ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยในรายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุดว่า แม้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ โดยมองว่า 2 ปีนี้ (2564-2565) เศรษฐกิจจะอยู่บน ‘ความไม่แน่นอนสูง’ จากหลายปัจจัย
โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มองว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจจะรุนแรง ไม่ว่าจะในพื้นที่เดิมหรือการระบาดในพื้นที่ใหม่ จนอาจทำให้รัฐต้องออกมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น
ทั้งนี้ การระบาดระลอกใหม่ได้กระทบความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจะส่งผลต่อเนื่องให้สถาบันการเงินอาจระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในภาคธุรกิจจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องกระจายสู่ภาคธุรกิจน้อยกว่าที่คาดไว้
ขณะเดียวกันมาตรการพักชำระหนี้เป็นรายกรณีจะสิ้นสุดในช่วงครึ่งปีแรกนี้ด้วย โดยแรงส่งหลักคาดว่าจะมาจากการเบิกจ่ายเม็ดเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (พ.ร.ก. กู้เงิน) ที่เน้นดูแลอุปสงค์ในประเทศ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่คลี่คลายลงจากประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
ส่วนช่วงครึ่งหลังของปี 2564 แม้ว่าจะมีความหวังจากข่าวการพัฒนาวัคซีน แต่ในไทยคาดว่าจะมีการกระจายวัคซีนราว 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ต่างประเทศมีการกระจายวัคซีนป้องกันอย่างทั่วถึง ทำให้ปัจจัยเสี่ยงหลักขึ้นอยู่กับว่าประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนในประเทศจะคืบหน้าอย่างไร ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนและรูปแบบการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาประเทศไทย
นอกจากนี้แรงต้านของเศรษฐกิจไทยปี 2564 คือภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องประเมินสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทยอยหมดช่วงในครึ่งแรกของปี 2564 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ มาตรการทางการเงินที่ออกมาก่อนหน้าจะครบกำหนดสิ้นปี 2564 นี้ เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ การผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การผ่อนปรนเกณฑ์สินทรัพย์สภาพคล่อง การปรับลด FIDF Fee เพื่อการออกมาตรการที่เหมาะสมเมื่อจำเป็น
อย่างไรก็ตาม ปี 2564-2565 มีแรงส่งหลักคือความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ PPP ซึ่งร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในส่วน EEC ซึ่งจะสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนของประเทศ และความหวังคือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับเข้ามาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2564 นี้ (ยังต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนและการตรวจเชื้อ)
ขณะที่ปี 2565 คาดว่าไทยสามารถเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขในการฉีดวัคซีนและการกักตัว ในกรณีที่ไทยและต่างประเทศมีการกระจายวัคซีนเพียงพอจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ารูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปอาจทำให้นักท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาด
อย่างไรก็ตาม มองว่าครึ่งปีหลัง 2565 มีแนวโน้มว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับไปใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19
ดังนั้นภาครัฐต้องติดตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และเร่งดำเนินมาตรการการเงินการคลังที่ออกมาแล้วให้เกิดผลในวงกว้าง รวมถึงการสร้างความต่อเนื่องของมาตรการรัฐ อีกทั้งการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะเดียวกันต้องเตรียมมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์