×

เด็กฉลาด ชาติเจริญ: จะฉลาดอย่างไรในวันที่ต้องเรียนออนไลน์

13.11.2021
  • LOADING...
thai-education

การกลับมาเปิดโรงเรียนแบบออนไซต์นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา คือหมุดหมายสำคัญของนโยบายการศึกษาของไทยในช่วงการระบาดของโรคโควิด แม้ที่ผ่านมาการเรียนออนไลน์คือทางเลือกและทางรอดของสถาบันการศึกษา แต่ผลกระทบของมันอาจมากกว่าแค่ ‘เรียนไม่รู้เรื่อง’ บทความนี้พาไปสำรวจงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของการเรียนออนไลน์ว่าสามารถทำให้ ‘เด็กฉลาด’ ได้หรือไม่

 

จากการประเมินโดย UN (2020) และ UNESCO (2020) พบว่า นักเรียนและนักศึกษาในทุกระดับชั้นมากกว่า 1.5 พันล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากการปิดตัวชั่วคราวของสถานศึกษาและย้ายไปจัดการเรียนการสอนทางไกล (Remote Teaching) การสอนแบบออนไลน์ (Online Instruction) นี้ได้กลายเป็นทางเลือกกึ่งบังคับสำหรับการจัดการเรียนการสอนในช่วงการระบาดของโรคโควิด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Boston และ RAND Corporation ใช้ข้อมูลความถี่ในการค้นหาในอินเทอร์เน็ต (Search Intensity) จาก Google Trends พบว่าความต้องการในสื่อการเรียนออนไลน์ (Online Learning Resources) ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงโควิดเมื่อเทียบกับก่อนการระบาด และยังพบว่าความต้องการนี้สูงเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงมากกว่า

 

นอกจากนั้นความสำคัญของการเรียนออนไลน์ยังสะท้อนได้จากการเติบโตของแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนออนไลน์ เช่น BYJU’S, Zoom และ Microsoft for Education เฉพาะในประเทศจีน นักเรียนกว่า 400 ล้านคนได้เรียนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Yuanfudao ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จากการเติบโตของแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์นี้ มีการคาดการณ์ว่าจำนวนเงินลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (Edtech) จะเพิ่มขึ้นจาก 18.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 เป็น 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568

 

ความท้าทายของการเรียนออนไลน์มีด้วยกันหลายด้าน เช่น ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีเสถียรภาพมากเพียงพอ (Reliable Internet Access) จากการสำรวจโดย OECD (2020) พบว่า กว่าร้อยละ 95 ของนักเรียนในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และออสเตรีย มีคอมพิวเตอร์สำหรับทำการบ้าน ขณะที่มีเพียงร้อยละ 34 ของนักเรียนในอินโดนีเซียที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ความแตกต่างนี้ทำให้ผลกระทบของโรคโควิดต่อความสามารถในการปรับตัวและการเรียนรู้ของนักเรียนต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในประเทศนั้นๆ 

 

อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศสะท้อนจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในระดับครัวเรือนที่ต่างกัน ยังอาจทำให้ผลกระทบภายในประเทศต่างกันด้วย จากการสำรวจโดย OECD พบว่า แม้ว่ากว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนไทยอายุ 15 ปีจะสามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ แต่มีเพียงร้อยละ 57% ของนักเรียนในกลุ่มที่มีฐานะยากจนเท่านั้นที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ผลสำรวจนี้สอดคล้องกับการสำรวจนักเรียนยากจนพิเศษของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 271,888 คน ใน 29 จังหวัดที่มีปัญหาการเรียนช่วงโควิด เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าและอุปกรณ์ ดังนั้น นักเรียนที่มีฐานะยากจนจึงมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา

 

งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าอย่างไร? 

ในช่วงที่ผ่านมา นักวิจัยได้พยายามศึกษาผลกระทบของการระบาดของโรคโควิดต่อนักเรียนนักศึกษา จะขอเริ่มเล่าจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ และต่อด้วยงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของการระบาดของโรคโควิดโดยเฉพาะ 

 

การเรียนออนไลน์เป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งอยู่ค่อนข้างมาก มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อีกทั้งผลจากงานวิจัยยังพบทั้งข้อดีและข้อเสียจากการเรียนในรูปแบบนี้ นักวิชาการด้านการศึกษา Clayton Christensen และ Henry Eyring ผู้เขียนหนังสือ The Innovative University: Changing the DNA of Higher Education from Inside Out บอกว่า การศึกษาในรูปแบบนี้จะพลิกโฉมการศึกษาในแบบปกติที่มีการเรียนการสอนในชั้นเรียน โดยงานวิจัยหลายชิ้นที่ตีพิมพ์ใน American Economic Review เช่น Deming et al. (2015) และ Cowen and Tabarrok (2014) ช่วยให้สถาบันการศึกษาประหยัดค่าใช้จ่าย และอาจส่งผลให้ค่าธรรมเนียมการศึกษาถูกลงเมื่อมีคอร์สเรียนออนไลน์มากขึ้น นอกจากนั้นสถาบันการศึกษายังสามารถใช้ห้องเรียนออนไลน์เพื่อดึงดูดผู้เรียนบางกลุ่มที่ไม่อาจเข้ามาเรียนในชั้นเรียนได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเรื่องประโยชน์ของการเรียน (Educational Benefits) ในรูปแบบออนไลน์ยังมีความไม่แน่ชัดอยู่มาก งานของ Coastes et al. (2004) ใน Economics of Education Review ระบุว่า การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์โดยใช้ข้อมูลที่ไม่ได้มาจากการทดลอง (Non-Experimental Data) ในเรื่องนี้อาจเผชิญกับปัญหาเรื่อง Selection Bias เนื่องจากนักศึกษาที่เลือกที่จะเรียนออนไลน์มักจะมีอายุที่มากกว่า พักอาศัยอยู่ไกลจากสถาบันการศึกษา และมักจะทำงานควบคู่ไปกับการเรียน ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการเรียนใน 2 รูปแบบ (เรียนในชั้นเรียน กับ เรียนออนไลน์) 

 

ที่ผ่านมาได้มีงานศึกษาหลายชิ้น เช่น Figlio et al. (2013) ตีพิมพ์ใน Journal of Labor Economics และ Bowen et al. (2014) ตีพิมพ์ใน Journal of Policy Analysis and Management ใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Randomized Control Trails (RCTs) ในการวิเคราะห์ผลกระทบของการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ โดยนักเรียนจะถูกสุ่มให้อยู่ในกลุ่ม Treatment ซึ่งจะเรียนแบบออนไลน์ และกลุ่ม Control ซึ่งจะเรียนในรูปแบบอื่นๆ โดย Figlio et al. (2013) เป็นงานวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ชิ้นแรกที่ศึกษาผลกระทบของการเรียนในชั้นเรียนกับการเรียนออนไลน์ (Internet Media of Instruction) กลุ่มตัวอย่างคือนักศึกษาในวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคพื้นฐาน (Introductory Microeconomics Course) ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา 

 

โดยนักศึกษาในชั้นเรียนถูกเลือกแบบสุ่ม (Randomly Assigned) ให้เข้าเรียนในชั้นเรียนกับให้เข้าเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยควบคุมให้ปัจจัยอื่นๆ เช่น วิธีการสอนและเอกสารประกอบการสอนให้เหมือนกัน ผลการศึกษาพบว่า การเรียนในชั้นเรียนให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการเรียนแบบออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น ผลลัพธ์นี้ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นในนักศึกษากลุ่ม Hispanics นักศึกษาเพศชาย และนักศึกษาที่ไม่เก่ง ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยใน American Economic Review ของ Alpert et al. (2016) ที่พบว่าผลการเรียนของนักศึกษาที่เรียนแบบออนไลน์อย่างเดียว (Purely Online Format) มีค่าต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับนักศึกษาที่เรียนในชั้นเรียน (Face-to-Face Format) 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของงานวิจัยเหล่านี้คือเป็นงานศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างจำกัด (Small-Scale Experiment) ซึ่งอาจทำให้อ้างอิงผลการวิจัย (Generalization) ในบริบทอื่นได้ยาก

 

ทั้งนี้งานวิจัยล่าสุดของ Cacault et al. (2021) ใน Journal of European Economic Association ใช้ RCT ในการศึกษาผลกระทบของการเรียนออนไลน์ในมหาวิทยาลัย Geneva กลุ่มตัวอย่างคือนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ถูกเสนอให้เข้าเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในวิชาบังคับ (Compulsory Classes) ซึ่งผู้วิจัยระบุว่าการเข้าร่วมชั้นเรียนออนไลน์ในลักษณะทางเลือกแบบนี้พบได้ทั่วไปในสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก และการศึกษายังครอบคลุมหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ ทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงคณิตศาสตร์และสถิติ 

 

ดังนั้นผลการศึกษาจึงลดข้อจำกัดเรื่องการอ้างอิงผลการวิจัยได้ นักวิจัยพบว่าการเข้าเรียนออนไลน์มีผลกระทบทางลบต่อความสำเร็จ (วัดจากคะแนนสอบ) ของนักศึกษาที่มีศักยภาพต่ำ (Low-Ability Students) ขณะที่มีผลกระทบทางบวกต่อนักศึกษาที่มีศักยภาพสูง (High-Ability Students) ผลกระทบที่ไม่เท่ากันนี้อาจทำให้การเรียนออนไลน์ขยายความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

 

สำหรับงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของโรคโควิดต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรงนั้นมีน้อยกว่าและมักจะการวิจัยในประเทศที่พัฒนาแล้ว แนวโน้มก็คือว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวของนักเรียน (Socioeconomic Characteristics) มีบทบาทสำคัญต่อขนาดของผลกระทบต่อการเรียนรู้ Chetty, Friedman, Hendren, Stepner, and the Opportunity Team (2020) พบว่า นักเรียนจากพื้นที่ที่มีความยากจนสูงเข้าร่วมการเรียนออนไลน์น้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับ Aucejo, French, Araya, and Zafar (2020) ใน Journal of Public Economics ที่พบว่านักเรียนจากครอบครัวยากจนได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์มากกว่านักเรียนกลุ่มอื่นๆ 

 

โดยนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยมีโอกาสที่จะสำเร็จการศึกษาในช่วงการระบาดของโรคโควิดช้ากว่านักเรียนจากครอบครัวรายได้สูง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ครอบครัวมีรายได้ที่ลดลง ทำให้นักเรียนต้องออกจากการเรียนกลางคันมาทำงาน 

 

อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่สามารถจบการศึกษาได้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด อาจเผชิญกับความยากลำบากในการหางานหรือมีรายได้ที่ลดลงกว่าที่ควรจะเป็น Jesse Rothstein (2020) จาก University of California, Berkeley พบว่า นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมีรายได้ที่น้อยกว่านักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในช่วงปกติ อย่างไรก็ตาม แม้โรงเรียนจะกลับมาเปิด แต่ความเสียหายอาจติดตัวเด็กไปอีกนาน 

 

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Educational Researcher โดย Kuhfeld et al. (202) พบว่า การหยุดเรียนกลางคันทำให้ความสามารถในการอ่านและคณิตศาสตร์ของเด็กเหลือเพียงร้อยละ 37-50 ของระดับความสามารถในช่วงก่อนการหยุดเรียน ดังนั้นความไม่ต่อเนื่องของการเรียนการสอนที่อาจเกิดมาจากความไม่พร้อมของนักเรียนอาจส่งผลต่อความสามารถในการเรียน รวมถึงโอกาสและรายได้ของนักเรียนในอนาคต 

 

งานวิจัยเรื่องผลกระทบของการย้ายไปเรียนในรูปแบบออนไลน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษามี 2 ลักษณะที่สำคัญ คือ 

 

1. ศึกษาผลกระทบเชิงเปรียบเทียบ (Relative Effects) ระหว่างนักเรียนที่เรียนในชั้นเรียน (Face-to-Face) นักเรียนที่เรียนออนไลน์อย่างเดียว (Fully Online) และนักเรียนที่เรียนแบบผสมผสาน (Blended Learning) และ 2. ศึกษาผลกระทบในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป 

 

มีงานวิจัยล่าสุดจาก Clark et al. (2021) ตีพิมพ์ในวารสาร China Economic Review เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เก็บข้อมูลจากนักเรียนในระดับเกรด 9 ใน 3 โรงเรียนของจีนที่มีรูปแบบการเรียนต่างกัน โดยโรงเรียนแรกไม่ได้สนับสนุนการเรียนใดๆ ให้กับนักเรียนในช่วงล็อกดาวน์ โรงเรียนที่สองใช้การเรียนออนไลน์โดยมีวิดีโอคำบรรยายให้นักเรียนที่จัดทำขึ้นโดยครูของโรงเรียน รวมถึงมีช่องทางในการติดต่อระหว่างครู นักเรียน และการส่งการบ้าน และโรงเรียนที่สามใช้วิธีเดียวกับโรงเรียนที่สอง แต่วิดีโอคำบรรยายนั้นจัดทำโดยครูจากภายนอกโรงเรียนที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า ผลการศึกษาพบว่า การเรียนออนไลน์ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทำให้คะแนนของนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากโรงเรียน 

 

นอกจากนั้นยังพบว่า นักเรียนที่เรียนออนไลน์กับครูที่มีศักยภาพสูงจากภายนอกโรงเรียนทำคะแนนได้ดีกว่านักเรียนที่เรียนกับครูในโรงเรียน และพบว่านักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนมีผลการเรียนที่สูงกว่านักเรียนที่ใช้สมาร์ทโฟน อีกหนึ่งผลการศึกษาสำคัญก็คือว่า นักเรียนที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่ค่อยเก่ง (Low-Achieving Students) ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเรียนออนไลน์ ขณะที่ผลการเรียนของนักเรียนที่เก่งอยู่แล้วไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษาจึงพบว่าการเรียนออนไลน์สามารถช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างนักเรียนลงได้ในช่วงล็อกดาวน์

 

‘เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ’ คือคำขวัญวันเด็กที่ จอมพล ถนอม กิตติขจร ให้ไว้ในปี 2516 ซึ่งในเวลานั้นคนไทยใช้เวลาเพียง 2 ปีในโรงเรียน ผ่านมาเกือบ 50 ปี เส้นทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษากำลังสะดุดจากการระบาดของโรคโควิด ที่บีบบังคับให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนไปเป็นแบบออนไลน์ แม้ว่าจะเป็นทางเลือกกึ่งบังคับเดียวที่มีแต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับนโยบายต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่สามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีโอกาสที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะรุนแรงขึ้นหลังวิกฤตโควิด การชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเร่งเปิดเรียนแบบออนไซต์ เพราะผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กอาจส่งผลต่ออนาคตของพวกเขาไปอีกนาน…

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X