×

เศรษฐกิจไทยปี 68 ไม่ง่าย! ทรัมป์เปิดฉากป่วนเม็กซิโก แคนาดา และจีน ไทยเสี่ยงทางผ่านรับสินค้าจีนทะลักเข้ามาแย่งตลาด ทุบ GDP โตสุดแค่ 2.9%

05.02.2025
  • LOADING...

เศรษฐกิจไทยปี 2568 ไม่ง่าย เจอทั้งศึกนอกและศึกใน! กกร. คงประมาณการ GDP ปีนี้โตสุดที่ 2.9% หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่ ยิ่งกดดันสินค้าต่างชาติทะลักเข้ามาแย่งตลาด ซ้ำเติมภาคการผลิตของไทย เพราะแม้ไทยจะเป็นประเทศเล็กในสายตาของสหรัฐฯ และดูผิวเผินไม่ใช่เป้าหมายที่จะถูกขึ้นภาษี แต่ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ไทยเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนที่เป็น ‘ทางผ่าน’ สินค้าจีนส่งไปยังสหรัฐฯ 

 

โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ภาคเอกชนยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เสนอร่วมเป็นตัวแทนไปร่วมทีมไทยแลนด์รับมือทรัมป์ 2.0 พร้อมมองแผนรัฐบาลตัดไฟเมียนมาสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่มีผลกระทบการค้าชายแดน สมาคมธนาคารไทยทยอยปิดบัญชีม้าไปแล้วกว่า 1 ล้านบัญชี

 

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเติบโตได้ราว 2.4-2.9% มูลค่าการส่งออกขยายตัว 1.5-2.5% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.8-1.2%

 

 

ทั้งนี้ สงครามการค้ารอบใหม่เริ่มแล้วที่เม็กซิโก แคนาดา และจีน ท่ามกลางการตอบโต้ โดยสหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าต่อกลุ่มประเทศเป้าหมาย ทั้งต่อเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% และจีนในอัตรา 10% ซึ่งจะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 และจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นในปี 2569 

 

ซึ่งเพียงไม่กี่วันทรัมป์ได้ผลักดันนโยบายเร่งด่วนทันทีผ่านการใช้คำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order) ทุกวัน รวมถึงนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ครอบคลุมทั้งประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม การจัดการคนเข้าเมือง และการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส 

 

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องจับตาคือ ความขัดแย้งทางการค้ากดดันสินค้าจากต่างชาติเข้ามาแย่งตลาดและกระทบต่อภาคการผลิตของไทย สินค้าต่างประเทศที่ล้นตลาดจากปัญหาสงครามการค้าและการแยกขั้ว (Decoupling) ทะลักเข้ามาในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตและการจ้างงานของไทย” เกรียงไกรกล่าว

 

7 กลุ่มสินค้าไทยเตรียมรับผลกระทบหนัก 

 

เกรียงไกรกล่าวอีกว่า จากการศึกษาผลกระทบพบว่ากลุ่มสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เหล็ก พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แก้วและกระจก รวมถึงเครื่องสำอาง 

 

“เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวจำกัด เพราะการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงและทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเป็นความท้าทายต่อการส่งออก ภาคอุตสาหกรรมบางสาขาเผชิญการแข่งขันจากสินค้าต่างชาติทะลัก”

 

ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแนวทางเพื่อลดผลกระทบทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากกระแสการแยกขั้วของ Supply Chain ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 

 

โดยใช้โอกาสในปีที่ผ่านมาที่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และต้องเร่งทำข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติมจาก FTA ไทย – EFTA ที่เพิ่งสำเร็จ เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

หวังรัฐบาลใช้โอกาสเจรจาระดับรัฐกับจีนและสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี กกร. จึงเสนอแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือทั้งผลกระทบจากทางตรงและทางอ้อม รัฐบาลควรใช้โอกาสเจรจาระดับรัฐกับจีน เพื่อป้องกันและบรรเทาการใช้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับประเทศในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจร่วมกัน และสนับสนุนในด้านกฎหมาย กฎระเบียบการค้า เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการบูรณาการเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในประเทศ และการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน 

 

นอกจากนี้ควรใช้มาตรการทางการค้าเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) ปรับลดระยะเวลาการไต่สวนการใช้มาตรการทางการค้าและการใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

 

คุมเข้มการตั้งหรือขยายโรงงานสกัด Over Capacity

 

ที่สำคัญคือรัฐบาลควรควบคุมการตั้งหรือขยายโรงงาน รวมทั้งการให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ (Over Capacity) รวมถึงการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมในเขต Free Zone อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำสินค้าและวัตถุดิบกลับมาขายในประเทศ และการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MIT) ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและการส่งเสริมขยายตลาดภาคเอกชน 

 

“ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ด้วย” เกรียงไกรย้ำ

 

รัฐบาลตั้งใจปราบปรามคอลเซ็นเตอร์เมียนมาถือเป็นเรื่องดี ชี้ไม่กระทบการค้าชายแดน

 

 

เกรียงไกรกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีคำสั่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือ กฟภ. ตัดกระแสไฟฟ้าที่ส่งไป 5 จุดในเมียนมาอีกว่า ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากปัจจุบันเมียนมามีเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ส่งผลให้ประชากรยังมีความต้องการสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค 

 

ทั้งนี้ มองว่าคงจะมีเพียงสินค้าเฉพาะจุดมากกว่าที่อาจมีผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่ยอมรับว่าน้อยมาก

 

ทยอยปิดบัญชีม้าไปแล้วกว่า 1 ล้านบัญชี 

 

ด้าน ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้ายุทธการปิดปากม้าพบว่าได้ผลดี แต่ระบบธนาคารต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการสร้างระบบกลางขึ้นมา โดยนับตั้งแต่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ สมาคมธนาคารไทยก็ทยอยปิดบัญชีม้าไปแล้วกว่า 1 ล้านบัญชี ควบคู่กับมาตรการปิดปากม้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำขึ้น ยอมรับว่าบัญชีม้าเกิดขึ้นทุกวัน แต่ต้องมีกลไกควบคุมให้ได้ 

 

ด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า กกร. ยื่นหนังสือถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้ กกร. ส่งตัวแทนไปร่วมทีมไทยแลนด์ (TEAM THAILAND+) ที่เป็นคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนรับมือผลกระทบทรัมป์ 2.0

 

“เพราะการร่วมมือกับภาคเอกชนนั้นสำคัญมาก และภาคเอกชนจะสามารถช่วยเป็นกำลังสำคัญในการวางกลไกใดๆ ที่สามารถทำให้เข้าถึงนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้บ้าง ซึ่งก็หวังว่าหนังสือที่ กกร. ส่งไปนั้นจะได้รับคำตอบจากทางภาครัฐเร็วๆ นี้” สนั่นกล่าว 

 

ไทยเสี่ยงเป็น ‘ทางผ่าน’ รับสินค้าจีนส่งไปสหรัฐฯ

 

KKP Research ระบุถึงกรณีทรัมป์ 2.0 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศเล็กในสายตาของสหรัฐฯ และดูผิวเผินไม่ใช่เป้าหมายที่จะถูกขึ้นภาษี แต่ก็วิเคราะห์ว่ามี 3 ประเด็นที่อาจทำให้ไทยเสี่ยงเข้าข่ายเป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายรองของสหรัฐฯ

 

โดยแม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีขนาดเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุด แต่หากสหรัฐฯ มองไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศเดียวกันทั้งหมดจะพบว่า 

 

  1. กลุ่มประเทศอาเซียนมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจากจีนเท่านั้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนจึงมีความเสี่ยงที่จะเจอกับมาตรการกีดกันการส่งออกจากสหรัฐฯ พร้อมกันทั้งหมดได้

 

  1. สินค้าจีนที่ส่งผ่านไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อหลบเลี่ยงภาษีนำเข้า ซึ่งนับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปี 2018 ดุลการค้าของไทยที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ พร้อมกับการขาดดุลกับจีนที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่ากิจกรรมการค้าบางส่วนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของไทยส่วนหนึ่งคือการหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐฯ ของจีน

 

  1. มาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์มีนโยบาย Reciprocal Trade Act คือหากประเทศไหนขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ สหรัฐฯ จะตอบโต้ขึ้นภาษีกลับในอัตราที่เท่ากันในสินค้านั้นๆ ในกรณีของประเทศไทย สินค้าหลักที่ไทยคิดภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าสหรัฐฯ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงยานพาหนะสำหรับการคมนาคม เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี KKP Research ระบุว่า การประเมินผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจไทยมีความซับซ้อนสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ 

 

 

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกเพ่งเล็งจากทรัมป์ 2.0 ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน จากการที่สหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้ากับไทยในหลายมิติ 

 

ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลการค้าของไทยสูง ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท หรือจำนวนคำสั่งมาตรการ AD และ CVD ในหลายประเภทสินค้าสูงกว่าคู่เทียบ 

 

“โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่ค้ารายอื่น ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ นำมาเป็นข้อต่อรองในการพิจารณาขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าระลอกใหม่ ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกกดดันให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญเพิ่มเติม เช่น เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง รวมไปถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

 

ภาพ: Chip Somodevilla, MikeMareen / Getty images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising