ประเด็นใหญ่ทางการเมืองที่ต้องจับตา วันนี้ (25 ม.ค.) คือ ‘โรดแมปการเลือกตั้ง’ ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ขยับเลื่อนออกไปอีกครั้ง
โดยตัวแปรสำคัญคือ ‘ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.’ ไฮไลต์ที่ต้องจับตาอยู่ที่มาตรา 2 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายหลังพ้น 90 วันนับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดมาว่าให้มีผลบังคับใช้ทันทีนับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับวันนี้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 2-3
นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงความจำเป็นการเลื่อนเวลาบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไป 90 วันว่า เพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองได้ศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคน จะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ผิดพลาด จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็น 90 วัน
ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติไม่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายกล่าวว่า สิ่งที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากทำเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำตามมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีกรอบเวลาชัดเจนคือเขียนกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับภายใน 240 วัน นับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ทำตามกรอบและวางแผนอย่างดีว่าต้องทำอย่างไร เพราะรู้ดีว่ามีเวลาเพียง 240 วัน ดังนั้นการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอว่าต้องดำเนินการเลือกตั้งใน 150 วันนับแต่ร่างดังกล่าวประกาศใช้ ถือว่าระยะเวลาดังกล่าวมีความยืดหยุ่นเหมาะสมแล้ว
ขณะที่ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น 120 วัน ระบุว่าการขยายเวลาบังคับใช้ 90 วันไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาแก่พรรคการเมือง ไม่สามารถเตรียมการเลือกตั้งได้ทัน
ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีประเด็นใหม่หลายเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน เช่น การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ตรวจการเลือกตั้ง หากไปกำหนดเงื่อนเวลาแค่ 90 วันตามแรงกดดัน ทำแบบกล้าๆ กลัวๆ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งอาจเกิดปัญหาได้ ดังนั้นจึงควรขยายเวลาเป็น 120 วันจะเหมาะกว่า
นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงเห็นด้วยกับการขยายเวลาออกไป 90 วันว่า ตนลองคาดคะเนดูแล้วว่าในเดือนมกราคมนี้ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับนี้จะผ่าน สนช. และอีกประมาณ 5 เดือน หรือประมาณเดือนมิถุนายนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นถ้าไม่มีการเลื่อนเวลาออกไปก็จะเริ่มนับ 150 วัน ซึ่งจะจบที่เดือนพฤศจิกายนนี้ตามที่ผู้นำประกาศไว้ แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 และติดคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถจัดประชุมใหญ่และทำไพรมารีโหวตได้
นายณัฏฐ์กล่าวชี้แจงเหตุผลโดยสรุปได้ว่า พรรคการเมืองต่างๆ จะสามารถเริ่มทำกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงการประชุมพรรค และการทำไพรมารีโหวตได้หลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าประมาณเดือนมิถุนายน
แต่ทั้งนี้พรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่าจะสามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ต้องใช้เวลาประมาณเกือบ 3 เดือน หรือ 90 วัน ดังนั้นเห็นว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ การขยายวันบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วันถือว่าเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป 90 วันไม่ได้แปลว่าวันเลือกตั้งต้องขยายออกไป 90 วัน เพราะอำนาจการขยายเวลาบังคับใช้เป็นของฝ่ายบริหาร แต่อำนาจการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“ปฏิทินการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นชัดเจนในเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งกิจกรรมพรรคการเมืองจะเริ่มได้เมื่อไรก็จะชัดเจนในเดือนนั้นเช่นกัน ทั้งนี้หากนับระยะเวลาการเลือกตั้งภายใน 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถ้าให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุด คาดว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในวันที่ 70 ของ 150 วัน” นายณัฏฐ์กล่าว
สำหรับบรรยากาศโดยรวม สมาชิก สนช. อภิปรายสลับกันแสดงความเห็น ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน เพราะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม
ขณะที่ พันตำรวจโท พงษ์ชัย วราชิต กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยไม่มีวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เราจะไม่มีประเทศไทยแบบทุกวันนี้ จะมีแต่การเผาบ้านเผาเมือง แบ่งแยกประเทศ จับอาวุธสงครามมากมาย แต่การพัฒนาประเทศจะไม่เกิดขึ้น ขอถามว่าที่ผ่านมานักการเมืองทำอะไรเพื่อประเทศและประชาชนบ้าง มีแต่ใช้วาทกรรมบิดเบือน ชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งเรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นขอเสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 เดือน หรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
อย่างไรก็ตาม การลงมติในส่วนของมาตรา 2 จะมีเพียงการลงมติเพื่อให้คงร่างฯ เดิม คือไม่ขยายเวลา, มติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก คือขยายเวลาไป 90 วัน และมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อย คือขยายเวลาไป 120 วัน
ส่วนข้อเสนอของพันตำรวจโท พงษ์ชัย เป็นเพียงการเสนอความเห็นทั่วไปในสภาฯ เท่านั้น ไม่มีผลใดๆ
สำหรับร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีจำนวน 178 มาตรา มีสงวนคำแปรญัตติเพื่อขอการแก้ไข 30 มาตรา โดยที่ประชุม สนช. จะอภิปรายให้ครบทุกมาตราก่อน จากนั้นจึงจะทำการลงมติเป็นรายมาตรา คาดว่าจะรู้ผลแล้วเสร็จในช่วงเย็นวันนี้