×

แนะหุ้นเด่นรับธีมส่งออกโตแกร่ง-ดักทางเงินต่างชาติไหลออก เติมกำไรให้พอร์ตช่วงครึ่งปีหลัง

27.05.2021
  • LOADING...
หุ้น การส่งออก

จากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2564 ซึ่งมีมูลค่ารวมที่ 21,429 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13.09%YoY ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ 

 

  1. สินค้าเกษตรและอาหาร 
  2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) 
  3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 
  4. กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตเริ่มกลับมาฟื้นตัว
  5. สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง 

 

เอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกต่อภาคการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลัง และประเมินว่าจะได้เห็นการเติบโตของผู้ส่งออกด้านเกษตรและอาหาร และผู้ส่งออกยางพารา อย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลังเช่นเดียวกัน 

 

โดยหุ้นกลุ่มส่งออกของไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมุมมองเชิงปัจจัยพื้นฐานยังเชื่อว่าหุ้นส่งออกจะมีกำไรที่เติบโตได้ อย่างไรก็ตาม มูลค่าพื้นฐาน (Fair Value) ของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว 

 

ดังนั้นจึงแนะนำหุ้นส่งออกในกลุ่มเกษตรและอาหาร ประกอบด้วย 

 

– CPF มูลค่าเหมาะสมที่ 42 บาท รับปัจจัยบวกราคาสุกรปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นทั้งในตลาดประเทศไทย จีน และเวียดนาม 

 

– TU มูลค่าเหมาะสมที่ 20 บาท รับปัจจัยบวกเรื่องราคาทูน่ากระป๋อง กุ้ง และแซลมอน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารของ Red Lobster ซีฟู้ดในสหรัฐฯ กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังคลายล็อกดาวน์หนุน

 

กลุ่มธุรกิจยางพาราคือ

 

– NER มูลค่าเหมาะสมที่ 7.50 บาท รับปัจจัยบวกแนวโน้มปริมาณขายยางพาราและทิศทางราคายางพาราเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

– STGT มูลค่าเหมาะสมที่ 65 บาท รับปัจจัยบวกแนวโน้มกำไรเติบโตโดดเด่น และน่าจะทำ New High ได้ ความต้องการถุงมือยางซึ่งขณะนี้เผชิญปัญหาขาดแคลน

 

สำหรับตัวแปรด้านอัตราแลกเปลี่ยนประเมินว่าค่าเงินบาทจะทรงตัวใกล้เคียงระดับปัจจุบัน (31.30-31.40 บาทต่อดอลลาร์) สลับกับเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า และจะไม่กลับไปแข็งค่าเท่ากับช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าไปถึงระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทย 

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หุ้นกลุ่มส่งออกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม เนื่องจากตลาดรับรู้แนวโน้มเชิงบวกของภาคการส่งออกของไทยว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ราคาหุ้นกลุ่มส่งออกหลายบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจนใกล้เต็มมูลค่า เช่น หุ้น KCE 

 

“ยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มส่งออกของไทย แต่ในด้านการลงทุนต้องยอมรับว่าการลงทุนในหุ้นส่งออกตอนนี้ไม่ใช่การลงทุนในช่วงเริ่มรอบแล้ว แต่เป็นปลายรอบเสียมากกว่า ราคาหุ้นหลายบริษัทปรับเพิ่มขึ้นจนใกล้เต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว”

 

ทั้งนี้ แนะนำการลงทุนในครึ่งหลังเดือนพฤษภาคมให้เน้นหุ้นที่รับอานิสงส์การเติบโตภายในประเทศมากกว่าคือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มการเงิน โดยกลุ่มรับเหมาก่อสร้างจะเริ่มได้อานิสงส์จากการลงทุนครั้งใหม่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำพวกรถไฟฟ้าของรัฐ ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มการเงินผลประกอบการน่าจะดีขึ้นได้ต่อเนื่องหลังจากคลายความกังวลเรื่องหนี้เสีย อันเป็นผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากมาตรการช่วยเหลือเรื่องหนี้ที่รัฐบาลนำมาใช้ 

 

ฝ่ายวิจัยประเมินว่าในครึ่งหลังปี 2564 กระแสเงินลงทุนจะเปลี่ยนทิศทางเป็นไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) สู่ตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีความยากมากขึ้น

 

“ในช่วงครึ่งหลังเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมคาดว่าหุ้นทั่วโลกจะมีการปรับฐานราว 3-5% โดยเฉพาะหลังจากการประชุมของ Fed ในเดือนมิถุนายนสิ้นสุดลง ตลาดน่าจะตอบรับเชิงลบกับนโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบที่เข้าสู่ปลายน้ำ ช่วงนั้นเราจะเห็นการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินที่ชัดเจน แต่การปรับฐานจะไม่รุนแรง เพราะเม็ดเงินลงทุนไม่ได้หายไป โดยยังมีเม็ดเงินจากฝั่ง Saving อยู่”

 

โดยตัวแปรที่จะกำหนดทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกในครึ่งปีหลังคือ 

 

  1. ค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งประเมินว่าจะค่อยๆ แข็งค่าขึ้น ส่วนค่าเงินบาทจะค่อยๆ อ่อนค่า 
  2. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นต่อ 
  3. อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะแผ่วลง 

 

จึงประเมินกรอบดัชนีช่วงครึ่งปีหลังที่ 1,460-1,640 จุด และแนะนำหุ้นเด่นตลอดครึ่งปีหลัง ประกอบด้วยหุ้น CBG, AEONTS, MINT, BEM และ BLA

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X