ส่งออกไทยขยายตัว 8.2% ในพฤศจิกายน บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ทำให้มูลค่าส่งออกไทย 11 เดือนอยู่ที่ 275,763.6 ล้านดอลลาร์ ลุ้นทะลุแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เดิม (ราว 287,425 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2565)
วานนี้ (25 ธันวาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยเผยว่า การส่งออกในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่า 25,608.2 ล้านดอลลาร์ (ราว 849,069.3 ล้านบาท) ขยายตัว 8.2% และนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
ปัจจัยบวกสำคัญมาจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 40.8% มูลค่า 2,233.7 ล้านดอลลาร์, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 35.8% มูลค่า 548.9 ล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 24.8% มูลค่า 1,397.5 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก ทำให้ผลไม้สดทุกประเภท ขยายตัว 44.8% มูลค่า 348.5 ล้านดอลลาร์ ยางพารา ขยายตัว 14.1% มูลค่า 412.4 ล้านดอลลาร์ และไก่สดทุกประเภท ขยายตัว 12.0% มูลค่า 395.3 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้การส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 275,763.6 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,695,455 ล้านบาท) ซึ่งขยายตัว 5.1%
ด้านภาพรวมการนำเข้าไทย 11 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 282,033.3 ล้านดอลลาร์ (ราว 10,032,055 ล้านบาท) และสำหรับเดือนตุลาคม การนำเข้ามีมูลค่า 25,832.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 867,456.4 ล้านบาท) ขยายตัว 0.9%
สำหรับดุลการค้าเดือนพฤศจิกายน ประเทศไทยขาดดุล 224.4 ล้านดอลลาร์ (ราว 18,387.1 ล้านบาท) โดยภาพรวมการค้าไทย 11 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,269.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 337,096 ล้านบาท)
ส่งออกแรง แต่ทำไมข้าวไทย ‘หดตัว’?
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าการส่งออกข้าวของไทยกลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน ราว 20.6% พูนพงษ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มี 3 ประเด็นหลักที่ทำให้การส่งออกข้าวหดตัวลง 1. ประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เริ่มมีข้าวในสต็อกมากเพียงพอแล้ว 2. ประเทศอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกข้าว 3. ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ พูนพงษ์เผยว่า ตอนนี้ยอดส่งออกข้าวไทย 11 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ราว 9.18 ล้านตัน ขณะที่กรมการค้าระหว่างประเทศตั้งเป้าไว้ที่ 10 ล้านตันในปีนี้
ลุ้นยอดส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์
พูนพงษ์เผยว่า ตั้งเป้าปีนี้ยอดส่งออกต้องแตะ 3 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัวที่ 5.2% จะเป็นยอดส่งออกที่ทะลุยอดสูงสุดเก่าเมื่อปี 2565 ที่ 287,425 ล้านดอลลาร์
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “จากตัวเลขของเดือนพฤศจิกายน ค่อนข้างชัดเจนว่าปีนี้ยอดส่งออกจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์”
ทั้งนี้ ชัยชาญแนะว่า ผู้ประกอบการไทยต้องระมัดระวังเรื่องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เน้นลดต้นทุนสินค้า เพิ่มศักยภาพ ให้พร้อมรับกับความท้าทายที่รออยู่ในปีหน้า
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป
การส่งออกปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกทั้งปี 2567 จะทำสถิติใหม่ด้วยมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10 ล้านล้านบาท) สะท้อนความสำเร็จที่เหนือกว่าเป้าหมาย จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินนโยบายเชิงรุก
สำหรับแนวโน้มในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2-3% ภายใต้บริบทความท้าทายที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ด้วยการขับเคลื่อน 10 นโยบายยุทธศาสตร์การส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การขยายฐานตลาดการค้าใหม่ และการเร่งผลักดัน FTA ประกอบกับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและรักษาการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะต่อไป