มุมมองของนักวิชาการไทยที่มีต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน 2024 ในประเด็นที่ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร และมีประเด็นใดน่าจับตามองบ้าง
ไต้หวันจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันขึ้นในวันที่ 13 มกราคมนี้ โดยผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งจะก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ผู้นำคนใหม่ของไต้หวัน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางและนโยบายต่างๆ ของไต้หวันต่อจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 4 ปี
ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันจะเป็นใคร และจะมาจากพรรคการเมืองใด ชาวไต้หวันเท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสิน
#เลือกตั้งไต้หวัน 2024
“หลายฝ่ายจับตาดูว่า พรรคที่ชนะเลือกตั้งจะเป็นพรรคที่สนับสนุนจีน
หรือเป็นพรรคชาตินิยมที่ยืนอยู่กับความเป็นไต้หวัน
เพราะฉะนั้นผลการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีนัยสำคัญต่อ
วิกฤตการณ์ข้ามช่องแคบและปัญหาความมั่นคงในเอเชียโดยรวม
และจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงทัศนะของคนไต้หวันต่อจีนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย”
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง
“สีจิ้นผิงจะเร่งภารกิจ ‘รวมชาติ’ กับไต้หวันให้เร็วขึ้นหรือไม่
และจะ ‘รวมชาติ’ โดยสันติอย่างที่ตั้งใจได้หรือไม่
ก็ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งไต้หวันในรอบนี้”
รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“Identity Crisis และความไม่แน่นอนทางการเมืองคือบทสรุป
เมื่อ 1. กว่า 80% ของนิสิตนักศึกษา และกว่า 62% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียกตนเองว่าคนไต้หวัน พร้อมๆ กับ 2. พรรค TPP คือทางเลือกใหม่ที่ต้องการรื้อสร้างสถาบันเก่า
การเลือกตั้งในปี 2024 อาจทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ของเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ จากเดิมที่มักจะเป็นการเปลี่ยนขั้วสลับไปมาระหว่างความสุดโต่งที่ DPP ต้องการประกาศเอกราช สลับกับ KMT ที่ยึดมั่นในหลักการจีนเดียว”
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน
“ตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่นของไต้หวัน ทางจีนก็จับตามองมาโดยตลอด
เพราะว่า ถ้าพรรค DPP ยังได้ครองอำนาจนำต่อไป
ก็อาจจะมีข้อพิพาทที่ตึงเครียดกันมากยิ่งขึ้นไปอีก
ในขณะที่ผู้ท้าชิงอีกสองพรรคค่อนข้างที่จะประนีประนอมกับทางจีน
และรับในส่วนของนโยบายจีนเดียว
การเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้จึงเป็นเหมือนกับ
การชี้ชะตาความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน”
ภากร กัทชลี
อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจ ‘อ้ายจง’
“รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนต้องการให้พรรค KMT ชนะ
และมีข่าวหลายกระแสที่บ่งชี้ว่า
มีความพยายามในการแทรกแซงการเลือกตั้งในรูปแบบต่างๆ
แต่จากโพลที่ดูมา ถ้าไม่พลิกโผก็น่าจะเป็นพรรค DPP ชนะ
และอาจทำให้จีนแสดงความไม่พอใจบ้างในเชิงสัญลักษณ์
ช่วง 3 เดือนที่แล้ว ผลโพลห่างกันมาก พรรค DPP ดูเหมือนจะชนะขาดอย่างสบายใจ
แต่พอยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง คะแนนนิยมระหว่างผู้สมัคร DPP กับ KMT ใกล้กันมากขึ้น
ชนะกันอยู่แค่ 3-4% เราก็ไม่รู้ว่าจะมีการพลิกโผไหม และเราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า
ผลโพลที่ออกมานี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างกระแสของจีนแผ่นดินใหญ่หรือเปล่า
แต่ผลการเลือกตั้งนี้จะมีผลโดยตรงต่อปัญหาความตึงเครียดข้ามช่องแคบ
ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันอย่างแน่นอน”
รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์
อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย