×

‘เศรษฐพุฒิ’ มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าเผชิญความท้าทายจากสารพัด Shock ลุยเดินหน้าปรับนโยบายการเงินเข้าสู่จุดสมดุลรับบริบทโลกเปลี่ยน

16.12.2022
  • LOADING...

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมอง 2023 จะเป็นปีแห่งความท้าทายจากสารพัด Shock แต่มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ลุยเดินหน้าปรับนโยบายการเงินเข้าสู่จุดสมดุลรับบริบทโลกเปลี่ยน พร้อมวางรากฐานด้านดิจิทัลเอื้อนวัตกรรมทางการเงิน

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาของวารสารการเงินธนาคาร ‘Thailand Next Move 2023 : The Nation Recharge’ หัวข้อ Financial Landscape – Thailand’s Economic Challenge in 2023 ว่าในปี 2566 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยจะเจอกับความท้าทาย โดยความท้าทายหลักมาจากเศรษฐกิจโลก มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีสัญญาณชัดเจนว่าจะชะลอตัว ซึ่งมาจากการที่ธนาคารหลักของโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายพร้อมกัน และเป็นการขึ้นที่ค่อนข้างเร็วและแรง ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


นอกจากเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจโลกที่มีความหลากหลาย นอกจากเรื่องวิกฤตโควิดแล้วยังมี Shock ต่างๆ ที่มากระทบอีก เช่น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน ราคาอาหาร และเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการที่ธนาคารกลางหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเร็ว ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงในหลายที่ด้วยกัน 

 

ขณะที่ยังมีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจจีนที่มีนโยบายการล็อกดาวน์เพื่อคุมโควิด อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่าจะมีการเปิดประเทศ แต่ยังไม่มีความชัดเจน รวมถึงความเสี่ยงเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

 

“เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่มาจากหลายมิติ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องโควิด ทำให้ผลกระทบมีความหลากหลาย บางคนอาจรู้สึกว่ากระทบจากการส่งออกที่ชะลอลงจากเศรษฐกิจประเทศหลักชะลอ บางคนอาจรู้สึกว่าผลกระทบมาจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น หรือบางคนอาจรู้สึกว่าผลกระทบมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า สะท้อนว่ารอบนี้ความเสี่ยงและผลกระทบมาหลายมิติ และปีหน้าความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเหล่านี้ก็ยังอยู่” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

 

เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า นอกจากความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังมีความเสี่ยงเรื่องตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวน โดยสาเหตุหลักมาจากการขึ้นดอกเบี้ยที่ค่อนข้างเร็วและแรงในหลายประเทศหลัก ซึ่งการที่ดอกเบี้ยขึ้นเร็ว ประเทศที่มีหนี้ที่สูงก็จะเจอปัญหา ตัวอย่างที่เริ่มเห็นคือตลาดที่คนเคยมองว่าปลอดภัย เช่น ตลาดอังกฤษ ก็เริ่มมีปัญหา

 

“ปกติเวลาเกิดความเสี่ยงเรามักเห็นว่าจะเกิดในประเทศที่เสี่ยงหรือสินทรัพย์ที่เสี่ยง แต่ครั้งนี้มันเกิดขึ้นในที่ที่มีความปลอดภัยมาก เช่น อังกฤษ หรือพันธบัตรของรัฐบาลอังกฤษ แม้กระทั่งตลาดที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอย่างตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ช่วงหลังสภาพคล่องในตลาดก็มีการลดลง เป็นความเสี่ยงที่จะเห็นมากขึ้นในอนาคต นี่เป็นภาพของเศรษฐกิจและการเงินโลก” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

 

เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง เนื่องจากแม้ว่าการส่งออกจะกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดย ธปท. คาดว่าส่งออกปี 2566 จะโตเพียง 1% 

 

อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะถูกเอื้อด้วยการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักซึ่งมาจากรายได้ที่มีการฟื้นตัว นอกจากนี้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดย ธปท. คาดว่า ในปี 2565 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 10 ล้านคน และปี 2566 ที่ราว 20 ล้านคน

 

“แรงงานไทยและเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ดังนั้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวก็จะเอื้อให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 3% และปี 2566 ประมาณ 3.7% แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ แต่มีโอกาสค่อนข้างมากที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้มากกว่า 3%” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

 

เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในส่วนของความเสี่ยงด้านตลาดการเงินโลก จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน อย่างไรก็ตาม จะกระทบจนกระทั่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุดหรือไม่นั้น มองว่าความเข้มแข็งด้านต่างประเทศของไทยค่อนข้างดี แม้ว่าในปี 2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะขาดดุล แต่ในปี 2566 คาดว่าจะกลับมาเกินดุลได้จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะมาช่วยเสริมในมิติของภาคต่างประเทศของไทย และจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้ไทยผ่านพ้นปัญหาจากสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกที่มีความผันผวนไปได้

 

ต้องปรับนโยบายให้สมดุลรับบริบทโลกกำลังเปลี่ยน

เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นปัจจัยระยะสั้น ส่วนปัจจัยระยะยาวก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน โดยบริบทของโลกจะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ประเด็นเรื่องความยั่งยืน เรื่องดิจิทัล ที่กำลังเป็นกระแสของโลก ซึ่งเศรษฐกิจไทยเองก็ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่เรื่องเหล่านั้นด้วย

 

โดยบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปเป็นโจทย์ของ ธปท. ที่จะทำให้ภูมิทัศน์การเงินของไทยรองรับกระแสเหล่านั้นได้ ซึ่งในการทำนโยบายของ ธปท. ไม่ว่าจะเป็นการดูแลในระยะสั้น หรือการวางรากฐานให้กับอนาคตในระยะยาว แนวทางที่ ธปท. ต้องทำคือ การรักษาสมดุลในเรื่องต่างๆ ให้เหมาะสม เพื่อที่จะตอบโจทย์ในการทำให้ภาคการเงินรองรับความท้าทายต่างๆ ได้

 

ทั้งนี้ ในระยะสั้นโจทย์แรกของ ธปท. คือทำให้นโยบายการเงินเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเป้าหมายหลักคือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่จะมาทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ต่อเนื่องคือการที่เงินเฟ้อขยับเพิ่มสูงขึ้น และไม่กลับสู่ระดับที่เหมาะสม รวมไปถึงระบบการเงินหยุดชะงัก จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สามารถไปต่อได้

 

“เป้าหมายสำคัญของเราในการเผชิญความท้าทายของเศรษฐกิจ คือจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งบทบาทของ ธปท. คือการปรับนโยบายด้านการเงินให้เข้าสู่สภาวะปกติจากช่วงวิกฤตที่ต้องใช้ยาแรง ตอนนี้เศรษฐกิจเปลี่ยนก็ต้องปรับนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจใหม่” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

โดยฝั่งของนโยบายการเงินสิ่งที่ ธปท. ทำคือ การปรับดอกเบี้ยในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป และเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นการปรับนโยบายที่อาจจะแตกต่างจากต่างประเทศ แต่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของไทยไม่ได้เหมือนกับต่างประเทศ 

 

“เงินเฟ้อของต่างประเทศมาจากการที่เศรษฐกิจของเขาร้อนแรงมาก แต่บ้านเราไม่เห็นภาพนี้ หลักๆ มาจากราคาพลังงานและอาหาร เครื่องยนต์เงินเฟ้อไม่ได้ติดจึงไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ดังนั้น เมื่อบริบทของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เหมือนต่างประเทศ นโยบายของเราก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนต่างประเทศ เป็นที่มาของการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป” ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ

 

ในฝั่งของภาคการเงินต้องพยายามลดมาตรการในลักษณะปูพรม แต่ทำมาตรการเฉพาะจุดให้มากขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่กลับมาใกล้เคียงปกติ ซึ่งผลที่ได้จากการปรับมาตรการ คือ

 

  1. หน้าที่หลักของธนาคารกลางคือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา โดยผลที่ได้จากการดำเนินมาตรการแบบเฉพาะจุดมากขึ้นคือเงินเฟ้อที่เคยแตะจุดสูงสุดที่กว่า 7% ได้ค่อยๆ ทยอยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5% โดย ธปท. คาดว่าจะเห็นเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบ 1-3% ในครึ่งหลังของปี 2566 

 

  1. ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน้าที่หลักของธนาคารกลาง พบว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ 

 

  1. เสถียรภาพระบบการเงิน ปัจจุบันยังทำงานได้ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้ ธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็ง

 

“การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน ดังนั้น การทำอะไรที่ตอบโจทย์ด้านเดียวมักจะทำไม่ได้ ตอนแรกเงินเฟ้อสูงหลายคนก็บอกว่าให้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่านี้ แต่ถ้าเราทำแบบนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลยแม้จะไม่กระทบภาระหนี้ครัวเรือน แต่ความเชื่อมั่นของคนต่อการคุมเงินเฟ้อก็จะลดลง แล้วเงินเฟ้อก็จะไม่กลับลงสู่กรอบ จึงเป็นที่มาของการดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปและหาจุดสมดุล” เศรษฐพุฒิกล่าว

สำหรับในระยะยาว สิ่งที่ ธปท. ต้องดูแลคือ ต้องดำเนินนโยบายให้ถูกหลักการ เนื่องจากหากทำผิดหลักการจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาและมีโอกาสจะไปสร้างผลกระทบในระยะยาวได้ โดยในเรื่องหนี้ครัวเรือน สิ่งที่ไม่เหมาะสมในการแก้ปัญหา 

 

หลักการแรกคือ การทำมาตรการแบบปูพรม เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว รายได้ของหลายภาคส่วนเริ่มกลับมา ดังนั้น มาตรการแบบปูพรมจึงอาจสร้างผลข้างเคียงและสร้างแรงจูงใจที่ผิดตามมา 

 

หลักการที่สองคือ ไม่ควรทำมาตรการที่สร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ เช่น การพักหนี้ เนื่องจากการพักหนี้ไม่ได้ทำให้ภาระหนี้หายไป และหลักการที่สามคือ ต้องไม่ทำมาตรการที่กระทบโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ในอนาคต เช่น มาตรการที่กระทบกับข้อมูลต่างๆ เช่น ลบประวัติเครดิตบูโร 

เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า การที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องหนีไม่พ้นเรื่องความยั่งยืน เนื่องจากเป็นกระแสที่มาเร็วและแรง ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องสภาพภูมิอากาศที่จะเข้ามากระทบแต่รวมถึงนโยบายด้านความยั่งยืนของประเทศต่างๆ ด้วย 

 

โดยโจทย์ของ ธปท. คือจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนมีต้นทุนที่น้อยที่สุด เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้างและร้ายแรง เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้แม้มีการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเนื่องจากจะเป็นการซ้ำเติมเรื่องความเหลื่อมล้ำ

 

ดังนั้น หน้าที่ของ ธปท. คือสนับสนุนให้ภาคการเงินมีการปรับตัวเพื่อที่จะเอื้อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปในรูปแบบที่ ธปท. อยากเห็น ซึ่งสิ่งที่จะช่วยคือ ภาคการเงินต้องออกผลิตภัณฑ์และบริการที่เอื้อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้น นอกจากนี้ ต้องนำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาผนวกกับการทำงานของสถาบันการเงิน

 

“ในการสนับสนุนภาคการเงินสิ่งที่ ธปท. ได้เข้าไปช่วย เช่น ทำให้นิยามชัดเจนมากขึ้น มีข้อมูลที่จะนำมาใช้ได้ มีวิธีที่ทำให้สถาบันการเงินนำไปปฏิบัติได้จริง โดยทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อทำคู่มือให้สถาบันการเงินนำมาใช้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

 

วางรากฐานด้านดิจิทัลเน้น Responsible Innovation

เศรษพุฒิกล่าวอีกว่า กระแสสุดท้ายที่กำลังเป็นประเด็นในประเทศไทย คือการวางรากฐานเรื่องดิจิทัล โดยเป้าหมายของ ธปท. ในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน ด้วยการใช้นวัตกรรมทางการเงินมาสร้างประโยชน์และโอกาสให้กับเศรษฐกิจโดยไม่ให้เกิดผลกระทบด้านเสถียรภาพ โดยปัจจุบันเรื่องของดิจิทัล ประเทศไทยไม่ได้ล้าหลังไปกว่าประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Mobile Banking, Cross Border QR Payment รวมถึงเรื่อง Central Bank Digital Currency (CBDC)

 

“ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะภาคการเงินมานาน การเงินดิจิทัลจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชนหรือธุรกิจใหม่ๆ เข้าถึงภาคการเงินได้มากขึ้น ธปท. จึงเน้นเรื่อง Responsible Innovation หรือนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่นวัตกรรมที่สร้างความเสี่ยงจนเกินไปดังนั้นหน้าที่ของ ธปท. คือต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการเงินดิจิทัลให้เกิดขึ้นให้ได้” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

 

เศรษฐพุฒิระบุว่า สิ่งที่ ธปท. ต้องทำต่อคือ การต่อยอดระบบการชำระเงินหรือพร้อมเพย์ที่ปัจจุบันมีกว่า 70 ล้านบัญชี ไปสู่ Cross Border ซึ่งปัจจุบันมีกับหลายประเทศ และเป็นประเทศแรกในโลกที่เชื่อมระบบ Fast Payment ข้ามประเทศกับสิงคโปร์ รวมถึงจะมีการพัฒนาระบบการชำระเงินไปสู่ภาคธุรกิจ หรือ PromptBiz ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจทำธุรกรรมด้านการเงินได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้ภาคธุรกิจได้

 

ในส่วนของ Central Bank Digital Currency (CBDC) ธปท. ได้ทำในสองฝั่งคือ สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) เพื่อให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีต้นทุน ระยะเวลา และความเสี่ยงลดลง และสำหรับการทำธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งจะเอื้อให้นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ได้ง่ายขึ้น

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังให้ความสำคัญในการเพิ่มผู้เล่นรายใหม่โดยใช้ Virtual Bank ซึ่งคาดว่าเกณฑ์จะออกได้ในเดือนมกราคม 2566 โดยจะมีการเปิดรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X