วรรณวิษา ศรีรัตนะ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResarch) ระบุว่า สถานการณ์การปิดโรงงานในปี 2567 ยังคงมากกว่า 100 แห่งต่อเดือน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าโรงงานที่ปิดตัวลงเป็นโรงงานขนาดเล็ก (SMEs) มากขึ้น สะท้อนจากทุนจดทะเบียนรวมของโรงงานที่ปิดตัวน้อยกว่าปี 2566 ราว 3.8 เท่า
สำหรับสถานการณ์การเปิด-ปิดโรงงานในปี 2567 แม้ภาพรวมการเปิดโรงงานจะมากกว่าการปิดโรงงาน แต่จำนวนโรงงานที่ปิดตัวเฉลี่ยยังคงมากกว่า 100 แห่งต่อเดือน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สถานการณ์โดยรวมจึงยังเป็นภาพที่ไม่ดีต่อเนื่อง เห็นได้จากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2566-2567) โรงงานเปิดใหม่หักลบด้วยโรงงานปิดตัว เฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 52 แห่งต่อเดือน จาก 127 แห่งต่อเดือนในช่วงปี 2564-2565
โดยประเภทของโรงงานที่ปิดตัวลงมากในปี 2567 ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาโครงสร้างการผลิต และเผชิญความต้องการที่ลดลง รวมถึงแข่งขันรุนแรงทั้งจากคู่แข่งและสินค้านำเข้า ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า ยานยนต์ และเหล็ก ที่เห็นภาพการปิดตัวของโรงงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สอดคล้องกับดัชนีการผลิตในกลุ่มเหล่านี้ที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีฐาน
ธุรกิจ SMEs กำลังเผชิญความยากลำบาก
หากมองในมิติขนาด พบว่าโรงงานที่ปิดตัวลงในปี 2567 เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) มากขึ้น สะท้อนจากทุนจดทะเบียนรวมของโรงงานที่ปิดตัวลงในปี 2567 อยู่ที่เพียง 47,833 ล้านบาท น้อยกว่าทุนจดทะเบียนรวมในปี 2566 ถึง 3.8 เท่า แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม SMEs ในภาคการผลิตยังคงเผชิญความยากลำบาก
ทั้งนี้แม้โรงงานเปิดใหม่ยังสามารถดูดซับแรงงานในภาพรวมได้ ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ถึงกับแย่เกินไป แต่ชั่วโมงการทำงานในภาคการผลิตมีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อรายได้แรงงาน ในปี 2567 โรงงานที่เปิดใหม่มีการจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 36 คนต่อแห่ง สูงกว่าโรงงานปิดตัวที่มีการเลิกจ้างเฉลี่ย 28 คนต่อแห่ง ซึ่งผลต่อแรงงานคงแตกต่างกันในแต่ละประเภท ขนาดและพื้นที่ของกิจการ
อย่างไรก็ดี แม้จำนวนการจ้างงานสุทธิยังเป็นบวก แต่ภาคการผลิตมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานหรือการทำงานล่วงเวลาลง (OT) สะท้อนจากจำนวนแรงงานที่ทำงานต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 4.57 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ราว 4.12 แสนคน หรือปรับเพิ่มขึ้นกว่า 11% สวนทางกับตลาดแรงงานในภาพรวม หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ย่อมจะส่งผลต่อรายได้และความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานในภาคการผลิตที่ลดลง
สัญญาณอันตราย! โรงงานไทยเสี่ยงปิดต่อเนื่องในปี 2568
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า โรงงานยังเสี่ยงจะปิดตัวต่อเนื่องในปี 2568 โดยเฉพาะ SMEs จากหลายปัจจัยกดดัน ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบางจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
อีกทั้งความเสี่ยงผลของสงครามการค้า (Trade War) รอบใหม่ที่สหรัฐฯ เริ่มเปิดฉากทยอยประกาศใช้นโยบายการตั้งกำแพงภาษี (Tariff) กับประเทศคู่ค้า อีกทั้งเริ่มเห็นการโต้จากประเทศคู่ค้าแล้วอาจส่งผลต่อต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงแรงกดดันจากสินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังให้ภาพที่หดตัวติดต่อกัน โดยในไตรมาส 4/2567 หดตัว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวติดต่อกันถึง 9 ไตรมาสหรือกว่า 2 ปีแล้ว ขณะที่การพลิกฟื้นความสามารถในการแข่งขันจะต้องอาศัยการปรับโครงสร้างในภาคการผลิต ซึ่งทำได้ไม่ง่าย