ต้นปีที่ผ่านมา ถ้ายังจำกันได้ เราเคยอัปเดต ภาพรวมตลาดการจ้างงานตลอดทั้งปี 2563 ที่ผ่านมาของประเทศไทย ที่เปิดเผยโดยแพลตฟอร์มจ้างงาน JobsDB กันไปแล้ว โดยในช่วงนั้น JobsDB ได้ประเมินเอาไว้ว่า ดีมานด์ตลาดแรงงานได้ฟื้นตัวได้เข้าสู่ช่วงที่ผ่าน ‘จุดต่ำสุด’ จากเดือนเมษายน 2563 และเดือนธันวาคม 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหาก GDP ประเทศไทยสามารถพลิกกลับมาโตได้ในระดับ 2.5-3.5% ก็จะส่งผลให้ภาพการจ้างงานกลับมาเป็นบวกด้วย โดยอาจจะทำให้ครึ่งปีแรกของปีนี้ อัตราจ้างงานอาจจะกลับมาเป็น +5%
แต่แล้วสถานการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นอีกจนได้ เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทยกลับเลวร้ายลงอย่างรุนแรงจนนำไปสู่การะบาดในระลอกที่ 4 ที่พ่นพิษกับเศรษฐกิจอย่างหนัก
JobsDB ประเมินภาพรวมตลาดการจ้างงานในครึ่งปีแรก 2564 ที่ผ่านมา และคาดการณ์แนวโน้มฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีนี้ไว้อย่างไร THE STANDARD WEALTH ได้สรุปข้อมูลทั้งหมดออกมาไว้แล้ว
ครึ่งปีแรก 2564 ตลาดแรงงานดีมานด์โต 6.7% จากครึ่งปีหลัง 2563
หลังการระบาดของโควิดในช่วง 2 เวฟแรก (สิ้นสุด ณ ปลายธันวาคม 2563) JobsDB โดย พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรก 2564 ที่ผ่านมานั้น ภาพรวมดีมานด์ตลาดการจ้างงานมีแนวโน้มที่โตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ที่ระดับ +6.7% (ข้อมูลรวบรวมจากประกาศงานออนไลน์ทั้งหมดในไทย)
แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของครึ่งปีแรก 2563 จะพบว่าดีมานด์การจ้างงานลดลงที่ราว -7.4% ทั้งนี้มีอัตราการแข่งขันของแคนดิเดตผู้สมัครงานจะอยู่ที่ 80 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน ลดลงจากทั้งปีที่แล้วที่อยู่ที่ 100 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน (บริษัทจ้างคนเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีตำแหน่งเปิดรับเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย)
กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่
- สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ – 15.3%
- สายงานไอที – 14.8%
- สายงานวิศวกรรม – 10.0%
ขณะที่กลุ่มสายงานที่มี ‘จำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด’ ได้แก่
- สายงานการจัดซื้อ คิดเป็น +43.0%
- สายงานขนส่ง คิดเป็น +37.4%
- สายงานประกันภัย คิดเป็น +36.4%
กลุ่มธุรกิจที่มี ‘สัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด’ ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 9.6%
- กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 6.2%
- กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 5.5%
สาเหตุที่ทำให้ภาพรวมประกาศการจ้างงานในช่วงครึ่งปีแรก หรือรอยต่อของเฟส 3 เริ่มกลับมาฟื้นตัวนั้น ผู้บริหาร JobsDB ประเทศไทยให้ความเห็นว่า จากการที่เธอได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบรายใหญ่หลายราย เชื่อว่าเมื่อโควิดจบลง สถานการณ์ต่างๆ น่าจะเริ่มดีขึ้น (มีบทเรียนมาจากภาพรวมหลังการระบาดในสองระลอกแรก) ทำให้มีความมั่นใจที่จะจัดแผนจ้างคนเพิ่มเป็นจำนวนมาก นั่นจึงส่งผลให้ภาพรวมการประกาศจ้างงานในช่วงครึ่งปี 2564 ดูเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดการระบาดของโควิดในเวฟที่ 4 ขึ้น (เริ่มเดือนกรกฎาคม) จึงทำให้ภาพสะท้อนดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร
ชี้ภาพรวมประกาศจ้างงานปี 2564 มีแนวโน้ม ‘ทรงตัว’ เซ่นพิษโควิดระบาดหนักเฟส 4 คาดผู้สมัครงานแข่งเดือดขึ้น
พรลัดดาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อันที่จริงดูเหมือนว่าก่อนหน้านี้ภาพรวมตลาดประกาศจ้างงานน่าจะเริ่มมีแววฟื้นตัวกลับมาแล้ว ยิ่งถ้าดูเส้นกราฟสีน้ำเงินจาก กราฟจำนวนประกาศงานออนไลน์ในประเทศไทยก็จะเห็นชัดเลยว่าเส้นกราฟเริ่มเชิดหัวขึ้น
แต่เมื่อเจอสถานการณ์การระบาดในเฟส 4 เข้าไป ผลปรากฏว่าบริษัทหลายแห่งจำต้องชะลอแผนการประกาศรับสมัครงานลง เพื่อรอดูภาพรวมและทิศทางผลกระทบต่างๆ จากการระบาดในครั้งนี้ที่ดูเหมือนว่าจะรุนแรงกว่า 3 เฟสก่อนหน้ามากเป็นพิเศษ
ทำให้ผู้บริหาร JobsDB ประเทศไทย ประเมินว่า ภาพรวมตลาดแรงงานในปี 2564 นี้จะมีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
แต่ก็ต้องตามดูกันยาวๆ เพราะหากเฟส 4 นี้ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ภาพรวมตลาดจ้างงานในปี 2564 นี้ก็อาจจะแย่กว่าปีที่แล้ว โดยที่ครึ่งปีหลัง 2564 แคนดิเดตที่สมัครงานต่อหนึ่งตำแหน่งจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 80 ใบสมัครแน่นอน เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก (จำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน โควิดเพิ่มมากขึ้น / ปีที่แล้วจำนวนใบสมัครงานต่อหนึ่งตำแหน่งสูงเฉลี่ย 100 ใบ)
ในทางตรงกันข้าม หากการระบาดของโควิดหยุดลงแค่เวฟที่ 4 และภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงปลายปี รัฐบาลสามารถคุมการระบาดให้จบแค่ในช่วงปลายปีนี้ได้ พรลัดดาเชื่อว่า GDP ประเทศไทยก็จะกลับมาพุ่งทะยานแน่นอนในปี 2565 คล้ายคลึงกับฉากทัศน์ที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญ
โดยคาดว่าหากเศรษฐกิจสามารถกลับมาเป็นปกติและเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว สายอาชีพที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ภาคธุรกิจบริการ, อาหาร, ท่องเที่ยวและโรงแรม น่าจะกลับมาเติบโตเป็นลำดับต้นๆ ได้ในเชิงการประกาศจ้างงาน ตามมาด้วย สายงานการผลิต และงานขาย ซึ่งเดิมทีสายงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบต้องปิดกิจการลงชั่วคราวในช่วงโควิดระบาดแรงนั่นเอง (เพราะกลับมาเปิดให้บริการได้ ก็ต้องเพิ่มคน สอดรับความต้องการการผลิต และบริการกับดีมานด์ที่ฟื้นกลับมาด้วย)
ตลาดฟรีแลนซ์ยังคึกคัก องค์กรเน้นคนทำงานมีประสบการณ์มากกว่า ‘เด็กจบใหม่’
เมื่อองค์กรหลายแห่งมีการปรับลดโครงสร้างพนักงานในองค์กร บริษัทจำนวนไม่น้อยจึงมักจะเน้นวิธีการเปลี่ยนสัญญาจ้างประจำมาเป็น ‘สัญญาชั่วคราว’ แทน หรือที่เราเข้าใจในภาษาชาวบ้านว่าเป็นพนักงานกลุ่มฟรีแลนซ์นั่นเอง
เรื่องนี้พรลัดดาให้ความเห็นและข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากที่เธอได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจ้างงานฟรีแลนซ์ก็พบว่า ตลาดฟรีแลนซ์โตมากๆ ในภาวะสถานการณ์โควิด ส่วนทางกับตลาดงานประจำที่เริ่มถดถอยและทรงตัว เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่หันมาปรับโมเดลจ้างงานพนักงานในรูปแบบนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะสายงานด้านกราฟิก จึงอาจจะสรุปได้ว่าช่วงโควิด ฟรีแลนซ์จะโตสวนกระแส (ในเชิงภาพรวม)
ขณะที่ปัจจุบันเมื่อถามว่าองค์กรส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะจ้างพนักงานที่เป็นเด็กจบใหม่ หรือพนักงานที่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้วมากกว่ากันนั้น ผู้บริหาร JobsDB ระบุว่า จากฐานข้อมูลของ JobsDB พบว่า บริษัทส่วนใหญ่จะเน้นมองหาบุคลากรที่มีประสบการณ์การทำงานหลากหลาย ‘มากกว่า’ เด็กจบใหม่ เนื่องจาก ไม่ต้องสอนงานกันเยอะ (การกรูมบุคลากร พนักงานใหม่ก็มี Cost ที่สูงเช่นกัน)
ดังนั้นในช่วงน้ีหากมองในแง่การหางานในเชิงภาพรวม เด็กจบใหม่อาจจะเสียเปรียบคนทำงานที่มีประสบการณ์อยู่ก่อนแล้ว
ส่วนแนวโน้มเทรนด์ค่าจ้างคนทำงานนั้น หลังจากที่ปีก่อนหน้า บริษัทหลายแห่งได้นำร่องปรับโครงสร้าง โยกย้ายบุคลากรในองค์กรไปก่อนแล้ว เทรนด์ค่าจ้างพนักงานในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจึงยังไม่มีกระแสเรื่องการปรับลดสักเท่าไร เนื่องจากผู้ประกอบการปรับฐานค่าตอบแทนไปก่อนแล้ว
ดังนี้ที่เหลือหลังจากนี้จึงต้องมาวัดดวงกันที่ความรุนแรงของการระบาดระลอก 4 ล้วนๆ เลย เพราะหากรุนแรงมาก ผลกระทบที่ตามมาก็จะสะเทือนถึงเทรนด์ค่าจ้างแน่นอน
- จากผลสำรวจที่ JobsDB และ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) ทำร่วมกัน พบว่า คนรุ่นใหม่จะมีมุมมองการเลือกที่ทำงาน หรือองค์กรที่พวกเขาจะเลือกทำงานด้วยนั้น ผ่านแนวคิดที่ว่า บริษัทดังกล่าวใส่ใจสังคมเพียงใด
- โดยผลสำรวจระบุว่า คนรุ่นใหม่จะเลือกองค์กรที่มี CSR ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น 53%
- อีก 63% คนรุ่นใหม่มองว่าองค์กรควรจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะความเท่าเทียมทางเพศ
- นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังให้ความสำคัญกับสถานที่ทำงาน ในแง่ที่ว่าคาดหวังว่าเข้าไปทำงานแล้วจะมีความสุข ค่านิยมองค์กรตรงกับทัศนคติ เดินทางง่าย มีความสมดุลของการทำงานและชีวิตส่วนตัว มีการอัพสกิล เพิ่มทักษะและความยืดหยุ่นในการทำงานทางไกล รวมถึงหวังจะได้เห็นบรรยากาศการทำงานในลักษณะที่เป็นพาร์ตเนอร์มากกว่า ‘เจ้านาย-ลูกน้อง’ สามารถเสนอความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้