×

เช็กสุขภาพ ประเทศไทยเสี่ยงต่อวิกฤตการเงินแค่ไหน

22.10.2022
  • LOADING...
วิกฤตการเงิน

มีคำพังเพยภาษาอังกฤษที่ว่า “ในช่วงน้ำลง เราจะได้เห็นว่าใครว่ายน้ำโดยไม่ใส่เสื้อผ้า” เช่นเดียวกันกับในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นจะเปิดโปงว่าระบบการเงินใครเปราะบาง

 

ช่วงนี้มีการถามกันบ่อยๆ ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการเงินแบบที่เห็นในศรีลังกา ปากีสถาน อาร์เจนตินา และเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอื่นๆ แค่ไหน ผมได้อ่านงานวิจัยของ Goldman Sachs ที่ทำตารางสรุปการ ‘ตรวจสุขภาพ’ เศรษฐกิจการเงินไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียไว้อย่างดี เลยขอเอามาแชร์เผื่อมีประโยชน์ครับ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


สรุปก่อนให้ไม่ต้องลุ้นมากไปว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤตแบบเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ว่าค่อนข้างต่ำ แต่ประเด็นที่ต้องจับตามองคือระดับหนี้ที่สูงอาจทำให้การขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจให้ชะลอตัวได้มาก และปัญหาความเหลื่อมล้ำอาจรุนแรงขึ้น

 

การตรวจสุขภาพครั้งนี้ดู 4 ด้าน โดยผมเอามาเรียงใหม่ และพยายามเปรียบเทียบในเชิงธุรกิจเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ถ้าหากเปรียบประเทศไทยไปเป็นบริษัทจริงๆ สถานการณ์ของบริษัทเราจะเป็นอย่างไรนะครับ 

 

1. สภาพคล่องของบริษัท ‘ประเทศไทย’ เป็นอย่างไร?  

สภาพคล่อง (ปัจจัยที่ 2 ‘Flows’ ในตาราง) ที่สะท้อนถึงรายได้-รายจ่ายของธุรกิจ เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของธุรกิจได้ ซึ่งหากจะศึกษาว่า ประเทศไทยช่วงนี้มีเงินไหลเข้ามากกว่าออกหรือไม่ เราสามารถดูจากบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ที่สะท้อนรายได้-รายจ่ายการค้าขายทั้งสินค้าและบริการ (และมีรายได้-รายจ่ายอื่นอีกนิดหน่อย) 

 

เราจะพบว่า สถานการณ์ของไทยในด้านนี้ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะประเทศไทยมีการขาดดุลอยู่ถึงกว่า 3% ของ GDP แปลว่ารายจ่ายมากกว่ารายได้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่เหมือนยุคก่อนโควิดที่มักเกินดุลตลอด ในตารางเลยเห็นเป็นสีแดง แสดงว่าต้องจับตาดูหน่อย แต่เหตุผลมาจากปัจจัยชั่วคราว รายได้หดเพราะท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศยังไม่ฟื้นเต็มที่ ส่วนรายจ่ายสำคัญคือการนำเข้าน้ำมันดันแพงเสียอีกในปีนี้ โดยสภาพคล่องนี้น่าจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อ

 

2. บริษัท ‘ประเทศไทย’ จะโดนผลกระทบมากหรือไม่ หากนักลงทุนถอนตัวออกไป?

ในการดำเนินธุรกิจ ปัจจัยหนึ่งที่ต้องระวังยามเงินตึงๆ คือคนที่ให้ไฟแนนซ์เราอยู่ (จะสถาบันการเงินหรือนักลงทุนก็ตาม) จะหยุดให้เงินจนเราขาดเงินหมุนเวียนหรือไม่ ซึ่งการที่นักลงุทนถอนเงินทุนออกไปจากบริษัท เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อการมีเงินไหลออกฉับพลัน (ปัจจัยที่ 3 ‘Short Term Stock Vulnerabilities\’ ในตาราง) ที่อาจเกิดขึ้นได้หากนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลของเรา จะหนีไปประเทศอื่นแบบฉับพลันผ่านการขายสินทรัพย์ทิ้งไป 

 

แม้ผลการศึกษาในด้านนี้ของไทยจะดูแดงๆ หน่อยในตาราง แต่จริงๆ อาจไม่ได้แย่ขนาดนั้น สาเหตุที่เรามีความเสี่ยงอยู่บ้างเกิดจากส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากดอกเบี้ยเราค่อนข้างต่ำเทียบกับที่อเมริกา เพราะฉะนั้นหากอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยอีกก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้เงินไหลออกไปอีก 

 

แต่ตลาดการเงินไทยไม่ค่อยได้พึ่งพาเงินต่างชาติมาสักพักแล้ว สัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นถือว่าต่ำเทียบกับอดีต และสัดส่วนต่างชาติในตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยแม้จะสูงกว่าอดีตนิดหน่อยแต่ถือว่าต่ำ (แค่ประมาณ 10% เทียบกับมาเลเซียที่ 25%) 

 

แปลว่าต่อให้เขาขายหุ้น-พันธบัตรรัฐบาลเหล่านี้ไปบ้าง เราก็จะไม่ได้แย่มากนัก เพราะเราพึ่งพานักลงทุนในประเทศเป็นหลัก (ซึ่งในมุมหนึ่ง อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจนัก เพราะอาจมองได้ว่านักลงทุนต่างชาติเขาทอดทิ้งเรามาสักพักแล้ว) ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เจอวิกฤตเพราะพึ่งพาการไฟแนนซ์จากต่างประเทศมาก 

 

3. บริษัทของเรามี ‘เงินสำรอง’ เก็บไว้เพียงพอหรือไม่

เงินสำรอง (ปัจจัยกลุ่มที่ 1 ‘Reserve Coverage’) ถือเป็นปัจจัยสำคัญมาก สำหรับธุรกิจแล้ว การมีเงินสดเก็บไว้เยอะ แม้ต่อให้มีช่วงกระแสเงินสดออกมากกว่าเข้า ก็พออยู่ได้ไปสักพักใหญ่ๆ

 

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันของไทย ในช่วงที่สภาพคล่องเราเป็นลบและนักลงทุนก็ขายหุ้น-พันธบัตรไทยดึงเงินออกนอกประเทศจนเงินตราต่างประเทศเราหดหายต่อเนื่อง คงไม่ดีแน่หากเรามีเงินเก็บไว้ไม่พอที่จะจ่ายค่าสินค้านำเข้าหรือจ่ายหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งในประเด็นนี้เป็นส่วนที่ถือว่าเรายังคงมีสุขภาพที่ดี เนื่องจากเรายังมีเงินสำรองต่างประเทศเก็บอยู่สูงพอที่จะรับมือสถานการณ์แบบนี้ได้ 

 

ในตารางจะเห็นว่าเงินสำรองฯ เรามีมากพอที่จะจ่ายค่าสินค้านำเข้าไปถึง 8 เดือนแม้ไม่มีเงินสดดอลลาร์ใหม่เข้ามา และเพียงพอที่จะชำระหนี้ระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) ที่อยู่ในเงินสกุลต่างประเทศได้ถึง 3 รอบ ซึ่งถือว่าดีและแกร่งกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเสียอีก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรประมาทใช้เงินสำรองนี้อย่างไม่ระมัดระวัง เพราะหากใช้มันแทรกแซงค่าเงินไปต่อเนื่องเผลอๆ ก็หมดได้เช่นเดียวกัน

 

4. บริษัทเรามี ‘งบดุล’ อย่างไร มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่?

การศึกษางบดุลเป็นเรื่องที่สำคัญ ยิ่งในช่วงที่ดอกเบี้ยทั้งไทยและต่างประเทศต่างขึ้นแบบนี้ ความเสี่ยงระยะยาว (ปัจจัยกลุ่มที่ 4 ‘Long Term Stock Vulnerabilities’) อาจเกิดขึ้นได้หากเรามีความสามารถในการชำระหนี้ไม่เพียงพอ 

 

ในด้านหนึ่ง ประเด็นหนี้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศอาจจะไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะหนี้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบันถือว่าไม่สูงนัก เพราะเราเรียนรู้จากวิกฤตต้มยำกุ้งมา ทำให้ไม่ต้องกังวลมากนักว่าเวลาค่าเงินบาทอ่อนจะทำให้จ่ายหนี้ไม่ไหว

 

แต่ประเด็นปัญหาที่น่ากังวลใจ คือหนี้ภายในประเทศ ที่ตัวเลขของเราสูงทีเดียว โดยเฉพาะในภาคเอกชน (> 200% ของ GDP) ซึ่งสะท้อนระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค (90% ของ GDP)

 

นั่นแปลว่าหากดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวสูงขึ้นจะเพิ่มภาระการชำระหนี้ให้กับคนไทยมากพอสมควร จะบีบให้คนต้องใช้จ่ายน้อยลง ทำให้เศรษฐกิจฝืดขึ้น ยิ่งกว่านั้นที่สำคัญคือกลุ่มรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กจะต้องเจอความท้าทาย 3 ขั้นซ้อนกัน ทั้งภาระชำระหนี้ที่สูงขึ้น ของที่แพงขึ้น และเศรษฐกิจที่กำลังจะชะลอตัว สิ่งที่จะพอช่วยคนกลุ่มนี้ได้คือนโยบายการคลังเพื่อช่วยคนตัวเล็ก แต่จากตารางก็จะเห็นว่าแม้หนี้ภาครัฐของไทยจะไม่ได้สูงเกินไป (ยังน้อยกว่าจีน อินเดีย มาเลเซีย) แต่ก็ไม่ต่ำ แปลว่ารัฐบาลเองก็ต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง

 

สรุป เมื่อตรวจสุขภาพแล้ว พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ำที่จะเจอวิกฤตการเงิน-เศรษฐกิจดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศกำลังพัฒนาในช่วงปีที่ผ่านมา

 

แต่การไม่มีวิกฤตไม่ได้แปลว่าเราจะไม่มีปัญหา ปัญหาด้านการเติบโตของเศรษฐกิจและปัญหาด้านหนี้ครัวเรือนต่อผู้มีรายได้น้อยยังคงมีอยู่ต่อไปในอนาคต ซึ่งทำให้เราจำเป็นต้องโฟกัสการแก้ปัญหาให้ถูกจุดถูกประเด็น เพื่อรักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรงต่อไปในระยะยาวครับ

 

วิกฤตการเงิน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising