ซาอุดีอาระเบียเนื้อหอม! ขึ้นแท่นตลาดใหม่นักลงทุนไทย เมื่อบิ๊กคอร์ปของไทย ไม่ว่าจะเป็น SCG, PTT และ CPF พร้อมขนเงินไปลงทุนหลายอุตสาหกรรม ทั้งยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, เกษตร, เวลเนส รวมถึงวัสดุก่อสร้าง พร้อมชี้โอกาสใหม่ล่าสุดมาถึงแล้วเมื่อซาอุเปิดนำเข้าต้นไม้จากทั่วโลก และ 38 พันธุ์ไม้จากไทย โดยการเปิดทางนักลงทุนล้วนเป็นผลจากลดพึ่งพาน้ำมันในประเทศลง 30% บวกกับแรงหนุนอภิมหาโปรเจกต์ Saudi Vision 2030 และนโยบายสร้างเมืองใหม่ ‘นีอุม’ NEOM (Saudi Arabia Smart City)
นับตั้งแต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น 37.64% มาอยู่ที่ 3.23 แสนล้านบาท ซึ่งซาอุดีอาระเบียในวันนี้อาจจะไม่ใช่ประเทศที่พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เมื่อกำลังเปิดรับนักลงทุนทั่วโลกด้วยอภิมหาโปรเจกต์ Saudi Vision 2030 และการสร้างเมืองใหม่ที่ชื่อว่า ‘นีอุม’ NEOM (Saudi Arabia Smart City) นาทีนี้จึงถือเป็นจังหวะและโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมของไทยที่กำลังมองหาตลาดใหม่ UAE
ชาติชาย พานิชชีวะ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลุ่มอุตสาหกรรมแก้วและกระจก และหอการค้านานาชาติ เปิดเผยหลังร่วมเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในฐานะผู้แทนภาคอุตสาหกรรมไทย ว่าการเดินทางหารือกับภาคธุรกิจซาอุดีอาระเบียสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการผลักดันการค้า การลงทุนร่วมกันระหว่างกัน โดยประเทศซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพหลายด้านทั้งการเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำของกลุ่มคาบสมุทรอ่าวอาหรับ (GCC) ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย มีประชากร 35 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 50 ล้านคนในปี 2030 (พ.ศ. 2573) และยังสามารถเชื่อมโยงตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือได้อย่างดี
นอกจากจะมีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจแล้วยังเป็นประเทศที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดในอ่าวอาหรับ ที่ขณะนี้รัฐบาลกำลังพลิกฟื้น สร้างเมือง ถมทะเลทราย สร้างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้บรรดานักลงทุนไทยในหลายอุตสาหกรรมใหญ่เริ่มเข้าไปลงทุนนับตั้งแต่การฟื้นสัมพันธ์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดมีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง กลุ่มค้าปลีก เช่น พารากอน ที่เข้าไปลงทุนถึง 3 หมื่นล้านบาท
“ปัจจัยหลักที่ดึงดูดนักลงทุนไทย นอกจากเป็นผลมาจากรัฐบาลกำลังพลิกโฉมซาอุด้วยโปรเจกต์ Saudi Vision 2030 ที่ตั้งเป้าหมายจะนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม ภายใต้นโยบายการสร้างเมืองใหม่ชื่อว่า ‘นีอุม’ NEOM (Saudi Arabia Smart City) แล้วอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือซาอุต้องการลดพึ่งพาน้ำมัน 30% ในประเทศ เพื่อเปิดทางให้นักลงทุนทั่วโลกเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ด้านอื่นๆ” ชาติชายกล่าว
NEOM จึงเป็นเสมือนแผนการการพัฒนาประเทศที่มองไกลไปในระยะยาวและเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย กระจายเศรษฐกิจ และพัฒนาภาคบริการสาธารณะ เป็นแผนที่ใช้เงินลงทุนสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของซาอุดีอาระเบีย (Public Investment Fund) และมุ่งเปิดทางนักลงทุนต่างชาติอีก ทั้งยังประกาศให้เป็นเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและมีระบบตุลาการเป็นของตัวเองอีกด้วย
ทำไมถึงต้องชื่อ ‘NEOM’ ก็เพราะ ‘NEOM’ ในภาษาอาหรับนั้นแปลว่า ‘อนาคต’ นอกจากนี้ยังเป็นพิกัดที่นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ติดกับทะเลแดง ทำให้เพิ่มโอกาสทางการค้าได้มากขึ้น ทั้งจากฟากทะเลอาหรับ (Arabian Sea) และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) อีกด้วย
อุตสาหกรรมไทยที่โดดเด่นในสายตานักลงทุนซาอุมีอะไรบ้าง
อุตสาหกรรมไทยที่ซาอุสนใจมากสุดคือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (Automotive and Auto Parts Industry) จากการที่ประเทศซาอุดีอาระเบียได้ยกเลิกกฎหมายและอนุญาตให้ผู้หญิงชาวซาอุดีอาระเบียสามารถขับรถยนต์ได้ สนับสนุนให้ความต้องการใช้รถยนต์เติบโต จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยในการขยายตลาดในซาอุมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ และจะช่วยผลักดันให้ซาอุดีอาระเบียเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตในระดับโลก
รองลงมาคือ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง (Construction Industry) แน่นอนว่าเป็นผลมาจากประโยชน์จากการลงทุน Mega Project ของซาอุในการสร้างเมืองและขยายเมืองเพื่อให้สอดรับกับแผน Saudi Vision 2030 จึงสอดคล้องกับบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มีนโยบายขยายการลงทุนโดยมุ่งขยายธุรกิจและพัฒนาระบบนิเวศด้านการก่อสร้าง (Construction Ecosystem) ไปสู่การขยายห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งธุรกิจปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และ PVC เพื่อต้องการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนระหว่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีแผนการจัดตั้งสำนักงาน ณ เมืองริยาดภายในเดือนกันยายนปี 2566 ขยายผลไปสู่การลงทุนสินค้าอื่นๆ ที่ยังมีโอกาสเติบโต เช่น เหล็ก ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร นวัตกรรมด้านการเกษตร
อีกหนึ่งการลงทุนที่น่าสนใจใหม่ และอาจเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยมากที่สุดเวลานี้ คือซาอุเปิดทางนำเข้า ‘ต้นไม้’ จากไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากซาอุดีอาระเบียมีโครงการปลูกต้นไป 5 หมื่นล้านต้น ในกลุ่มประเทศอาหรับ ตามเป้าหมายของ Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย จึงมีแผนที่จะนำเข้าต้นไม้จากทั่วโลกเพื่อให้บรรลุตามนโยบายซาอุดีอาระเบียสีเขียว (The Saudi Green Initiative) เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรม ทะเลทราย ให้กลับมามีชีวิตชีวา
โดยการปลูกต้นไม้ 1 หมื่นล้านต้น และร่วมสนับสนุนผลักดันโครงการปลูกต้นไม้ 5 หมื่นล้านต้น ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุแล้วกว่า 200,000 ต้น แต่ยังไม่พอ ตรงนี้ถือว่ายังมีโอกาสให้ไทยส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุได้อีกมาก ซึ่งต้องการถึง 38 พันธุ์จากไทย ในส่วนนี้ซาอุเองก็จะร่วมมือกับประเทศสมาชิก GCC และประเทศหุ้นส่วนอื่นๆ ในการปลูกต้นไม้ในเอเชียตะวันตกเพิ่มอีก 4 หมื่นล้านต้นอีกด้วย
‘บิ๊กคอร์ปไทย’ พร้อมขนเงินเข้าลงทุนซาอุ 2023
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีแผนลงทุน ด้านพลังงาน มีทั้ง บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR อยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งสถานีบริการน้ำมันในซาอุ เนื่องจากสถานีบริการน้ำมันในปัจจุบันยังขาดความสะดวกอีกหลายอย่าง โดยกลุ่มธุรกิจซาอุจึงเชิญชวนให้ ปตท. มาเปิดสถานีบริการน้ำมันพร้อมกับพื้นที่ค้าขายห้องน้ำที่เหมาะสมต่อการใช้งานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นเดียวกับรูปแบบในไทยที่มี Amazon Cafe
นอกจากนี้ ปตท. ยังอยู่ในระหว่างหารือการร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อย่างไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ในประเทศไทย ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางในการเป็นซัพพลายให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งปัจจุบันระยะที่ 1 สำเร็จไปแล้ว และจะเริ่มระยะที่ 2 ในเร็วๆ นี้
ส่วน บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF มีความสนใจและเห็นโอกาสในการทำธุรกิจเกี่ยวการพัฒนาด้านการเกษตรและไก่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับ NEOM Food Company บริษัทในธุรกิจอาหารเพื่อลงทุนร่วมกันในอนาคต
รวมทั้ง บริษัท เฮลท์ แอนด์ เวลเนส เมเนจเมนท์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ธุรกิจด้านสุขภาพ ได้ร่วมกับ Quality of Life Tourism Company ของซาอุ ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ 3 โครงการ ทั้งในซาอุและไทย โดยมูลค่าการลงทุนรวมมากถึง 1.75 หมื่นล้านบาท
นักลงทุนซาอุพร้อมทุ่มลงทุนปิโตรเคมีในไทยเทียบสิงคโปร์
ขณะเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียเองก็มองไทยเป็นหมุดหมายการลงทุนเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการสินค้าเกษตร อาหารของไทย ชิ้นส่วนยานยนต์ มากไปกว่านั้นยังมีแผนที่จะลงทุนสร้างคลังน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Seaboard) ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับภูมิภาคนี้ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ และน่าจะเป็นโปรเจกต์ใหญ่ของไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ปุ๋ย ที่เขาให้ความสนใจส่งออกมายังไทยอยู่แล้ว เพราะซาอุมีวัตถุดิบจำนวนมาก รวมทั้งการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม เนื่องจากมีความชื่นชอบที่คนไทยไปลงทุนเปิดร้านนวด แพทย์แผนโบราณ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีเสน่ห์สำหรับเขาอย่างมาก จึงน่าจะเกิดเป็นการลงทุนระหว่างกัน
รวมไปถึงอุตสาหกรรมเวลเนส ด้านสุขภาพ ด้านการแพทย์ โรงพยาบาล ชาวซาอุมาเมืองไทยจำนวนมากทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อรักษาพยาบาล ซึ่งคาดว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวซาอุเพิ่มขึ้น 150,000 คน สามารถสร้างรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงมีการเพิ่มเที่ยวบินจาก 9 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
อ้างอิง: