×

เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ Technical Recession? หลังสภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 4 ปี 65 ติดลบจากไตรมาสก่อน

17.02.2023
  • LOADING...

เปิดมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ หลังเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 หดตัว 1.5% แบบไตรมาสต่อไตรมาส หมายความว่า หาก GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวอีก เศรษฐกิจไทยก็จะเข้าสู่ภาวะ ‘ถดถอยเชิงเทคนิค’ (Technical Recession) 

 

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ขยายตัว 1.4%  (YoY) ชะลอตัวเมื่อเทียบกับการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสที่ 3 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้า ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 50-60% ของ GDP หดตัวถึง 10.3% ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.1% แม้ว่าดัชนีตัวชี้วัดอื่นๆ ยังขยายตัวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนและการส่งออกของภาคบริการที่ขยายตัวได้ถึง 94.6%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 ขยายตัว 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก 1.5% ในปี 2564 เนื่องจากการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของเอกชนยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี การลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าและการอุปโภคภาครัฐปรับตัวลดลง

 

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวในปี 2565 ที่ 2.6% ยังถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ของสภาพัฒน์เองที่ 3.2% อย่างมาก โดย ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้แจงว่า ความคลาดเคลื่อนนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจหลายประเทศชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

ไทยเสี่ยงเข้าสู่ ‘Technical Recession’ ?

เมื่อเปรียบเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ลดลง 1.5% หมายความว่า หาก GDP ไทยในไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวติดต่อกัน เศรษฐกิจไทยก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession)

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ความเป็นไปได้ที่ไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค ‘ยังไม่มาก’ โดยต้องดูมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาในไตรมาสแรกของปีนี้ว่าจะเร่งการส่งออก ภาคผลิต และภาคการท่องเที่ยว เพื่อจะทำให้เศรษฐกิจแบบไตรมาสต่อไตรมาสได้มากแค่ไหน

 

ขณะที่ เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า GDP ไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ ‘มีโอกาส’ หดตัวแบบ QoQ ทำให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Technical Recession อย่างไรก็ตาม โอกาสดังกล่าวยังน้อย โดยหากติดลบจริงก็อาจลบไม่มากเท่าไตรมาส 4 และมีโอกาสพลิกบวกเช่นกัน โดยปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ การส่งออก และภาคบริการ โดยเฉพาะท่องเที่ยว

 

“ภาพส่งออกในไตรมาสแรกน่าจะคล้ายๆ กับช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐกิจหลักทั่วโลกชะลอตัวลง แม้ว่าในฝั่งการบริการ โดยเฉพาะท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ผลบวกตรงนี้อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยภาพการส่งออกโดยรวมได้” เกวลินกล่าว

 

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนยังมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ โดยตัวช่วยคือ ช้อปดีมีคืน การฟื้นตัวของภาคบริการ และการลงพื้นที่ของพรรคการเมือง ที่จะเข้ามาประคับประคองการบริโภคในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้น ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือน นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นก็น่าจะมีส่วนช่วยไม่ให้ภาคส่งออกดึง GDP ลงไปมาก 

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เชื่อว่า ไทยยัง ‘สามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้อยู่’ แต่มี 2 ปัจจัยหลักที่ต้องจับตา ได้แก่ ส่งออก และการบริโภค พร้อมทั้งมองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่การเปิดประเทศของจีนก็น่าจะสร้างความหวัง และช่วยส่งออกไม่ให้ติดลบแรงเหมือนไตรมาส 4 ที่ผ่านมาได้

 

“ปัจจัยเสี่ยงที่น่าจะฉุดเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นเรื่องที่เราห่วงอยู่แล้ว คือการส่งออกสินค้า ส่วนปัจจัยที่จะช่วยให้ไทยหลุดจาก Technical Recession ครั้งนี้ได้ คือภาคการท่องเที่ยว การกระตุ้นให้เกิดการบริโภคให้กระจายตัวสูงขึ้น การผลิตเพื่อการส่งออกให้มีมูลค่าสูงขึ้น” อมรเทพกล่าว

 

นอกจากนี้ อมรเทพยังแนะให้ภาครัฐประคองเศรษฐกิจต่อไป ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะหานโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยประคองธุรกิจ SMEs รักษากำลังซื้อระดับล่างให้สามารถประคองตัวได้ ระหว่างรอการกระจายตัวทางเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้

 

แจงการส่งออกสินค้า ‘ลดลง’ สอดคล้องกับสถานการณ์ในภูมิภาค

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังระบุว่า เมื่อดูจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ลดลง 5.5% ในปีนี้ ลดลงสอดคล้องกับสถานการณ์ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซียที่ลดลง 26.1% มาเลเซียที่ลดลง 17.7% สิงคโปร์ที่ลดลงไป 12.7% เวียดนามที่ลดลง 10.3% และฟิลิปปินส์ที่ลดลง 5.6%

 

โดยดนุชากล่าวอีกว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวคือเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า พร้อมแนะว่าไทยควรหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เนื่องจากตลาดของไทยยังค่อนข้างแคบ ผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ เป็นต้น

 

แนวโน้มปี 2566

สำหรับแนวโน้มปี 2566 สภาพัฒน์ประมาณการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัว 2.7-3.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 2.5-3.5% จากระดับ 6.1% ในปีก่อน โดยดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะกลับมาเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ราว 1.5% ของ GDP ส่วนมูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐน่าจะหดตัวถึง 1.6% จากขยายตัว 5.5% 

 

ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้

โดยปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญ เช่นเดียวกับการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐและเอกชน การบริโภคภายในประเทศ และภาคการเกษตร

 

สำหรับข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2566 ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เปราะบาง สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจก็ยังคงอยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย

 

ส่วนแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาครัฐก็คาดว่าน่าจะลดลงเนื่องจากการลดกรอบวงเงินการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ขณะที่การใช้จ่ายจากเงินพิเศษ อย่าง พ.ร.ก.เงินกู้ ก็สิ้นสุดลงแล้ว และการเลือกตั้งก็น่าจะทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการงบประมาณประจำปี 2567 และความไม่แน่นอนทางการเมืองก่อนและหลังเลือกตั้ง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X