×

เศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง ‘เสี่ยงสูง’ แบงก์ชาติห่วงลดดอกเบี้ยก่อนเสี่ยงเสียกระสุน มองคงไว้ ‘ดีกว่า’

06.01.2025
  • LOADING...

ธปท. มอง เศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง ‘เสี่ยงสูง’ ย้ำ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมกับเศรษฐกิจ ไม่ฉุดและไม่รั้ง ชี้ การลดอัตราดอกเบี้ยมีต้นทุน (Cost) นั่นคือความเสี่ยงที่จะเสียกระสุนหรือ Policy Space ไป ย้ำความจำเป็นที่ ธปท. ต้องดำเนินนโยบายแบบพร้อมรับความเสี่ยงทั้งด้านบวกและลบ (Robust Policy)

 

วันนี้ (6 มกราคม) ในงาน Monetary Policy Forum สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปีจะเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น และนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ธปท. ยังไม่ได้รวมเข้าไปในประมาณการเศรษฐกิจพื้นฐาน (Baseline) เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

ทั้งนี้ ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัว 2.9% โดยการขยายตัวยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน กล่าวคือ แรงส่งต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยว อุปสงค์ในประเทศ และการส่งออกที่ได้รับผลดีจากวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี ขณะที่บางอุตสาหกรรมมีพัฒนาการแย่ลง โดยเฉพาะกลุ่มที่เผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

 

ย้ำ ต้องยึดหลัก Robust Policy – รักษาพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย

 

ด้าน สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ยืนยันว่า ภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ธปท. จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินที่พร้อมรองรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิด ที่อาจเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว ที่อาจมีผลมากหรือน้อย หรือที่เรียกว่า Robust Policy

 

พร้อมทั้งอธิบายเป็น 2 ฉากทัศน์ (Scenario) ดังนี้

 

  1. การคงดอกเบี้ยไว้ หากเศรษฐกิจเป็นไปตามกรณีฐาน (ไม่มี Shock รุนแรง) การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน 2.25% ยังสอดคล้องกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะสั้นและยาว แต่หากเกิดฉากทัศน์ที่ 2 หรือเกิด Shock รุนแรงในครึ่งปีหลัง ธปท. ก็ยังมีพื้นที่ให้สามารถปรับลดดอกเบี้ยได้

 

  1. แต่หาก ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อน ก็จะมีต้นทุน (Cost) นั่นคือการเสีย Policy Space ไป และเสถียรภาพทางการเงินอาจปรับด้อยลงในระยะยาว จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง ขณะที่กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อ GDP (Debt Deleveraging) ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในกรณีที่เกิดฉากทัศน์ที่ 2 หรือเกิด Shock รุนแรงในครึ่งปีหลัง การลดดอกเบี้ยอาจเกิดประโยชน์อย่างจำกัด เนื่องจากประสิทธิผลอาจถูกทอนลงในช่วงที่ความไม่แน่นอนยังไม่คลี่คลาย

 

เศรษฐกิจไทยต้องเป็นอย่างไรแบงก์ชาติถึงจะลดดอกเบี้ย

 

เศรษฐกิจไทยต้องเป็นอย่างไรแบงก์ชาติถึงจะลดดอกเบี้ย

 

สักกะภพยืนยันอีกว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีจุดยืนที่เปิดกว้าง (Open) กล่าวคือ หากเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และภาวะการเงินปรับเปลี่ยนไปจากที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ กนง. ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบาย

 

ขณะที่ ปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวเสริมว่า “ถ้าเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และต้นตอของการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับเครื่องมือนโยบายการเงิน ก็จะสร้างโอกาสให้ กนง. ปรับแนวนโยบายมากขึ้น”

 

นอกจากนี้ปิติกล่าวอีกว่า เสถียรภาพระบบการเงินเป็นอีกกลไกที่ ธปท. เฝ้าระวังว่าตึงตัวเกินไปหรือไม่ กล่าวคือ สถาบันการเงินมีความกังวลมากไปจนทำให้สินเชื่อชะลอตัวมากกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ เนื่องจากภาวะการเงินย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การกู้ยืม และการลงทุน โดยเฉพาะในประเทศที่ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทค่อนข้างเยอะ รวมถึงประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X