3 ผู้เชี่ยวชาญจาก 3 อุตสาหกรรมมองเศรษฐกิจไทยยังไม่ไร้ซึ่งโอกาสและความหวัง ชี้โจทย์ใหญ่ต้องเร่งลดความเหลื่อมล้ำ-เพิ่มการแข่งขันที่เป็นธรรม แนะภาคธุรกิจเตรียมรับมือการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี อยากเห็นผู้นำคนใหม่ทันโลก กล้าตัดสินใจ
เศรษฐกิจไทยไม่ไร้ซึ่งความหวัง
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานกรรมการ สมาคมธนาคารไทย กล่าวบนเวทีเสวนา Global Economics Challenge : The Asian Opportunity ที่ถูกจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปีของ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประเทศไทย ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้เมื่อแยกดูใน 3 ตลาดขนาดใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้แย่อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ เพราะแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ตัวเลขการจ้างงานก็ยังปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าแม้ในภาวะที่ดอกเบี้ยสูงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังขยายตัวได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก
ขณะที่สถานการณ์ในยุโรปก็พบว่าสามารถรับมือกับวิกฤตพลังงานได้ดีกว่าที่คาดไว้เช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากฤดูหนาวที่ไม่ยาวนานทำให้เศรษฐกิจยุโรปไม่บอบช้ำ อย่างไรก็ดี หากมองไปที่จีนจะเห็นว่าการฟื้นตัวยังเป็นไปในลักษณะกระท่อนกระแท่น ภาคการผลิตยังมีภาวะเปิดๆ ปิดๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าล่าสุดสภาพัฒน์จะประกาศตัวเลข GDP ปี 2565 ออกมาที่ 2.6% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 3.2% แต่ยังเชื่อว่าปีนี้เป็นปีที่ดีสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง ซึ่งโดยปกติจะก่อให้เกิดตัวคูณขึ้นในระบบเศรษฐกิจ สอดรับกับการท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวได้ดีทำให้คนในประเทศมีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น การบริโภคในประเทศในภาพรวมจึงน่าจะปรับตัวดีขึ้น
“เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น คึกคักขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องบอกว่า เราเองอยู่ในยุคที่มีดิสรัปชันต่างๆ ซึ่งบีบให้ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองเช่นกัน สิ่งสำคัญคือเราจะสร้างโอกาสจากตรงนี้ได้อย่างไร” ผยงกล่าว
ผยงกล่าวอีกว่า หากมองต่อไปในระยะข้างหน้าเชื่อว่าโอกาสและความหวังของเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับ 3 สำคัญ ได้แก่
- ไทยถือเป็นประเทศชั้นนำด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เพราะมีระบบพร้อมเพย์ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเมื่อเทียบกับทั่วโลกอยู่ในอัตราที่สูง โดยปัจจุบันภาคประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินอย่างพร้อมเพย์ได้แล้ว และกำลังขยายต่อไปยังภาคธุรกิจและรัฐบาล
- ไทยปักธงเรื่องเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) โดยมีการกำหนดเป้าหมาย Net Zero และ Net Neutrality ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลในเชิงบวกทำให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจมากมาย ทั้งการลงทุน การนำนวัตกรรมมาใช้ รวมถึงการรีสกิลและอัปสกิลทรัพยากรมนุษย์
- ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ยุคเปิดกว้างทางเทคโนโลยี (Open Technology) เช่น กรณี AI แชตบอต ChatGPT ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ ภายใต้บริบทใหม่นี้หากไทยสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่จะมีโอกาสเติบโตในทางเศรษฐกิจ
ลดเหลื่อมล้ำ-เพิ่มการแข่งขันที่เป็นธรรม
ผยงยังระบุด้วยว่า สิ่งที่ไทยจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจคือการลดความเหลื่อมล้ำซึ่งถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หน่วยงานกำกับต้องดูแลระบบที่เอื้อให้การแข่งขันในกลไกตลาดที่สมบูรณ์และเป็นธรรม เพื่อลดการกระจุกตัวของเศรษฐกิจไม่ให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย และเพิ่มการมีส่วนร่วมของธุรกิจ SMEs และกลุ่มอาชีพอิสระซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในระบบ
“กลไกตลาดที่สมบูรณ์และเป็นธรรมสามารถสร้างได้ด้วยการกำกับดูแล คำถามคือระบบตรงนี้เรามีแล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วเราได้บังคับใช้อย่างจริงจังหรือไม่ ระบบการเงินเป็นหนึ่งกลไกที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่เราทำเดี่ยวๆ ไม่ได้ การขยับต้องไปพร้อมกันทั้งองคาพยพ” ผยงกล่าว
บนเวทีเดียวกัน เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด ได้ให้มุมมองว่า ประเทศไทยมีความโชคดีที่มีภาคธุรกิจที่เข้มแข็ง มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี นอกจากนี้ หากดูจากการหาเสียงเพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งยังพบว่าทุกพรรคให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจค่อนข้างมากเหมือนกันหมด แม้วิธีการอาจแตกต่างกัน ทำให้ยังมองเห็นความหวัง ซึ่งหากรัฐบาลที่เข้ามาใหม่นำจุดดีต่างๆ ไปต่อยอดได้ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเทกออฟได้
อย่างไรก็ดี บนบรรยากาศที่สวยหรูดังกล่าวก็ยังมีข้อที่ควรกังวลอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก ซึ่งส่วนตัวมองว่าการแก้ไขจำเป็นต้องทำผ่าน 3 กลไกหลัก ได้แก่ มาตรการด้านภาษี การบังคับใช้กฎหมาย และการกระทำและความประพฤติของคนที่อยู่ K-Shaped ขาบน
โดยในเรื่องของภาษีรัฐต้องเก็บให้ถูกที่และเก็บจากคนที่มีเยอะกว่าเพื่อเอามาเฉลี่ยดูแลคนที่มีน้อยกว่า เพราะภาษีเป็นเครื่องมือทางการคลังในการนำมาซึ่งความเสมอภาคทางสังคมและเป็นประตูบานแรกในการลดความเหลื่อมล้ำ
“เวลาพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำทุกคนจะบอกว่าเห็นความสำคัญ แต่เมื่อไรที่มีมาตรการภาษีออกมาแล้วกระทบกระเป๋าตัวเองทุกคนไม่เห็นด้วยหมด เช่น กรณี Transaction Tax ในตลาดหลักทรัพย์ ผมสนับสนุนให้เก็บและยังคิดว่าเก็บที่ 0.1% ยังน้อยไปนิด ส่วนภาษีมรดกเราสามารถเก็บได้เพียงปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ” เศรษฐากล่าว
สำหรับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเปรียบเหมือนประตูบานที่สอง เศรษฐากล่าวว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการบังคับใช้กฎหมายจะต้องไม่สองมาตรฐาน ไม่ใช่คนมีเงินทำอะไรไม่ผิด เพราะมันจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในใจของคนชั้นล่าง
ในมุมมองของเศรษฐา ประตูบานที่สามในการลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องของการกระทำของกลุ่มคนระดับบนที่ต้องมีธรรมาภิบาล คนที่มีฐานะดีต้องไม่ประพฤติตัวที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ
“สิบปีหลังเรามีสถาบันชั้นสูงที่เรียกคนไปเรียนหนังสือรวมกันเยอะ เช่น วปอ., วตท. ซึ่งเอานักธุรกิจไปเรียนกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจต้องตั้งคำถามว่าการที่คุณไปกินอาหาร จิบไวน์ เที่ยว ตีกอล์ฟ ล่องเรือยอชต์ด้วยกัน เมื่อถึงเวลาต้องออกนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก จะกล้า Make Objective Decision หรือเปล่า” เศรษฐากล่าว
สรชน บุญสอง ทนายความหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด อีกหนึ่งวิทยากรที่ร่วมวงเสวนา ได้ให้ความเห็นในมุมนักกฎหมายว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำอยู่มหาศาล ซึ่งมีทั้งกฎหมายที่เป็นสัญลักษณ์ทั้งในเชิงบวกและลบ แต่ปัญหาหลักอยู่ที่การบังคับใช้
สรชนยกตัวอย่างถึงกฎหมายของไทยที่เป็นสัญลักษณ์ในเชิงลบ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของคนต่างด้าว ซึ่งไม่เปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจได้ในบางประเภท ทำให้ต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยมองว่าไทยปิดกั้นการแข่งขัน ขณะที่สัญลักษณ์ในเชิงบวกไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำหลายฉบับ เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า แต่การบังคับใช้ก็ยังไม่เท่ากับประเทศอื่น
“โดยสรุปคือเรามีกฎหมายเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่ไปทางบวกและทางลบ แต่การบังคับใช้ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งคู่” สรชนกล่าว
พร้อมรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต
บนเวทีวิทยากรทั้ง 3 ท่านยังร่วมวิเคราะห์ถึงการเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี AI อย่าง ChatGPT โดยเศรษฐามองว่า การมาถึงของเทคโนโลยี AI เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ โดยสิ่งที่คิดว่าน่าเป็นห่วงคือตลาดแรงงานของไทยจะสามารถรีสกิลได้อย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกแทนที่โดย AI
ด้านผยงวิเคราะห์ว่า การมาถึงของเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งสปีดในการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงองค์กรของตัวเอง โดยสิ่งสำคัญไม่ใช่การกลัวว่าจะถูกดิสรัปต์ แต่ต้องคิดหาวิธีว่าจะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ต่อยอดธุรกิจอย่างไรให้เหมาะสม และต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่เกิดเทคโนโลยีใหม่สิ่งที่ตามมามักจะเป็นวิกฤตอาชญากรรมรูปแบบใหม่ด้วยเช่นกัน ทุกองค์กรจึงจำเป็นต้องปรับตัวเองให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี
ขณะที่ สรชนระบุว่า ChatGPT ถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช็อกวงการกฎหมายมากที่สุด โดยจากการทดลองใช้งานส่วนตัวพบว่ามันสามารถร่างสัญญาง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งช่วยร่นเวลาการทำงานของทนายความได้มาก อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาเป็นตัวช่วยของทนายมากกว่าเข้ามาดิสรัปต์ เพราะงานหลายอย่าง เช่น การขึ้นศาลและการเจรจาก็ยังต้องใช้มนุษย์อยู่
“คำถามไม่ใช่เราพร้อมรับเทคโนโลยีนี้แค่ไหน เพราะเราหนีมันไม่พ้น ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ พร้อมไม่พร้อม เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์อยู่กับมัน ไม่พร้อมก็ต้องพร้อม” สรชนกล่าว
ผู้นำในฝัน
ในช่วงท้ายของงานวิทยากรทั้ง 3 ท่านได้ให้มุมมองต่อคุณสมบัติของผู้นำประเทศคนใหม่ที่จะเข้ามาจากการเลือกตั้ง โดยผยงระบุว่า ผู้นำคนใหม่จำเป็นต้องเข้าใจบริบทโลก และเข้าใจความเป็นตัวต้นของประเทศไทย อะไรที่เป็นจุดแข็งต้องต่อยอดจากของเดิม ไม่ทำงานซ้ำซ้อน และต้องกล้าตัดสินใจ
สรชนให้ความเห็นว่า การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียวที่เน้นความยั่งยืน และยุคเปิดกว้างทางเทคโนโลยี ผู้นำประเทศจำเป็นต้องทันต่อเหตุการณ์ เข้าใจในเรื่องเหล่านี้เพื่อพาประเทศบุกต่อไปข้างหน้า
ขณะที่เศรษฐาระบุว่า สิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาลใหม่คือการให้ความสำคัญกับภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ หรือ Geopolitics เพราะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาไทยไม่มีที่ยืนในเวทีโลก ไม่มีผู้นำที่ไปเจรจาการค้า ไม่สามารถใช้ความมีเสน่ห์ของไทยเพื่อดึงดูดนักลงทุนได้ ดังนั้น หนึ่งในเรื่องที่คิดว่าสมควรทำคือการยกระดับกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นกระทรวงเกรดเอและผู้นำต้องเป็นหัวหอกออกไปเจรจากับต่างประเทศ