สำนักวิจัยส่วนใหญ่มีความเห็นในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะ ‘พ้นจุดต่ำสุด’ ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งไตรมาสดังกล่าวตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ‘หดตัว’ ถึง 12.2% ถือเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 22 ปีนับจากไตรมาส 2 ปี 2541
ส่วนตัวเลขไตรมาส 3 ปี 2563 ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์กันว่า จะหดตัวราว -7% ถึง -8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยถือเป็นตัวเลขที่หดตัวน้อยลง เนื่องจากภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัว
ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปีนี้มีแนวโน้มหดตัว 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังถือว่าเป็นการหดตัวในระดับสูง เนื่องจากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ขณะที่การส่งออกก็ยังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปีนี้น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 12.2% สาเหตุเพราะมาตรการผ่อนคลายการปิดเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วน เช่น การใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้ แม้ว่าจะยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19
สะท้อนจากรายได้การจ้างงานและความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบ ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนเป็นไปอย่างระมัดระวัง และการฟื้นตัวมีความแตกต่างกันระหว่างธุรกิจต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ สินค้าที่ไม่จำเป็น และภาคบริการ จะฟื้นตัวช้ากว่าสินค้าหมวดอาหาร สุขภาพ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ส่วนระยะข้างหน้า แม้ข่าวเบื้องต้นของการค้นพบวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ จะถือเป็นข่าวดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย แต่ผลดีในรูปของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า หลังจากมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย ซึ่งยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
ในระหว่างนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ จากหลายปัจจัยกดดัน โดยเฉพาะผลจากแผลเป็นเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยการปิดกิจการที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบาง สะท้อนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมที่ลดลงมาก ตลอดจนภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังคงหดตัว ซึ่งตลาดคาดการณ์กันว่า ในไตรมาสดังกล่าว GDP น่าจะหดตัวราว 7-8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ตัวเลขที่ตลาดมองกันตอนนี้คือ -7% ถึง -8% ซึ่งตัวเลขของเราที่ทำไว้ก่อนหน้า ให้ไว้ลบมากกว่านี้ เพราะทั้งปีเรายังประเมินว่าจะหดตัวราว 10% แต่ก็ยอมรับว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในขณะนี้ดีกว่าที่เราคาดการณ์เอาไว้ ทำให้เราอาจจะปรับตัวเลขใหม่ในเร็วๆ นี้”
สาเหตุที่ตัวเลขเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุเพราะมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมา กระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวได้ดีขึ้น ขณะที่หลายประเทศในโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ภาคการส่งออกปรับตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้ายังต้องจับตาดู เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย แม้จะดูดีขึ้น แต่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเผชิญกับการแพร่ระบาดรอบใหม่ ส่งผลให้บางประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้เช่นกัน
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ดีขึ้น น่าจะทำให้ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของปีนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่จากสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ยังคงไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเลย ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะยังหดตัวในระดับลึกอยู่ ซึ่งฝ่ายวิจัย บล. เกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า น่าจะหดตัวประมาณ 8.4%
ส่วนแนวโน้มช่วงที่เหลือของปีนี้เชื่อว่า เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง สาเหตุจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมา ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง อีกทั้งตัวเลขการบริโภคก็ทยอยดีขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนผ่านยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล