวียนศึก ‘ฟู้ดเดลิเวอรีไทย’ เมื่อโจทย์ใหญ่ในจานอร่อยคือต้อง ‘ทำเงิน’ ด้วย

01.10.2020
  • LOADING...
ฟู้ดเดลิเวอรี Grab GrabBike GrabFood ขับรถส่งอาหาร เดลิเวอรี่

HIGHLIGHTS

8 mins. read

 

  • มูลค่าของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทยปี 2562 ที่ผ่านมา อยู่ที่ราว 3.5 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าที่ 9% โดยคาดว่าปีนี้ตลาดโดยรวมน่าจะโตกว่า 100-200% มากกว่าการคาดการณ์จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 
  • ปัจจุบันมีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดภาวะการแข่งขันที่สูงตามไปด้วย ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ต้องอัดงบทำตลาด จัดเต็มโปรโมชันส่วนลด ส่งฟรี จนทำให้โจทย์ ‘การทำเงิน’ กลายเป็นเรื่องยาก
  • โมเดลที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารส่วนใหญ่มุ่งเน้นทำคือ การเติมบริการใหม่ๆ ลงไปในแพลตฟอร์ม เพื่อหวังมุ่งทำเงินและสร้างกำไรให้กับธุรกิจในระยะยาว

 

ต้องยอมรับว่า ความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์ นโยบายการ Work from Home ไปจนถึงการที่ร้านอาหารจำเป็นต้องยุติการให้บริการนั่งทานภายในร้าน ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเชิงจำนวนผู้ใช้บริการ, ร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นมาในระบบ, จำนวนคนขับ หรือแม้แต่ค่า GP ที่ถูกปรับอัตราขึ้นเองก็ดี

 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อความต้องการใช้บริการของผู้บริโภคมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นและเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว ‘ผู้เล่นหน้าใหม่’ ใน ‘อุตสาหกรรมใหม่’ ก็เริ่มมองเห็นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการเข้ามาร่วมแบ่งเค้กก้อนโตชิ้นนี้ด้วย ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา เราจึงเห็นผู้ให้บริการทางการเงินอย่างไทยพาณิชย์และกสิกรไทยเปิดตัว Robinhood และ Eatable ตามลำดับ

 

แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ยิ่งมีคู่แข่งในตลาดเยอะ ผู้ให้บริการแต่ละเจ้าก็ต้องงัดกลยุทธ์และไม้เด็ดออกมาเชือดเฉือนกันดุเดือดทุกกระบวนท่า แถมก็ต้องไม่ลืมว่า รายได้จากธุรกิจการให้บริการรูปแบบนี้ส่วนใหญ่หมดไปกับการใช้จ่ายงบ ‘ด้านการตลาด’ การทำโปรโมชันเพื่อดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่ นั่นจึงทำให้โจทย์การแข่งขันและการทำเงินในสังเวียนนี้ ‘ยากยิ่งขึ้นกว่าเดิม’ 

 

THE STANDARD สรุปภาพรวมการแข่งขันของศึกแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทยมากางดูกันให้เห็นชัดๆ ว่าผู้เล่นแต่ละเจ้ากำลังขยับตัวเองในจังหวะไหน ด้วยกลยุทธ์แบบใด แล้วสถานการณ์การแข่งขันต่อจากนี้จะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

 

New Normal พนักงานส่งอาหาร ฟู้ดเดลิเวอรี Grab LineMan FoodPanda

 

‘โควิด-19 เป็นเหตุ’ ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทยปี 63 มีแนวโน้มโตระเบิด 200% 

แม้จะยังไม่มีหน่วยงานใดจัดทำข้อมูลภาพรวมตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในไทยอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่จากการเปิดเผยของ ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท LINE MAN Wongnai ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็พบว่า ตลาดอาหารประเทศไทยมีขนาดที่ใหญ่มาก โดยมีมูลค่าตลาดโดยรวมถึงประมาณ 7 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4% ต่อปี

 

ขณะที่เมื่อจำแนกลงมาเจาะเฉพาะตลาดฟู้ดเดลิเวอรีก็จะพบว่า มูลค่าของตลาดนี้ในปี 2562 ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้าที่ราว 9% (เทียบเคียงกับชุดข้อมูลการประเมินมูลค่าตลาดโดยเว็บไซต์ Statista)

 

 

มูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในไทยระหว่างปี 2014-2019: Statista)

 

ส่วนในปี 2563 นี้ที่เดิมทีมีการประเมินในตอนต้นกันไว้ว่า ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทยอาจจะเติบโตจากปีก่อนที่ประมาณ 84% อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการบีบทางอ้อมให้ผู้บริโภคจำนวนมากต้องหันมาพึ่งพาทางเลือกของบริการการสั่งอาหารรูปแบบนี้มากขึ้นไปด้วย จนส่งผลให้มีการปรับการประเมินอัตราการเติบโตของตลาดนี้ในปี 2563 ว่าน่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 100-200% เลยทีเดียว

 

ทั้งหมดจึงเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ให้เห็นถึงเทรนด์แนวโน้มความคึกคักของตลาดฟู้ดเดลิเวอร์ไทยในปีนี้ได้อย่างชัดเจน 

 

LineMan ฟู้ดเดลิเวอรี พนักงานส่งอาหาร LINE

 

LINE MAN Wongnai รุกหนัก Foodpanda เพิ่มความหลากหลายพอร์ตธุรกิจ และการเกิดใหม่ของ GoJek

หลังข่าวการควบรวมกิจการระหว่าง LINE MAN และแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์รีวิวอาหารอย่าง Wongnai ถูกประกาศออกมาพร้อมๆ กับการแต่งตั้ง ยอด ชินสุภัคกุล เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สังเวียนฟู้ดเดลิเวอรีไทยก็ดูเหมือนว่าจะถูกอุ่นเครื่องความดุเดือดขึ้นมาทันที

 

ดีลการควบรวมกิจการของ LINE MAN และ Wongnai นั้นเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของทั้งสองบริษัท ซึ่งผ่านการทำงานร่วมกันในฐานะพาร์ตเนอร์มายาวนาน 4 ปีเต็ม โดยทั้งคู่มองว่าถึงเวลาแล้วที่จะ ‘ต้องบุใยเหล็ก’ เสริมแกร่งและพัฒนาการให้บริการส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มอาหารออนไลน์ของตัวเองให้ดีมากยิ่งขึ้น สามารถต่อกรกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้อย่างดุดัน

 

ทั้งหมดจึงนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท ‘LINE MAN Wongnai’ โดยที่ได้รับเงินลงทุนมูลค่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.3 พันล้านบาท จากบริษัท BRV Capital Management (BRV) เพื่อนำมาเป็นงบการพัฒนาแพลตฟอร์มอีกด้วย

 

จากการเปิดเผยของยอดพบว่า เป้าหมายของเขาในการคุมหัวเรือ LINE MAN Wongnai คือการผลักดันตัวเองสู่ ‘แพลตฟอร์มอาหารอันดับ 1 ของไทย’ แบบ End-to-End ที่มีระบบนิเวศด้านอาหารครอบคลุมรอบด้านแบบจบในที่เดียวให้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี 

 

ครอบคลุมตั้งแต่การเป็นทั้งแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์สำหรับลูกค้า, การมีฮาร์ดแวร์โซลูชัน และบริการซอฟต์แวร์โซลูชันสำหรับพาร์ตเนอร์ Merchant ร้านอาหาร (เครื่อง POS และ Merchant App) และการดูแลพาร์ตเนอร์ Fleet คนขับจาก Lalamove ให้ได้

 

แม้การทำเช่นนั้นจะฟังดู ‘ไม่ง่ายเลย’ แต่หากมองจากปัจจัยและคุณสมบัติเบื้องต้นที่ LINE MAN Wongnai มีอยู่ ณ ตอนนี้ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ฝันของพวกเขาไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริงแม้แต่น้อย โดยปัจจุบัน LINE MAN มียอดผู้ใช้งานรายเดือนมากกว่า 3 ล้านราย มีร้านอาหารให้บริการบนแพลตฟอร์มสูงกว่า 2 แสนร้าน 

 

ส่วน Wongnai เองก็มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านรายต่อเดือน และถือเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลร้านอาหารยอดนิยมด้วยจำนวนข้อมูลร้านอาหารในระบบมากกว่า 4.3 แสนร้าน (ยอดเข้าชมแพลตฟอร์มสูงกว่า 21 ล้านครั้งต่อเดือน) นั่นจึงทำให้ยอดและฝั่ง LINE กล้าตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานเช่นนี้

 

ยอดยังได้พูดถึงภาพรวมศึกฟู้ดเดลิเวอรีในประเทศไทยอีกด้วยว่า การแข่งขันในปัจจุบันค่อนข้างเข้มข้นดุเดือดพอสมควร และยังจะคงระดับการแข่งขันที่เข้มข้นเช่นนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปีต่อจากนี้ อย่างไรก็ดี LINE MAN Wongnai ยังคงยืดเป้าหมายของตัวเองในการทำตลาดโดยเน้นกลยุทธ์การ ‘เพิ่มจำนวนร้านอาหาร’ และพัฒนาระบบนิเวศแพลตฟอร์มอาหารให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

ฟาก Foodpanda ที่เป็นผู้บุกเบิกตลาดก่อนใครเพื่อน (เริ่มให้บริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ในไทยตั้งแต่ปี 2555) ล่าสุดก็เพิ่งเปิดตัวบริการใหม่ที่เพิ่งแกะออกจากกล่องอย่าง ‘pandamart’ โดยเป็นบริการจัดส่งสินค้ากลุ่มอุปโภคและบริโภคแบบ 24 ชั่วโมง ครอบคลุมจุดตั้งสโตร์สต๊อกสินค้าใน 7 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ลาดพร้าว, วัฒนา, สาทร, สุทธิสาร, งามวงศ์วาน, บางนา และธนบุรี

 

คอนเซปต์การให้บริการ pandamart คือตั้งตัวเป็นเหมือนเจ้าของร้านขายของชำออนไลน์แบบ Virtual ให้บริการสั่งสินค้าบนแอปพลิเคชัน (สั่งสินค้าจากแบรนด์มาสต๊อกด้วยตัวเอง) แล้วใช้สายส่งของตัวเองในการตระเวนขี่รถออกส่งสินค้า 

 

โมเดลการทำเงินของ pandamart จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เก็บรายได้จากการจำหน่ายสินค้าด้วยตัวเองในโมเดลค้าปลีกเต็มตัว และการหักค่าคอมมิชชันจากพาร์ตเนอร์ค้าปลีก (CP Freshmart, Gourmet Market, Tesco, Lawson, Beauty Buffet ฯลฯ รวมอีกมากกว่า 2,700 ราย) 

 

วิเคราะห์กันง่ายๆ สาเหตุที่ Foodpanda ต้องขยับเกมด้วยกลยุทธ์นี้ มาจากการที่พวกเขาหวังเพิ่มความหลากหลายให้กับพอร์ตธุรกิจของตัวเอง จากเดิมที่มีรายรับเพียงช่องทางเดียวจากธุรกิจสั่งอาหาร ก็กระจายความเสี่ยงด้วยผลิตภัณฑ์และบริการสั่งซื้อสินค้าไปเสียเลย

 

เรื่องนี้เราได้รับการยืนยันโดย โทมัส บูซัน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) ที่บอกเราว่า ปัจจุบัน ‘ขนาดตะกร้า’ หรือ Basket Size ของธุรกิจ Groceries มีไซส์ที่ ‘ใหญ่’ กว่าธุรกิจสั่งอาหารมากๆ โดยมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อออร์เดอร์ สูงกว่า Basket Size ธุรกิจฟู้ดราว 1.5-3 เท่าตัว (ประมาณ 100-200 บาทต่อออร์เดอร์ของ Foodpanda) และยังมีความต้องการที่ไม่รู้จบมากกว่า (Endless Need)

 

ร้านสะดวกซื้อ ซื้อของใช้ FoodPanda ฟู้ดแพนด้า

 

คำจำกัดความของ Endless Need ในที่นี้คือ การสั่งอาหารย่อมต้องมีจุดสิ้นสุด นั่นคือความอิ่มและปริมาณผู้ร่วมโต๊ะอาหาร ขณะที่บริการกลุ่ม Groceries Delivery คือการซื้อสินค้าขนมขบเคี้ยว ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ซึ่งเป็นความต้องการที่มีสเกลการใช้จ่ายมากกว่านั่นเอง

 

ขณะที่ผู้เล่นอีกรายที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอินโดนีเซียก็ไม่น้อยหน้า เพราะเพิ่งรีแบรนด์ตัวเองจาก GET ประเทศไทย เป็น ‘GoJek’ คล้ายกับว่าจะเป็นการส่งสัญญาณลั่นกลองรบสู้ศึกฟู้ดเดลิเวอรีในไทยเต็มตัวแบบ One Brand หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เริ่มชิมลางให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562

 

จุดแข็งที่ GoJek มีเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ (สเกลที่พอทัดเทียมกันคือ Foodpanda และ Grab) คือการเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากๆ โดยเฉพาะในตลาดอินโดนีเซียที่มีบริการบนแพลตฟอร์มให้เลือกมากกว่า 20 บริการ ครอบคลุมตั้งแต่การเดินทาง, การสั่งอาหาร สั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค สั่งยา, บริการด้านการเงิน, ธุรกิจข่าวและความบันเทิง หรือแม้แต่โซลูชันเครื่องมือให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร

 

นั่นจึงทำให้พวกเขามีไบเบิลที่สามารถนำมาต่อยอดเพิ่มรสชาติใหม่ๆ ที่หวือหวากว่าเก่าให้กับธุรกิจตัวเองได้เรื่อยๆ ผ่านการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ในอนาคต (ปัจจุบันมีบริการบนแพลตฟอร์มใน 4 กลุ่ม คือ ส่งอาหาร (GoFood-โกฟู้ด), เรียกรถจักรยานยนต์ (GoRide-โกไรด์), รับส่งพัสดุ (GoSend-โกเซนด์) และอีวอลเล็ต  (GoPay-โกเพย์))

 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี สิ่งที่ GoJek รู้อยู่เต็มอกจากการให้บริการมากว่า 1 ปี คือการห้ำหั่นในตลาดสั่งอาหารออนไลน์ไทยที่เต็มไปด้วยความยากและความเข้มข้น ดุเดือด ดังนั้นโจทย์ที่ GoJek อาจจะต้องตีให้แตกคือ การมัดใจผู้บริโภคให้อยู่หมัดด้วยกลยุทธ์ Localized ของพวกเขา รวมถึงแผนการปล่อยบริการใหม่ๆ ที่แตกต่าง ไม่จำเจ มาดึงดูดผู้บริโภค และสร้างน่านน้ำของตัวเองขึ้นมาใหม่ให้ได้

 

 

ฟู้ดเดลิเวอรี ‘Burn Cash’ แสนสั้น โจทย์ใหญ่คือ ‘ทำเงิน’ อย่างไรให้ยืนยาว

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่ยังไม่สามารถทำกำไรเข้าบริษัทได้เลย กล่าวคือส่วนใหญ่มักจะทุ่มเงินอัดงบไปกับการทำการตลาด ดึงดูดผู้ใช้งานหน้าใหม่ๆ ด้วยโปรโมชันลด แลก แจก แถม หรือที่ศัพท์ในวงการสตาร์ทอัพมักจะนิยามว่า ‘Burn Cash’

 

ตัวอย่างในเคสที่น่าสนใจคือ Grab (บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด) หนึ่งในผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรียอดนิยมของผู้ใช้งานไทยที่เคลมว่าเป็นเบอร์ 1 ของตลาด ซึ่งในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาต้องผจญกับดราม่าต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน

 

ในเชิงภาพจำ Grab ถือเป็นผู้ให้บริการในไทยที่มีขนาดตัวใหญ่มากๆ (มีจำนวนร้านอาหารและคนขับบนแพลตฟอร์มมากกว่า 80,000 ร้าน และ 100,000 รายตามลำดับ) ด้วยจำนวนความหลากหลายของบริการบนแพลตฟอร์ม การรุกหนักทำตลาด ผสมกับศักยภาพในการผนึกกำลังร่วมกับบริษัทใหญ่ๆ ในไทย ไม่ว่าจะเซ็นทรัลหรือธนาคารกสิกรไทย

 

อย่างไรก็ดี หากนำข้อมูลผลประกอบการของ Grab ที่เปิดเผยโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามากางดูก็จะพบว่า ตัวเลขของพวกเขากลับดูไม่สวยหรูสักเท่าไร

 

ผลประกอบการของบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วง 3 ปีหลังสุด

2560: รายได้รวม 508 ล้านบาท (+388.33%) / ขาดทุนสุทธิ 985 ล้านบาท (+90.9%)

2561: รายได้รวม 1,159 ล้านบาท (+127.96%) / ขาดทุนสุทธิ 711 ล้านบาท (-27.78%)

2562: รายได้รวม 3,193 ล้านบาท (+175.45%) / ขาดทุนสุทธิ 1,650 ล้านบาท (+131.89%)

 

แน่นอนว่า หนึ่งสาเหตุหลัก (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) ที่ Grab ยังไม่ทำกำไรเต็มตัวก็เป็นผลมาจากการอัดฉีดแคมเปญการทำการตลาดต่างๆ อย่างเต็มสูบ ซึ่งครั้งหนึ่ง จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย ก็เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD เอาไว้ว่า กลยุทธ์หลักของ Grab คือการมุ่งเติมผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มให้ได้ในจำนวนมากๆ ดึงผู้ใช้งานของคู่แข่งมาใช้บริการของพวกเขาผ่านการทำโปรโมชัน 365 วัน แบบไม่มีวันหยุด

 

“วันนี้เรายังไม่นึกถึงเรื่องทำกำไร เรื่องรายได้เป็นเรื่องรอง แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องทำในวันนี้คือ การทำให้ลูกค้า ร้านค้า และคนขับ มีความพึงพอใจสูงที่สุด” 

 

นอกเหนือจากการอัดโปรโมชัน อีกหนึ่งวิธีที่เราเชื่อว่าน่าจะเข้าข่ายการกระจายความเสี่ยง เพื่อเพิ่มช่องทางและความหวังการทำรายได้ให้กับบริษัท สามารถไต่ไปถึงระดับการทำเงินในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนคือ การเปิดตัวบริษัทใหม่ ‘แกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป’ ซึ่งจะมุ่งเน้นการเป็นฟินเทคเต็มตัว ผ่านการให้บริการ ‘เพย์เมนต์ สินเชื่อ ประกัน’ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://thestandard.co/grab-announce-to-be-fintech/)

 

อย่างไรก็ดี การจะทำธุรกิจให้ยั่งยืนในระยะยาว ลำพังการหวังการทุ่มโปรโมชันอัดงบการตลาดอาจจะไม่เวิร์กสักเท่าไร 

 

ฟู้ดเดลิเวอรี เดลิเวอรี่ ฟู้ดแพนด้า FoodPanda Grab GrabFood ขับรถส่งอาหาร

 

ครั้งหนึ่ง เควิน อลูวี และ อันเดร โซลิสต์โย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ Gojek เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ตลาดไทยถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันของธุรกิจแพลตฟอร์มและฟู้ดเดลิเวอรีสูงมาก โดยเฉพาะในระดับอาเซียน 

 

และแม้ว่าจะเป็น ‘ธรรมดา’ ที่ผู้ให้บริการส่วนมากจะต้องเริ่มต้นจากการทุ่มเงินก้อนโตดึงคนเข้าแพลตฟอร์ม แต่ในระยะยาว ผู้บริหาร GoJek กลับมองว่า การอัดโปรโมชันจะไม่ใช่ ‘ไพ่เด็ด’ ที่ใช้ได้ผลเสมอไป เพราะจุดชี้วัดการเป็นผู้ชนะในเกมนี้ที่แท้จริงอยู่ที่ ‘ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเพนพอยต์ของผู้บริโภค’ ที่ยิ่งใครทำได้ดีกว่า ก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะในเกมนี้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนมากกว่า

 

ความเห็นนี้ยังสอดคล้องกับมุมมองของบูซันที่เชื่อว่า การจะให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้นจะต้องเกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งการให้บริการที่รวดเร็ว ลงทุนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ ‘ตรงจุด’ พัฒนาแพลตฟอร์มและเสริมฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่การอัดฉีดผ่านโปรโมชันเท่านั้น

 

ที่ต้องจับตาให้ดีๆ คือ ไทยพาณิชย์และกสิกรไทยที่เพิ่งประกาศเปิดตัว Robinhood และ Eatable ไปตามลำดับ เนื่องจากการเข้ามารุกตลาดเองของสองผู้ให้บริการทางการเงินยักษ์ใหญ่ในไทย น่าจะปลุกเร้าอุณหภูมิร้อนให้สังเวียนฟู้ดเดลิเวอรีไทยได้ดีทีเดียว

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ฝั่ง Robinhood ก็ประกาศไว้ชัดเจนตั้งแต่วันเปิดตัวแพลตฟอร์มแล้วว่า พวกเขาจะไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหารแน่นอน (https://thestandard.co/scb-launched-robinhood-food-delivery/) โดยในระยะยาวจะมุ่งเน้นโมเดลการทำเงินด้วยการปล่อยสินเชื่อ

 

แต่ที่สุดแล้ว ไม่ว่าผู้ให้บริการในตลาดจะเกิดขึ้นมากี่ราย คนได้ประโยชน์ก็คือ ‘เรา’ ในฐานะผู้บริโภคที่มีตัวเลือกแพลตฟอร์มใช้บริการเพิ่มขึ้น สามารถเปรียบเทียบค่าบริการที่ดีที่สุด (ยิ่งผู้ให้บริการเยอะ ก็ต้องแข่งกันตัดราคาค่าส่งกัน หรืออัดเงินให้บริการ ‘ส่งฟรี’ ไปเลย)

 

ดังนั้นนอกเหนือจากจำนวนผู้ให้บริการที่เพิ่มขึ้นในตลาด บวกกับภาวะการแข่งขันที่ยังคงเข้มข้น สิ่งที่เราน่าจะได้เห็นต่อจากนี้คือ การที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ต้องพยายามขยับตัวด้วยการรุกให้บริการรูปใหม่ๆ โดยเฉพาะบริการทางด้านการเงิน การตั้งคลาวด์คิทเชน ฯลฯ เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ให้กับบริษัทนั่นเอง

 

ส่วนจะทำได้น่าสนใจหรือหวือหวาแค่ไหน อดใจรอไม่นาน เราคงจะได้เห็นคำตอบกัน!

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X