จับตาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจีนต่อเศรษฐกิจไทย โดยสภาพัฒน์เตือนว่า ส่งออกของไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว จะได้รับผลกระทบเป็นภาคส่วนแรกหากปัญหาเศรษฐกิจในจีนลุกลาม
วันนี้ (21 สิงหาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ขยายตัว 1.8%YoY ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.6%YoY ในไตรมาสแรก ว่า เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปควรให้ความสำคัญกับศักยภาพทางด้านการเงินและการคลังของประเทศ ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจจีน
“ณ ตอนนี้เราเห็นว่าปัญหาเกิดในภาคอสังหาริมทรัพย์และธนาคารเงา (Shadow Banking) แต่เราไม่รู้ว่าปัญหามันลึกขนาดไหน เพราะสัญญาณและข้อมูลที่ออกมาตอนนี้ยังค่อนข้างจำกัด หลังจากทางการจีนจำกัดการให้ความเห็นของนักวิเคราะห์ในประเทศ ควรต้องให้ความสำคัญและติดตามต่อเนื่อง เพราะจีนเป็นตลาดสำคัญของไทย” ดนุชากล่าว
เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวอีกว่า หากปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนลุกลาม ส่งออกซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว น่าจะเป็นภาคส่วนแรกของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ผลกระทบจะถูกส่งต่อไปยังภาคผลิตและอุตสาหกรรม ซึ่งครองสัดส่วนประมาณ 50-60% ของ GDP ไทยด้วย
ดนุชายังแนะให้ทุกฝ่ายจับตาดูแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจีนต่อไป และสำหรับประเทศไทยก็ควรต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมาดูว่าจะต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ตรงเป้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจีนยังไม่เคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลย ถ้าสมมติครั้งนี้จีนเกิดเจอวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาจริงๆ เรายังไม่แน่ใจว่าวิธีการแก้ไขปัญหาจีนจะเป็นอย่างไร”
ทั้งนี้ ในการประมาณการล่าสุด สภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐทั้งปีนี้เหลือติดลบ 1.8% จากติดลบ 1.6% ในประมาณการเมื่อเดือนพฤษภาคม